HomeHR & Manangementวิกฤตโควิด-19 ทำพฤติกรรม “มนุษย์เงินเดือน” เปลี่ยน! 80% สนใจสมดุลชีวิตไม่แพ้ค่าตอบแทน

วิกฤตโควิด-19 ทำพฤติกรรม “มนุษย์เงินเดือน” เปลี่ยน! 80% สนใจสมดุลชีวิตไม่แพ้ค่าตอบแทน

แชร์ :

ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาด หลายคนมองหางานจากค่าตอบแทน และความมั่นคงในหน้าที่การงานที่ได้รับเป็นอันดับแรกๆ ที่ผ่านมาหลายคนจึงเลือกทำงานในองค์กรใหญ่ที่มั่นคง แต่จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนทำงานมีทัศนคติและพฤติกรรมในการหางานเปลี่ยนแปลงไป งานที่มั่นคงได้เงินเดือนสูง อาจจะไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนต้องการเสมอไป เพราะแม้กระทั่งอาชีพนักบินที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี ยังตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แล้วคนทำงานยุคนี้มองหางานจากปัจจัยอะไรบ้าง Adecco ได้สำรวจความคิดเห็นคนทำงานใน 25 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับปัจจัยในการเลือกองค์กรและหางานในหัวข้อ “Resetting Normal” พร้อมแนะองค์กรปรับตัวรับพฤติกรรมแรงงานที่เปลี่ยนไป

เปิด 10 อินไซต์ “มนุษย์เงินเดือน” ยุคโควิด 

ผลการสำรวจพบว่า มี 10 ปัจจัยที่คนทำงานยุคนี้ให้ความสำคัญในการเลือกงาน โดยปัจจัยแรกที่ได้รับการโหวตจากคนทำงานมากถึง 80% คือ เงินเดือนที่ดี และสมดุลในการใช้ชีวิต หรือ Work-Life Balance จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยรองลงมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การได้รับความไว้วางใจ ความมั่นคงในอาชีพ เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น การได้ทำงานที่มีความหมาย การเข้ากันได้กับหัวหน้า การได้ทำงานที่ไม่หนักเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การได้แสดงฝีมือและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่านอกจากเงินเดือนแล้ว คุณภาพการใช้ชีวิตและความสุขในการทำงาน เป็นสิ่งที่คนทำงานยุคนี้ให้ความสนใจมากไม่แพ้กัน

ต่าง Gen ต่างความต้องการ 

เมื่อลงมาดูพฤติกรรมคนในแต่ละ Gen จะพบว่า คนในแต่ละ Gen ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ แตกต่างกันออกไป ดังนี้

Gen Z (ผู้ที่เกิดในปี 1997-2012) เป็นวัยเริ่มต้นในการทำงาน คนกลุ่มนี้คาดหวังคำชมและการเป็นที่ยอมรับเป็นอันดับแรก จึงมองหางานที่พวกเขาจะมีโอกาสได้แสดงฝีมือ ได้พัฒนาตัวเองจนเป็นที่ยอมรับ โดยให้ความสำคัญมากกว่าเงินเดือนเสีย ดังนั้น หากอยากดึงศักยภาพของ Gen Z ออกมา องค์กรและหัวหน้างานควรเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ ให้ความไว้วางใจ และกล้ามอบหมายงานสำคัญให้พวกเขาได้ลองทำ ช่วยสอนงานให้คำแนะนำและคำชมที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำงานของพวกเขา รวมถึงการสร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุกครื้นเครงก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพด้วย

