ในตลาดเชนร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) ในไทยที่ประกอบด้วย 3 เซ็กเมนต์หลักคือ ไก่ทอด – เบอร์เกอร์ – พิซซ่า มูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคจะบริโภคเป็น “อาหารมื้อหลัก” ในช่วงมื้อกลางวัน และมื้อเย็น
อย่าง “ตลาดไก่ทอด” ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหญ่สุดของตลาด QSR ในไทย ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านบาท พบว่าช่วง Peak Time ของการขาย อยู่ในช่วงกลางวัน และเย็นเป็นหลัก ดังนั้นการจะขยายการเติบโตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงมี 3 โจทย์ใหญ่ นั่นคือ
1. Penetration เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด ด้วยการเดินหน้าขยายช่องทางการขายในรูปแบบ Multiple Channel และ Multi Format
2. เข้าไปอยู่ในโอกาสการรับประทานของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้เป็นมากกว่ามื้อกลางวัน และมื้อเย็น
3. การดึงผู้บริโภคให้กลับมาใช้บริการ Dine-in ที่ร้าน เพราะถึงแม้ความได้เปรียบของเชน QSR คือ มีช่องทาง Delivery รองรับ ประกอบกับอาหารในกลุ่ม QSR เป็นอาหารที่คนนิยมสั่งผ่าน Delivery เพราะง่าย สะดวก คุ้นเคย และมีโปรโมชั่น แต่ยอดขายจาก Delivery ก็ไม่อาจทดแทนการขายแบบ Dine-in ได้
ขณะเดียวกันการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ แข่งกันที่ Share of Stomach เนื่องจากมีร้านอาหารเกิดขึ้นใหม่เพียบ อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคซบเซา ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะดึงผู้บริโภคมา “ใช้จ่าย” กับร้านของเราให้ได้
ปัจจุบันในตลาดไก่ทอดในไทย ส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% เป็นของ “KFC” (เคเอฟซี) แบรนด์ในเครือ “Yum! Brands Inc.” (ในไทยคือ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด) ครองตลาด ด้วยจำนวนสาขากว่า 900 สาขา ให้สิทธิ์การเป็นแฟรนไชน์ซีในไทยกับ 3 บริษัท คือ
– เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG เครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ปัจจุบันมีกว่า 300 สาขา
– เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (The QSR of Asia) เครือไทยเบฟ มีกว่า 378 สาขา
– เรสเทอรองส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD) มีกว่า 200 สาขา
“COVID-19 เป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของการทำธุรกิจ เนื่องจาก 1. ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม จากออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ก็เปลี่ยนไปสั่งผ่าน Delivery 2. หลังจากที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน หลายคนกลายเป็นเชฟไปในตัว และ 3. เศรษฐกิจแย่ลง ทำให้การใช้จ่ายลดน้อยลง
ทั้งนี้หลังจากคลายล็อกดาวน์เดือนตุลาคม เราเห็นสัญญาณธุรกิจร้านอาหารโดยรวมดีขึ้น โดยลูกค้ากลับมาใช้บริการที่ร้าน 70 – 80% แต่ถ้าจะให้ฟื้นกลับมา 100% คงต้องใช้เวลานานกว่านั้น เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาทั้งหมด โดยคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีตามระยะเวลาฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว
