ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหา “Climate Change” หรือ “สภาวะอากาศแปรปรวน” เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นวาระระดับโลก และกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนและภาคธุรกิจหันมาตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม “กาว” ที่หันมาเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Material) จนเกิดเป็นนวัตกรรม “กาวรักษ์โลก” เพื่อสร้างโลกใบนี้ให้ยั่งยืนตั้งแต่ต้นทางยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์กาวรักษ์โลกแบรนด์แรกที่คิดค้นจากฝีมือคนไทย
กาวรักษ์โลก คืออะไร? ตอนได้ยินครั้งแรก ก็นึกประหลาดใจว่า “กาว” กับ “สิ่งแวดล้อม” จะไปด้วยกันได้จริงไหม? Brand Buffet ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจถึงคอนเซปท์ของ “กาวรักษ์โลก” และอุตสาหกรรมกาวไปด้วยกัน
แบรนด์ “กาว” ไทย สร้างชื่อระดับโลก
เมื่อพูดถึง “กาว” เราคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยึดติดกับวัสดุที่เราต้องการ แต่รู้หรือไม่? กาวที่ใครๆ ว่าเล็กนี้ กลับปลุกปั้นแบรนด์สัญชาติไทย “บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน)” หรือ “Selic” ให้เป็นที่รู้จักทั้งในแวดวงเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่มในบ้านเราและต่างประเทศ แถมยังได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark รวมถึงรางวัล PM Award และปัจจุบันยังต่อยอดการพัฒนามาสู่ผลิตภัณฑ์ “กาวรักษ์โลก”
แต่ก่อนจะมาเป็นผลิตภัณฑ์กาวรักษ์โลก การเดินทางของซีลิค คอร์พ ก็เริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ผลิตกาวอุตสาหกรรมมาก่อน โดย คุณยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) เล่าความเป็นมาของธุรกิจว่า ซีลิค คอร์พ เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 41 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการผลิตกาว Solvent Based ภายใต้แบรนด์ “ลูกโลก” ออกจำหน่าย ซึ่งเป็นกาวที่ใช้ตัวทำละลายประเภท Solvent ในกลุ่มน้ำมัน หรือทินเนอร์ ส่วนใหญ่ใช้ในงานอุตสาหกรรรม เช่น งานเครื่องหนัง รองเท้า เข็มขัด กระเป๋า และงานเฟอร์นิเจอร์
กระทั่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มนำงานวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมกาวประเภทใหม่ๆ ให้หลากหลายขึ้น ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตกาวเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์กาว Hotmelt หรือ กาวหลอมร้อน โดยกาวประเภทนี้เมื่อนำไปใช้งานต้องนำไปหลอมให้กาวละลายด้วยความร้อนก่อน ส่วนใหญ่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น งานปิดกล่อง งานติดฉลาก จนถึงงานเฟอร์นิเจอร์ และงานตกแต่งภายในยานยนต์ และผลิตภัณฑ์กาวน้ำ หรือ Water Based เป็นกาวสังเคราะห์ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เหมาะสำหรับงานติดฉลากขวดแก้วที่ต้องการทนเย็น และสามารถล้างออกได้ (Wash-off) งานติดแกนกระดาษชำระ และซองจดหมาย
“กาวแต่ละตัวมีคุณสมบัติแตกต่างกัน การนำไปใช้งานจึงต่างกัน ขณะที่สภาพแวดล้อมในการใช้ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วและอุณหภูมิก็มีผลต่อคุณภาพกาว ดังนั้น หน้าที่ของซีลิค คอร์พ จึงไม่ใช่แค่เดินเข้าไปหาลูกค้าแล้วบอกว่าเรามีกาว 3 ประเภทนี้ แต่เราต้องเข้าใจลูกค้า รู้ว่าลูกค้านำกาวไปเป็นส่วนประกอบไหนในกระบวนการผลิต แล้วทำให้กาวแต่ละประเภทเหมาะกับหน้างานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”
คุณยุวดี บอกว่า การที่มีห้อง Lab และทีมวิจัยของตนเอง ช่วยให้บริษัทสามารถ Customize หรือ Personalize ผลิตภัณฑ์กาวได้ตรงความต้องการหน้างาน กลายเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างและทำให้ธุรกิจเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ รวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่มีกาวติดหลอดอยู่ข้างกล่อง กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายในประเทศ 60% และส่งออกต่างประเทศ 40% กว่า 27 ประเทศทั่วโลก
