บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 ทำรายได้ 130,344 ล้านบาท ลดลง 3.8% กำไรสุทธิ 1,493 ล้านบาท ลดลง 62.7%
ตัวเลขรายได้และกำไร CPALL ลดลง จากการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 โดยเฉพาะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 29 จังหวัด ทำให้จำนวนชั่วโมงเปิดร้าน 7-Eleven ลดลง จึงปรับแผนการขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) ทั้งบริการ 7-Eleven Delivery และ All Online ซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบได้บ้าง
นอกจากนี้ไตรมาส 3 ได้บันทึกส่วนแบ่งขาดทุนของธุรกิจโลตัสส์ จำนวน 282 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายและรายได้ค่าเช่าลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการของรัฐเช่นกัน ทำให้ไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 1,493 ล้านบาท ลดลง 62.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน
สำหรับรายได้ CPALL งวด 9 เดือนแรก ปี 2564 มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 62% และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร 38%
“เคอร์ฟิว” กระทบสาขาร้านสะดวกซื้อ 70%
ในไตรมาส 3 ปี 2564 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 68,197 ล้านบาท ลดลง 8.2% กำไรสุทธิ 1,711 ล้านบาท ลดลง 55.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุหลักมาจากมาตรการรัฐคุมโควิด ลดเวลาเปิดบริการร้านค้าปลีก จากเดิมร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมง เหลือเวลาเปิด 20.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันถัดไป ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยจำนวนกว่า 70% ของร้าน 7-Eleven ทั้งหมดได้รับผลกระทบจากการลดเวลาดังกล่าว
ไตรมาส 3 ปีนี้ ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันของร้าน 7-Eleven อยู่ที่ 62,281 บาท ยอดขายเฉลี่ยร้านสาขาเดิมลดลง 9.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดซื้อต่อบิล 85 บาท ขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 730 คน
กลยุทธ์ O2O ยังคงได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงสินค้าภายในร้าน 7-Eleven ได้ในช่วงที่หน้าร้านมีเวลาเปิดลดลงและตอบสนองพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคในยุคนี้ ปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 10% ของรายได้จากการขาย
รายได้จากการขายร้าน 7-Eleven 73.9% มาจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 26.1% มาจากสินค้าอุปโภค (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์) รายได้จากการขายสินค้ากลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มอาหารพร้อมทานและอาหารแปรรูปเติบโตดี ในช่วงที่คนทำงานหรือเรียนจากที่บ้าน เช่น สินค้าอิ่มคุ้ม เครื่องปรุงอาหาร กลุ่มสินค้าบรรจุขนาดครอบครัว หรือ แพ็คใหญ่ เป็นต้น
ปี 2564 CPALL วางแผนลงทุนเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่รวม 700 สาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนี้
– การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท
– การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท
– โครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท
– สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท
ไตรมาส 3 ปีนี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่ 139 สาขา รวมทั้งสิ้น 12,882 สาขา แบ่งเป็น
1. ร้านสาขาของบริษัท 6,060 สาขา (คิดเป็น 47%) ร้านเปิดใหม่ 126 สาขา
2. ร้าน Store Business Partner และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,822 สาขา (คิดเป็น 53%) ร้านเปิดใหม่ 13 สาขา
ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบสแตนด์อโลน คิดเป็น 85% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
นอกจากนี้ในระหว่างไตรมาส 3 ปี 2564 CPALL ได้เปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven 2 สาขา ในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายใต้สัญญาให้สิทธิแฟรนไชส์หลัก (Master Franchise Agreement) อีกด้วย
ปัจจุบันสถานการณ์โควิด ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 กระทบในเชิงลบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงมีความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นต่อกำลังซื้อผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจของ CPALL ในอนาคต ดังนั้นการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจจึงมีโอกาสปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
แต่ช่วงปลายไตรมาส 3 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มลดลง การกระจายวัคซีนสามารถครอบคลุมได้มากขึ้น ช่วงต้นไตรมาส 4 รัฐบาลมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุม และยกเลิกเคอร์ฟิว คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น