ดังนั้นภาพรวมตลาดไก่ในปี 2564 ติดลบ 15% ถึงแม้จะมี Delivery เข้ามา แต่ไม่สามารถทดแทนได้ เพราะสัดส่วน Delivery ยังไม่ได้ใหญ่กว่า Dine-in
เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ตอนนี้คือ การเพิ่มจำนวนคนเข้าร้าน และเพิ่มยอดการใช้จ่าย ซึ่งยอดต่อบิลระหว่าง Dine-in กับ Delivery ต่างกันโดยเฉลี่ย 30% โดยยอดบิลช่องทาง Delivery จะสูงกว่า Dine-in เนื่องจากลูกค้าสั่งไปรับประทานที่บ้านหลายคน ขณะที่ Dine-in ยอดบิลน้อยกว่า เพราะโดยพฤติกรรมลูกค้าเป็นลักษณะต่างคนต่างสั่ง แล้วมานั่งด้วยกัน” คุณปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ฉายภาพสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารกำลังเผชิญความท้าทาย
เมื่อเจอความท้าทายเช่นนี้ “KFC” ภายใต้การบริหารโดย “Central Restaurants Group” (CRG) จึงวาง 4 กลยุทธ์หลักแก้โจทย์ใหญ่
1. เข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการบริโภคของลูกค้า ตั้งแต่เช้าถึงดึก
ด้วยความที่อาหารประเภท “ไก่ทอด” คนนิยมรับประทานเป็น “อาหารมื้อหลัก” โดยช่วงเวลาที่ลูกค้ามาใช้บริการที่ร้าน หรือสั่ง KFC มากที่สุดคือ มื้อหลักในช่วงกลางวัน และมื้อเย็น
แต่โอกาสการรับประทานไม่ได้มีแค่นั้น ที่ผ่านมา ยัม เรสเทอรองตส์ พยายามขยายโอกาสการขาย “KFC” เจาะเข้าไปในช่วง Snack Time ของผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาเมนูของว่าง และเมนูของหวาน – เครื่องดื่ม เช่น ในอดีตเปิด Krushers Bar เคาน์เตอร์ขายของหวานและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ เช่น ไอศกรีม เครื่องดื่มครัชเชอร์ เป็นเมนูปั่น หรือทำเมนูทาร์ตไข่
ทว่าภาพของ “KFC” ยังผูกอยู่กับการเป็นอาหารมื้อหลักอยู่สูง และพฤติกรรมลูกค้านิยมสั่ง KFC รับประทานเป็นมื้อหลัก นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องทลายกรอบจากการเป็นอาหารมื้อหลัก ไปสู่มื้ออื่นๆ เช่น ช่วงเช้า มื้อรอง หรือช่วงเวลา Snack Time เพื่อสร้างการเติบโตมากขึ้น
“สัดส่วนการขาย KFC มาจากมื้อกลางวัน และมื้อเย็น 70% แต่ธุรกิจร้านอาหารไม่ได้โฟกัสเฉพาะสองมื้อเท่านั้น ยังมีโอกาสการรับประทานในช่วงเช้า ช่วงสาย บ่าย รวมถึงช่วงดึก ซึ่งเราต้องการเข้าไปอยู่ในโอกาสการรับประทานในช่วงเวลาต่างๆ ของผู้บริโภค”
ล่าสุด KFC ภายใต้การบริหารโดย CRG จึงใช้พลัง Synergy ธุรกิจในเครือ CRG ด้วยการนำแบรนด์เครื่องดื่มและกาแฟสด “Arigato” เปิดตัว “KFC Café by Arigato” ซึ่งเดิมทีแบรนด์ Arigato อยู่ในพอร์ตโฟลิของเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล (บริษัทในเครือ Central Retail Corporation) โดยเปิดอยู่ในร้านสะดวกซื้อ FamilyMart ต่อมาได้มาอยู่ภายใต้การบริหารของ CRG
หลังจากอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ CRG ได้เปิด Arigato ร่วมกับแบรนด์อื่นในเครือ เช่น ก่อนจะมา Collaboration กับเชน KFC ในครั้งนี้ ได้เปิดคู่กับ Mister Donut
การให้บริการเครื่องดื่ม Arigato ในร้าน KFC มีทั้งเมนูกาแฟสด ชาเขียว และเครื่องดื่มชงสดอื่นๆ ช่วยตอบโจทย์ธุรกิจทั้งในแบรนด์ KFC และ Arigato ใน 7 เรื่องหลักคือ