“ลูกค้ามีโจทย์หลากหลาย บางรายต้องการลดต้นทุนการผลิต เราก็ต้องนำโจทย์มาวิเคราะห์และปรับสูตรกาวเพื่อให้เหมาะกับโจทย์และหน้างานของลูกค้า เช่น การลดปริมาณการใช้กาว หรือ การปรับกาวให้สามารถหลอมในอุณหภูมิที่ต่ำลงเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการผลิต ซึ่งหากเราสามารถทำสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ย่อมเกิดผลดีกับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ขณะที่ทีมงานของเราก็เกิดการเรียนรู้ไปด้วย แต่ถ้าเราพัฒนากาวออกมาหนึ่งตัวแล้วบอกว่าไม่ต้องปรับสูตร หรือทำอะไรต่อ การเรียนรู้ก็จะหยุดนิ่งไป”
เชื่อม “กาว” และ “โลก” ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
แม้กาวจะเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่ผู้บริโภคอาจมองไม่เห็น เพราะส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการผลิตและขนส่ง แต่ที่จริงแล้วกาวเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันทุกคนอย่างมาก เพราะเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า โต๊ะ เก้าอี้ แม้กระทั่งที่ติดขนตา บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและน้ำ ล้วนแล้วแต่มีกาวเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น
กาวจึงมีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอย่างมาก คุณยุวดี บอกว่า กาวไม่ได้มีความสำคัญแค่ช่วยยึดติดวัสดุเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทหน้าที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์คงรูปร่างจนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น อุตสาหกรรมกาวจึงมีการเติบโตขึ้นทุกวัน จากรายงานความต้องการกาวโลกพบว่า มีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6% ต่อปี โดยมีมูลค่าประมาณ 58,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2567 คาดว่าธุรกิจกาวจะมีมูลค่าสูงกว่า 73,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ความต้องการใช้กาวจะเพิ่มสูงขึ้น แต่จากปัญหา Climate Change ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และยังทำให้ระบบนิเวศต่างๆ ปั่นป่วน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า โรงงานต่างๆ ที่มีกระบวนการเผาไหม้ลอยขึ้นไปสู่อากาศ กองทับถมจากของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงทำให้ ซีลิค คอร์พ ต้องการเข้ามาเรียนรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสร้างโลกใบนี้ให้ยั่งยืนร่วมกับผู้คนทั่วโลก
โดยคุณยุวดี มองว่า “Sustainability” หรือ “ความยั่งยืน” สามารถมองได้หลายแบบ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการทำงาน และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ซีลิค คอร์พ จึงเริ่มนำแนวคิดยั่งยืนมาใช้ในโรงงาน ด้วยการจัดการให้ส่งผลกระทบกับชุมชนน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกลิ่นและของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไม่ให้ไหลออกไปสู่ชุมชน และในปี 2562 จึงเริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกาวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรักษ์โลก จนเกิดเป็นกาวรักษ์โลก “Vegamelt Green”
วัตถุดิบธรรมชาติ + ประสิทธิภาพ = กาวรักษ์โลก
หากอธิบายคอนเซ็ปต์ของกาวรักษ์โลกแบบง่ายๆ ก็คือ กระบวนการผลิตกาวที่เน้นวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่แนวคิดกาวรักษ์โลกของซีลิค คอร์พ ไม่ได้หมายความว่า แค่ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วจะนับว่าเป็นกาวรักษ์โลกได้ เพราะประสิทธิภาพของกาวนั้นต้องดีด้วย !!