Gen Y (ผู้ที่เกิดปี 1981-1996) และ Gen X (ผู้ที่เกิดปี 1965 – 1980) เป็นวัยที่ทำงานมาแล้วสักระยะและกำลังสร้างความมั่นคงในอาชีพ พวกเขาจึงมีความคิดที่ค่อนข้างคล้ายกัน จากผลสำรวจเราพบว่า Gen Y และ Gen X ให้ความสำคัญกับปัจจัยในการทำงานที่เหมือนกัน โดยสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือเงินเดือนที่ดี อย่างไรก็ตามคน Gen นี้เริ่มรู้แล้วว่าการได้รับเงินเดือนที่ดีแต่หากต้องแลกกับสุขภาพหรือการสูญเสียเวลาในการหาความสุขนั้นแทบไม่คุ้มกัน จึงทำให้สมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิตได้รับการโหวตมาเป็นอันดับที่สอง นอกจากนี้ พวกเขายังให้ความสำคัญเรื่องการได้รับความไว้วางใจในการทำงาน การมองหางานที่มั่นคง รวมถึงคาดหวังการมีชีวิตที่ยืดหยุ่นด้วย ดังนั้น ในแง่ของการดึงดูดและรักษาทาเลนท์ Gen Y และ Gen X องค์กรและฝ่าย HR อาจพิจารณาปรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้เขาพวกเขามีอิสระในการทำงานและสามารถสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตของตัวเองได้

Baby Boomer (ผู้ที่เกิดปี 1946-1964) Gen นี้เป็นวัยที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ หลายคนอาจมีลูกแล้ว ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุดคือ work-life balance ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไปและมีเวลาที่จะแบ่งให้กับครอบครัว ส่วนอันดับที่สองได้แก่การได้รับความไว้วางใจในการทำงานเพราะพวกเขามีประสบการณ์มากพอที่จะรับผิดชอบงานและแก้ปัญหาต่างๆ ได้เอง พวกเขาให้ความสำคัญกับเงินเดือนในอันดับที่สาม ซึ่งต่างจาก Gen อื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเงินเดือนในลำดับต้นๆ รองลงมาได้แก่ปัจจัยเรื่องการความมั่นคงและเวลาที่ยืดหยุ่นในการทำงาน

แนะ 4 วิธี จูงใจคนรุ่นใหม่ ไม่ย้ายงาน 

เมื่อโลกการทำงานและพฤติกรรมการมองหางานเปลี่ยนไป ทำให้องค์กร และ HR ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเข้าใจในสิ่งที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดคนทำงานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญให้เข้ามาทำงานและไม่ย้ายองค์กรไปไหน โดยมี 4 แนวทางสำคัญที่องค์กรควรปรับตัว ดังนี้

1.เกณฑ์การประเมินว่าองค์กรและตำแหน่งงานไหนดีหรือไม่ดีได้เปลี่ยนไป องค์กรจึงควรหันมาทำ Employee Engagement และ Total Rewards ที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละ Generation เพื่อป้องกันอัตราการลาออกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

2.การปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นโดยให้ให้พนักงานมีอิสระในการทำงานและจัดสรรตารางงานของตนเอง เพราะวิธีนี้นอกจากจะไม่มีค่าใช้จ่าย ยังช่วยสร้าง Work-Life Balance เมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน สร้างความสุขในการทำงานให้กับพนักงานได้มากขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้อีกด้วย

3.การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในทีม ผู้ที่เป็นหัวหน้า ผู้จัดการและผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องปรับตัวมาทำงานแบบ Remote working ก็ควรทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขายังได้รับความไว้วางใจในการทำงานไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศ ปรับการบริหารทีมให้เหมาะสมกับการทำงานแบบ Work From Home และคอยดูแลจิตใจพนักงานให้อยู่ในสภาวะที่ดี

4.ในช่วงเวลานี้ต้องทำให้พนักงานมองเห็นอนาคตของตัวเองกับองค์กร สิ่งที่องค์กรควรทำคือ การปรับโครงสร้างองค์กรและการทำงานให้ Agile และยืดหยุ่น การมอบโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางอาชีพ โดยวาง Career Path ร่วมกันว่าอยากก้าวหน้าทางอาชีพในด้านใดและวางแผนเพื่อพัฒาทักษะที่จำเป็นในด้านนั้นๆ


แชร์ :

You may also like