– เพิ่มโอกาสการขายให้กับ KFC ได้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นมื้อเช้า ช่วงสาย เที่ยง บ่าย รวมถึงช่วงดึก
– เติมเต็มความครบวงจร ทั้งด้าน Food & Beverage ที่ให้บริการลูกค้า
– ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มให้กับ KFC
– ขณะเดียวกันช่วยสร้างการรับรู้ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแบรนด์ Arigato ให้กับลูกค้าทั่วประเทศได้ทั่วถึง และเร็วขึ้น
– เพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อบิลสูงขึ้น เช่น ลูกค้าสั่งเมนูไก่ทอด และสั่งเมนูเครื่องดื่มเพิ่มเติม
– ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นในกลุ่มเมนูเครื่องดื่ม
– เครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มี Margin ดี
CRG คาดว่าการเปิด KFC Café by Arigato จะช่วยผลักดันยอดขายเครื่องดื่มของร้านโต 10% พร้อมทั้งตั้งเป้าขยาย “KFC Café by Arigato” กว่า 220 สาขาภายในสิ้นปี 2564 และครอบคลุมทั้งกว่า 300 สาขาภายในปี 2565
2. หลายช่องทาง – หลายรูปแบบสาขา
ปัจจุบันจำนวนสาขา KFC ภายใต้การบริหารของ CRG มีกว่า 300 สาขา แบ่งเป็น
– อยู่ในศูนย์การค้า 40 – 50 สาขา
– ในไฮเปอร์มาร์เก็ต กว่า 100 สาขา
– คอมมูนิตี้มอลล์ กว่า 30 สาขา
– สถานีบริการน้ำมัน และไดร์ฟทรู กว่า 40 สาขา
เพื่อตอบรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ จึงต้องเพิ่มหลากหลายโมเดล ในโลเคชั่นทั้งในศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์ และนอกศูนย์การค้า เช่น สถานีบริการน้ำมัน อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ และเจาะตรงเข้าถึงชุมชนที่สาขาในปั๊มน้ำมันนั้นๆ ตั้งอยู่ โดยปัจจุบันปรับให้ทุกสาขาต้องรองรับบริการ Delivery ได้
การขยายหลายโมเดล เพื่อนำโมเดลสาขาที่มีไป Match เข้ากับโลเคชั่นต่างๆ เช่น สาขาในศูนย์การค้า มีพื้นที่ Dine-in สาขา Drive-thru สาขารูปแบบ Park and Go อยู่คือ สั่งทางออนไลน์ จากนั้นจอดหน้าร้าน จะมีพนักงานเดินมาส่งอาหารที่รถ บริการ Self Pick-up ที่ลูกค้าสั่งผ่านออนไลน์ แล้วไปรับสินค้าที่สาขา
“COVID-19 ทำให้เราปรับตัวด้านการขยายสาขาใน 3 เรื่องคือ 1. การเปิดสาขาต้องมีความยืดหยุ่นสูง 2. ต้องเข้าใจแต่ละช่องทางมีคาแรคเตอร์อย่างไร เช่น สาขาเน้น Delivery ต้องมีทางเข้า–ออกง่าย เพราะ Riders อยากจอดรถ รับอาหาร แล้วออกรถไปได้เลย
ขณะที่สาขาในศูนย์การค้า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค ที่มาจับจ่ายซื้อของอื่นๆ แล้วแวะมาใช้บริการ KFC เพราะฉะนั้นสาขาที่ต้องการให้เป็น Destination ที่คนมาใช้เวลานั่งรับประทานอาหาร เราต้องออกแบบตกแต่งให้สอดคล้องกับสถานที่นั้นๆ เพื่อให้ร้าน KFC เป็น Destination ของผู้บริโภค”
ในปีนี้ CRG ขยายสาขา KFC 20 สาขา ทั้งในศูนย์การค้าฯ ทั้งในเครือเซ็นทรัล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา ท็อปส์ และโรบินสัน อย่างล่าสุดเปิดสาขาลำดับที่ 300 ที่เซ็นทรัล ศรีราชา พร้อมทั้งเตรียมเปิดที่เซ็นทรัล อยุธยา และเปิดสาขานอกห้างฯ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในชุมชน หรือย่านนั้นๆ ให้มากขึ้น เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่ปัจจุบันกลายเป็นทำเลทองนอกศูนย์การค้า ที่เชนร้านอาหารรายใหญ่ต่างมาเปิดสาขา