“เราใช้เวลาในการพัฒนาอยู่นานเกือบ 2 ปีทีเดียว ซึ่งใช้เวลาส่วนมากในการทำการทดสอบและปรับ จนสุดท้ายผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนจนมั่นใจว่ากาวรักษ์โลกนี้จะตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 เรื่อง ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกาวในปัจจุบันและยังตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน”
ความพิเศษของ Vegamelt Green นอกจากจะเป็นกาวหลอมร้อนสำหรับงานติดกล่องที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ หรือ Bio Mass Content ในสัดส่วน 35% จากปกติที่การผลิตกาวหลอมร้อนจะไม่มีส่วนผสมของ Bio เลย นั่นเท่ากับว่า การผลิตกาวรักษ์โลกนี้จะช่วยลดการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมีน้อยลง ทั้งยังหลอมละลายได้เร็ว เวลาลูกค้านำไปใช้งานจึงใช้พลังงานไม่มาก ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการฉีดกาว และสามารถย่อยสลายได้ ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสัตว์พื้นดินพื้นน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกาวในเกรดเดียวกันที่ทำจากปิโตรเคมี ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของกาว Vegamelt Green เมื่อเทียบกับกาว Vegamelt ทั่วไป สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35% ยิ่งไปกว่านั้นคุณสมบัติของกาวรักษ์โลกนี้ ยังให้ประสิทธิภาพการยึดติด และให้การทนร้อนทนเย็นที่ดีขึ้นกว่ากาวหลอมร้อนที่ผลิตจากวัตถุดิบเดิม
คนละไม้คนละมือเพื่อโลกยั่งยืน
โดยปกติต้นทุน Sustainable Product จะสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์เดิมไปสู่กระบวนการที่ทำให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงมือผู้บริโภค เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กาวรักษ์โลก แต่คุณยุวดี มองว่า ไม่น่าจะมีผลต่อการทำตลาด แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา เพราะหากเทียบกับประสิทธิภาพกาวที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยโลกให้ยั่งยืน นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภค 2 ใน 3 ยินดีที่จะจ่ายให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจากผลตอบรับหลังจากที่เพิ่งเปิดตัว Vegamelt Green เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลายอุตสาหกรรมให้ความสนใจ
“ความยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน ทุกบริษัทจำเป็นต้องนำเรื่องเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถ้าวันนี้เรามีสินค้าที่สามารถตอบสนองความยั่งยืนได้ เราก็อาจจะเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ลูกค้านึกถึง และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของลูกค้าที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนไปพร้อมกัน”
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาวเพื่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต บริษัทมีแผนจะพัฒนากาวรักษ์โลกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในปีหน้าจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 2 ตัว โดยเป็นกาวสำหรับใช้ในงานสติกเกอร์ โดยกาวจะหลุดทันทีเมื่อดึงสติกเกอร์ออกจากขวด ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา
ส่วนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก คุณยุวดี บอกว่า ทุกองค์กรต่างต้องการลดปริมาณขยะและของเสียให้เหลือศูนย์ หรือ Net Zero ซีลิค คอร์พ ก็ต้องการเดินไปในจุดนั้นเช่นเดียวกัน แต่ในแง่การทำงาน จะตั้งเป้าหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการเก็บข้อมูลให้ชัดและนำมาวางแผนงานในแต่ละปีต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกในองค์กร
การออกผลิตภัณฑ์ Vegamelt Green ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตกาวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และหากถูกนำไปขยายผลต่อไปยังโรงงานอื่นๆ จากสิ่งเล็กๆ จะช่วยสร้างโลกใบนี้ให้ยั่งยืนขึ้นได้เช่นกัน และเธอเชื่อว่า หากโลกยั่งยืน ธุรกิจก็จะยั่งยืนตามไปด้วย ติดตามอัพเดทจากซีลิค คอร์พ ได้ทาง https://seliccorp.com/