ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ดำเนินการโดยบริษัท เรย์ เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (Ray Power Supply Co., Ltd.) ซึ่งบริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 1 จำกัด ถือหุ้น 100% ตั้งอยู่ที่เมืองศรีโสภณ จังหวัดบันทายมีชัย (หรือ บ็อนเตียย์เมียนเจ็ย) ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 20 ปี กับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา (Electricite Du Cambodge) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 บริษัท เรย์ เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด ได้ลงนามสัญญาเงินกู้ (Syndicated Loan Facility) ในวงเงิน 28.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 938 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการกู้เงิน 15 ปี กับ 3 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, และธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินต่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงศักยภาพของบริษัทในการระดมทุนแม้จะมีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“บริษัทประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ เพื่อดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพตามกำหนดเวลาที่วางไว้ ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้างตลอดช่วงปี 2563” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
นายทิพากร สายพัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบี.กริม เพาเวอร์ สอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารที่มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ธนาคารเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาบริการไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง อันเป็นรากฐานสาคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ด้วยศักยภาพของกลุ่มบี.กริม เพาเวอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ความได้เปรียบด้านต้นทุน มีพันธมิตรธุรกิจระดับโลก และการได้รับการยอมรับในระดับสากล
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า การร่วมสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ค้า เราจึงพัฒนารูปแบบการสนับสนุนทางการเงินและขยายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันสร้างโลกที่ดีขึ้น และคุณภาพชีวิตของประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว
นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้ให้ความสนับสนุนกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมานานกว่า 26 ปี เริ่มตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 ในปี 2538 และในครั้งนี้ธนาคารก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของบี.กริม เพาเวอร์ ที่ประเทศกัมพูชา ขนาด 39 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกัมพูชาและการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy)
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การรุกธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นการตอบรับรูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ มีนโยบายลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว และหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังตอบโจทย์เป้าหมายการขยายสัดส่วนพลังงานสะอาดของบี.กริม เพาเวอร์ จากวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อ “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” (Empowering the World Compassionately)
ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 50 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,894 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 7,200 เมกะวัตต์ในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ด้วยเป้าหมายรายได้กว่า 100,000 ล้านบาท คงการเป็นผู้นำด้านบริษัทผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของโลก พร้อมกับการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ คือ การก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2050)