ส่วนในปี 2565 วางแผนเปิด 30 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ และรีโนเวทสาขาเก่า 10 สาขา
“การทำตลาดออนไลน์ในช่องทาง Delivery เราดำเนินการใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการส่งอาหาร (Food Aggregator) ทุกราย อีกทั้งยังมีช่องทาง Call Center 1150 แอปพลิเคชัน KFC และเว็บไซต์ kfc.co.th เราตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น QSR ที่มีสัดส่วนการตลาดใหญ่สุดในทุกๆ แพลตฟอร์ม”
3. จาก Global Brand สู่ Local Design สร้างประสบการณ์แบรนด์ให้ได้ใจคนท้องถิ่น
ด้วยความที่เป็น Global Brand ย่อมมีไบเบิ้ลที่ใช้เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก แต่ภายใต้ความเป็นแบรนด์ระดับโลกนั้น การจะชนะใจผู้บริโภคท้องถิ่นในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าใจ Local Insights เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาสินค้า – บริการ กลยุทธ์การตลาด ไปจนถึงการออกแบบสาขา เพื่อ “เข้าถึง” ความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น
อย่างล่าสุด KFC ภายใต้การบริหารของ CRG ได้พัฒนาคอนเซ็ปต์ใหม่ “Chick n’ Chill” เพื่อปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ด้วยการประยุกต์ “Local Art and Crafts” ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เข้ากับ KFC โดยคอนเซ็ปต์นี้จะนำไปปรับใช้กับสาขาที่เป็น Destination สำคัญของท้องถิ่นนั้นๆ หรือย่านนั้นๆ ทั้งสาขาเปิดใหม่ และสาขาเก่าที่ถึงรอบรีโนเวท
เช่น KFC สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชา ผสมผสานระหว่างกลิ่นอายของทะเลศรีราชา โดยเลือกใช้คลื่นทะเลที่ให้ความเป็นศรีราชา เข้ากับความเป็นเอกลักษณ์ของ KFC และมีมุมถ่ายรูป ให้ลูกค้าได้แชร์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์ KFC กับกลุ่มลูกค้า และเข้ากับคอนเซ็ปต์ของเซ็นทรัล ศรีราชาที่ตั้งใจให้เป็น Destination ของการพักผ่อนหย่อนใจของชาวศรีราชา
“การผสมผสานความเป็นท้องถิ่น เป็นเสน่ห์ของการทำดีไซน์ ซึ่ง KFC มีกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ การใส่เอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เข้าไปในการสร้างสาขา เมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการจะรู้สึกได้ถึง Thai Flavour เป็นการสร้างประสบการณ์แบรนด์ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น และอยากถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของเขาเอง”
การออกแบบตกแต่งร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงผู้บริโภคให้กลับมาใช้บริการที่ร้านอีก หลังจากที่ผ่านมาในตลาด QSR พฤติกรรมผู้บริโภคถูกสร้างให้สั่ง Delivery จนกลายเป็นความคุ้นชินไปแล้ว
เพราะฉะนั้นการทำร้านให้เป็นมากกว่าการมานั่งรับประทาน แต่ยังเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคนัดพบปะ และใช้เวลานั่งชิลในร้านได้ บวกกับการเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร – เครื่องดื่ม จะเป็น Magnet ดึงความสนใจผู้บริโภคให้กลับมานั่งรับประทานที่ร้าน
