HomeDigitalวิจัยชี้ 10 เทรนด์ ไทยเข้าสู่ “Digital Decade” คนนอกหัวเมืองเริ่มใช้จ่าย คาด “อีคอมเมิร์ซ” ดันเศรษฐกิจดิจิทัลแตะล้านล้านเหรียญ

วิจัยชี้ 10 เทรนด์ ไทยเข้าสู่ “Digital Decade” คนนอกหัวเมืองเริ่มใช้จ่าย คาด “อีคอมเมิร์ซ” ดันเศรษฐกิจดิจิทัลแตะล้านล้านเหรียญ

แชร์ :

shutterstock_ecommerce

รายงานต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 6 แล้วสำหรับ e-Conomy SEA Report 2021 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company โดยผลสำรวจในปีนี้เผยให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” หรือ Digital Decade และคาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล ของไทยมีโอกาสแตะ 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 ขณะที่มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้ในปี 2030

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี ภายใต้ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” ที่เรากำลังก้าวเท้าเข้าไปนี้ ก็มีอีกหลายความเปลี่ยนแปลงรออยู่เช่นกัน โดยเราขอสรุปมาให้ใน 10 ประเด็น ดังต่อไปนี้

  1. Digital Consumers กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

e-Conomy SEA Report 2021

ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน และ 350 ล้านคน หรือประมาณ 80% เป็น “ผู้บริโภค” บนแพลตฟอร์มดิจิทัล กล่าวคือ เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการ

สิ่งที่ทีมวิจัยพบเพิ่มเติมก็คือ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ Covid-19 มีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ถึง 60 ล้านราย โดยในปี 2020 เพิ่มเข้ามา 40 ล้านราย และในครึ่งปีแรกของปีนี้ เพิ่มเข้ามาอีก 20 ล้านราย

2. อีคอมเมิร์ซ ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

e-Conomy SEA Report 2021

รายงานชิ้นนี้ชี้ด้วยว่า อีคอมเมิร์ซคือแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในทศวรรษหน้า เห็นได้จากการที่ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นถึง 68% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 และคาดว่าจะแตะ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025

3. ส่งอาหาร บริการดิจิทัลสุดฮอต

e-Conomy SEA Report 2021

ในส่วนของการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ e-Conomy พบว่าภาคธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

4. ท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว

e-Conomy SEA Report 2021

สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้ แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน 

5. ไทยครองอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้คาดว่าในปี 2025 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% ซึ่งสูงขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ก่อนหน้านี้ได้ประมาณตัวเลขไว้ที่ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ)

6. กลุ่ม Non-Metro กำลังเริ่ม “ใช้จ่าย”

e-Conomy SEA Report 2021

e-Conomy SEA Report 2021 ชี้ว่า ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคนนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2020 ถึงครึ่งแรกของปี 2021 โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก

อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลสูงถึง 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

Google เผยด้วยว่า ผู้ใช้งานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานต่อไปในอนาคต โดยกว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และ 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต และระดับความพึงพอใจที่มีต่อบริการทุกประเภทอยู่ที่ 87% เลยทีเดียว

7. ยอดใช้สินเชื่อดิจิทัลไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน

e-Conomy SEA Report 2021

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในการสำรวจของปีนี้ยังมีอีกหนึ่งข้อ นั่นคือการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ค้าดิจิทัลด้วย โดย e-Conomy SEA Report 2021 เผยว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ค้าดิจิทัลในประเทศไทยเชื่อว่าธุรกิจของพวกเขาจะไม่สามารถผ่านวิกฤตโรคระบาดไปได้ หากไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ถึงแม้ว่าผู้ค้าดิจิทัลใช้บริการถึง 2 แพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย แต่กำไรของธุรกิจยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

นอกจากนั้น ในภาพสไลด์ด้านบนจะเห็นได้ว่า บริการด้านการเงินดิจิทัลกําลังกลายมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเพราะ 96% ของผู้ค้าดิจิทัลรับการชำระเงินดิจิทัลแล้ว โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือ การใช้บริการ Digital lending ที่สูงถึง 73% (ขณะที่ในระดับภูมิภาคใช้บริการเพียง 58% เท่านั้น)

8. โลกยูนิคอร์นกำลังเติบโต

e-Conomy SEA Report 2021

นักลงทุนต่างมองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่

การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับปี 2020 บริษัทยูนิคอร์นที่ถือกําเนิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยในปีนี้ เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลที่เติบโตขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

9. การเงินดิจิทัลเติบโต

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริการด้านการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่ดี โดยผู้ค้าและผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีวอลเล็ท (e-wallet) และระบบการชำระเงินแบบ A2A (account-to-account) กันมากขึ้น ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) กว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการจำนวน 7.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 

10. คาดเศรษฐกิจดิจิทัลแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030

สำหรับหน้าตาของเศรษฐกิจดิจิทัลในวันที่ตลาดมีมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นอย่างไรนั้น อาจพิจารณาได้จากสไลด์ด้านล่าง โดยเราจะเห็นว่า อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนในยุค 2030 และเราจะได้เห็นสินค้า Groceries ขึ้นไปให้เราซื้อขายได้บนออนไลน์ตลอด 24/7

e-Conomy SEA Report 2021

สำหรับปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต ผู้ทำวิจัยเผยว่า มีทั้งในส่วนของผู้บริโภค ผู้ค้า แพลตฟอร์ม และหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงการให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน การกำกับดูแลข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รวมถึงออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการไหลของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่มากขึ้น – มาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงาน และผู้บริโภคควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม

ส่วนความท้าทายที่อาจทำให้ไปไม่ถึงเป้านั้น ก็คือปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะนั่นเอง ใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยได้ที่นี่

 


แชร์ :

You may also like