“การทำตลาดออฟไลน์ เรามุ่งเน้นการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการที่ลูกค้ามารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้นตั้งแต่การตกแต่งร้าน และมีเมนูใหม่ ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้า”
4. เศรษฐกิจซบเซา กระทบการใช้จ่าย – อัดโปรโมชั่น กระตุ้นผู้บริโภค
ในสถานการณ์ COVID-19 กระทบธุรกิจร้านอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ “เชนร้านอาหารบริการด่วน” (Quick Service Restaurant : QSR) ที่ประกอบด้วยไก่ทอด – เบอร์เกอร์ – พิซซ่า เพราะถึงแม้ในช่วงล็อกดาวน์ต้องงดให้บริการนั่งรับประทานที่ร้านชั่วคราว ทว่าความได้เปรียบของเชน QSR คือ มีช่องทาง Delivery รองรับ ประกอบกับอาหารในกลุ่ม QSR เป็นอาหารที่คนนิยมสั่งผ่าน Delivery เพราะง่าย สะดวก คุ้นเคย และมีโปรโมชั่น
แต่กลับพบว่าในภาพรวมตลาด QSR อยู่ในสถานการณ์ติดลบ โดยยอดขายจากช่องทาง Delivery ก็ไม่อาจทดแทนการขายแบบ Dine-in ได้
อย่าง “ตลาดไก่ทอด” ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหญ่สุดของตลาด QSR ในไทย ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านบาท จากตลาดรวม QSR กว่า 45,000 ล้านบาท ติดลบ 15% ขณะเดียวกันยังเจอกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่มีผลกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าช่วงนี้แบรนด์ต่างๆ ทำโปรโมชั่นกันอย่างหนัก หวังกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค อีกทั้งเจอกับการแข่งขันด้านโปรโมชั่นบนแพลตฟอร์ม Food Delivery ทำให้หลายแบรนด์ยิ่งต้องอัดโปรโมชั่นเข้าสู้! ส่งผลให้สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารเวลานี้ ไม่เพียงแต่แข่ง Share of Stomach และ Share of Occasion เท่านั้น แต่ยังแข่งกัน Share of Wallet ในการดึงเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคมาใช้จ่ายกับแบรนด์ตนเอง
KFC เป็นอีกหนึ่งเชนร้านอาหารบริการด่วนที่ทำโปรโมชั่นต่อเนื่อง มีทั้งโปรโมชั่นประจำ และโปรโมชั่นตามช่วงเทศกาล ซึ่งโปรโมชั่นเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาด ทั้งเพื่อตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคา และเพิ่มความถี่ในการใช้บริการในช่องทางการขายต่างๆ ไม่ว่าจะร้านสาขา หรือช่องทาง Delivery
“ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยในปีนี้ เติบโตจากปี 2563 เล็กน้อยเพียง 1.4 – 2.6% (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร) โดยช่องทางที่โตขึ้นมามากจากปีที่แล้ว คือ Delivery ที่มีการแข่งขันกันมากในตลาด เพราะแทบจะเป็นช่องทางเดียวที่ทุกแบรนด์สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ COVID-19 และการล็อกดาวน์ โดยจะเห็นการแข่งขันในด้านโปรโมชั่นที่ค่อนข้างรุนแรงในทุกๆ แบรนด์
CRG ปรับแผนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เช่น ปรับกลยุทธ์การตลาด เน้นการเข้าถึงลูกค้าในช่องทางออนไลน์ และ Delivery มากขึ้น เนื่องด้วยยอดการสั่ง Delivery ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตกว่า 30% โฟกัสการให้บริการผ่านช่องทาง Drive Thru และนำเสนอบริการ Self Pick-up รวมถึงจัดโปรโมชั่นที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึง KFC ได้ง่ายขึ้น” คุณปิยะพงศ์ สรุปทิ้งท้าย