ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์นี้ที่กลายเป็น Talk of the Town ของไทยและอีกหลายหน้าสื่อในภูมิภาคเอเชียก็คือข่าวการเข้าซื้อหุ้นสามัญ “บิทคับ ออนไลน์” โดยกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCB X) ที่ทุ่มเงินถึง 17,850 ล้านบาท แลกกับการถือหุ้นในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยใช้บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เป็นผู้ดำเนินการ ที่สำคัญ ดีลนี้ยังทำให้ชื่อของ Bitkub ก้าวขึ้นสู่สถานะยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ กับมูลค่าบริษัทที่ชัดเจนแล้วว่ามีถึง 35,000 ล้านบาท หรือเกินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับใครที่อาจยังไม่รู้จัก “บิทคับ ออนไลน์” (Bitkub Online) พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเปิดตัวเมื่อปี 2561
หลังจากมีผลประกอบการขาดทุนในสองปีแรก บิทคับออนไลน์ก็เริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 2563 ก่อนจะเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2564 โดยใน 9 เดือนแรกของปีนี้ บิทคับ ออนไลน์ มีกำไรสุทธิแล้วถึง 1,533 ล้านบาท จากฐานลูกค้ากว่า 2.4 ล้านคน และทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ภายในสิ้นปีนี้ บิทคับ ออนไลน์อาจมีกำไรทะลุ 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวที่น่าสนใจของคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ถึงการเติบโตของบิทคับ และนำไปสู่การซื้อหุ้นในครั้งนี้ว่า จะช่วยให้ “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้ ทั้งยังเป็นดีลที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยานแม่ SCBX ในการยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงิน และสามารถเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้าด้วย
2564 ปีที่สตาร์ทอัพไทยเป็นยูนิคอร์นใหม่ 3 ตัว
นอกจากดีลนี้เรียกความสนใจจากแวดวงการเงินได้สูงมากแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง บิทคับ ภายใต้การกุมบังเหียนของคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ก็มีภาพของการเป็น “สตาร์ทอัพไทย” ที่ชัดเจนมาก ๆ เช่นกัน
ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงสตาร์ทอัพไทย คำถามที่มักจะถูกถามบ่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ เมื่อไหร่ ประเทศไทยจะมียูนิคอร์นเสียที ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ บรรยากาศของสตาร์ทอัพไทย อาจไม่ใช่สิ่งที่หลายฝ่ายจะพอใจนัก ทั้งในเรื่องการขาดการสนับสนุนที่เหมาะสม เทรนด์การลงทุนจากกองทุนต่างประเทศที่ชะลอตัว และหันไปลงทุนในประเทศอย่างอินโดนีเซีย – เวียดนามมากขึ้น (อ้างอิงจากรายงาน e-Conomy 2020 ที่จัดทำโดย Google และเทมาเส็ก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ e-Conomy SEA 2020 กับ 10 ความเคลื่อนไหวในเศรษฐกิจดิจิทัล ใคร “รุ่ง-ร่วง-รอด” | Brand Buffet)
การเกิดขึ้นของยูนิคอร์น ทั้ง 3 ตัวของไทย ได้แก่ แฟลช เอ็กซ์เพรส, Ascend Money และมาถึงรายล่าสุดอย่างบิทคับ ในปี 2564 จึงอาจเป็น “แรงบันดาลใจครั้งใหญ่” ของวงการสตาร์ทอัพไทยให้ออกมาขับเคลื่อนกันอีกครั้งก็เป็นได้
เพื่อสะท้อนภาพที่ชัดเจนขึ้น Brandbuffet ได้รับเกียรติจากคุณโอฬาร วีระนนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และผู้คร่ำหวอดในแวดวงสตาร์ทอัพมาช่วยขยายภาพ วิเคราะห์ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของดีลนี้ว่ามีผลต่อวงการสตาร์ทอัพไทยอย่างไรกันอย่างเจาะลึก
ทำไมดีล “สตาร์ทอัพ x ธนาคาร” จึงเป็น Talk of the Town
คุณโอฬารวิเคราะห์ความน่าสนใจของดีลนี้ว่าทำไมถึงกลายเป็น Talk of the Town โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ นั่นคือ ตัวของแบรนด์เองที่อิมแพคต่อผู้คนในวงกว้าง สตอรี่ของผู้ก่อตั้งที่มีเรื่องราวและสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ และทั้งสองปัจจัยยังนำไปสู่ประเด็นสุดท้ายคือ ขนาดของความสำเร็จที่ Bitkub พิสูจน์แล้วว่า สามารถขยายได้เท่ากับความเชื่อและความสามารถที่คน ๆ หนึ่งจะมีได้เลยนั่นเอง
“ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า เรื่องที่กระทบกับคนในวงกว้างจะได้รับความสนใจเสมอ ดีลบิทคับกระทบคนหลักล้านคน ถ้าจะเล่าให้เห็นภาพชัดขึ้นก็อาจต้องเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว 40 กว่าปี (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มเปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518) ปัจจุบัน มีคนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น 4.67 ล้านบัญชี ขณะที่บิทคับก่อตั้งมาเพียง 4 ปี ก็มีคนเปิดบัญชีแล้วกว่า 2.4 ล้านบัญชีเช่นกัน”
“ดีลนี้ทำให้เห็นถึง Speed of Business เลยว่า บิทคับคือหนึ่งในผู้เล่นของโลกการเงินสมัยใหม่ ที่ส่งผลกระทบกับคนไทยในวงกว้างมากที่สุด”
“ด้วยเหตุนี้ บริษัทที่สร้างอิมแพคให้กับคนจำนวนมากได้อย่างบิทคับ เมื่อมาผนวกกับบริษัทร้อยปีที่ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักอย่าง SCB จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ดีลนี้ได้รับความสนใจมหาศาล”
“ท็อป-จิรายุส” คือบทพิสูจน์ว่า “คนธรรมดาก็สร้างตัวได้”
นอกจากเรื่องของแบรนด์ที่ดึงดูดให้คนสนใจแล้ว การเป็น “คนธรรมดา” ของผู้ก่อตั้งอย่างคุณท็อป – จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ก็เป็นสตอรี่ที่โดนใจคนรุ่นใหม่เช่นกัน โดยคุณโอฬารขยายความประโยคข้างต้นให้ชัดเจนขึ้นว่า
“ทุกวันนี้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่เห็นคือภาวะที่ภาคการเมืองทะเลาะกันรุนแรง ภาวะโควิดที่ยาวนาน และมีคอรัปชั่นมากมาย จนพวกเขาเกิดคำถามว่า คนที่ไม่มีเส้นสายจะโตต่อไปได้จริงไหมในประเทศนี้ หรือเรียกว่าเป็นภาวะแห่งความสิ้นหวัง”
“ความสำเร็จของท็อปจึงเป็นแรงบันดาลใจอย่างดีสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะท็อปไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง ไม่ใช่คนร่ำรวย เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เขาเป็นคนที่พัฒนาตัวเองอย่างรุนแรง รุนแรงจริง ๆ จนขนาดเข้ามหาลัยชั้นนำของโลกได้ แล้วก็มุ่งมั่นจนได้เงินลงทุน มันจึงเป็นสตอรี่ที่อิมแพกมาก”
“เรื่องของท็อปตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หลายคนที่กำลังอยากย้ายประเทศ ในภาวะที่รัฐบาลกำลังดูหมดหวัง ประเทศดูหมดหวัง โควิดทำให้คนทั่วโลกพัง แต่มีเด็กคนหนึ่งที่ใช้เวลาแค่ 4 ปีเอง สร้างธุรกิจในสเกลยูนิคอร์นได้สำเร็จ”
“ที่สำคัญ ความสำเร็จของท็อป เป็นความสำเร็จที่ผู้ใหญ่ที่ทำงานมาทั้งชีวิตก็ยังเอื้อมไม่ถึง มันคือขนาดความสำเร็จที่ไม่เกี่ยวกับอายุ การศึกษา ไม่เกี่ยวกับความเชื่อในสังคม ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำมันถูก ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และทำให้คนจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์ คุณสามารถขยายขีดความสำเร็จได้เท่ากับขนาดความเชื่อและความสามารถของคุณเอง”
เตรียมพบยูนิคอร์นเกิดใหม่อย่างน้อย 2 – 3 ตัวใน “ไทย”
เรื่องราวของ แฟลช เอ็กซ์เพรส, Ascend Money และบิทคับ ที่ได้สถานะ “ยูนิคอร์น” ไม่เพียงทำให้ความเชื่อเรื่องประเทศไทยไม่สามารถเป็นที่ให้กำเนิดบริษัทที่มีมูลค่าหลักพันล้านเหรียญสหรัฐฯ จางลงไปเรื่อย ๆ แล้ว คุณโอฬารยังได้คาดการณ์ด้วยว่า ภายในปีหน้า เราอาจได้เห็นยูนิคอร์นเกิดใหม่อีก 2 – 3 ตัวตามมา
“ตอนเดือนมิถุนายนที่แฟลชเป็นยูนิคอร์นตัวแรก มีสื่อมาสัมภาษณ์พี่ พี่ตอบไปว่า ภายใน 3 – 5 ปี จะมียูนิคอร์นเกิดใหม่อีก 3 – 5 ตัวในประเทศไทย ตอนนี้ผ่านไปแค่ 5 เดือน เกิดแล้ว 2 ตัว ก็คือ Ascend Money และบิทคับ เพราะฉะนั้น พี่เชื่อว่าภายในปีหน้า จะมียูนิคอร์นเกิดใหม่ในประเทศไทย อย่างน้อย 2 – 3 ตัว ไม่ต่ำกว่านี้”
ส่วนปัจจัยอะไรที่ทำให้ยูนิคอร์นมีโอกาสเกิดตามมาอีกหลายตัวในประเทศไทยนั้น คุณโอฬารได้ยกมาสองข้อ นั่นคือ
ความเชื่อเรื่องยูนิคอร์นเกิดไม่ได้ในไทย ได้ถูกทำลายลงแล้ว
“ก่อนอื่นต้องเรียกว่า Momentum มันมาแล้ว เพราะจากแฟลช มา Ascend money มาถึงบิทคับ มันทำให้คนรู้สึกว่า ถ้ามีใครสักคนทำได้ ฉันก็ทำได้เช่นกัน (if Anyone can do, I can do it, also.)”
“เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินกฎ 10,000 ชั่วโมงในการฝึกฝน เพื่อจะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริง ๆ และก้าวขึ้นเป็นคนระดับแถวหน้า ถ้าเราใช้กฎนี้ เรียนรู้บางอย่างวันละหนึ่งชั่วโมง เราจะใช้เวลา 30 ปี แต่ท็อปทำงานวันละ 12 ชม. โฟกัสกับสิ่งที่เขาทำ หมายความว่า เขาใช้เวลาแค่ 3 ปีเอง ตรงกับเวลาที่เขาตั้งบริษัทเลย (บิทคับก่อตั้งในปี 2561) พอปี 2564 เป็นยูนิคอร์นเรียบร้อย เช่นเดียวกับสตอรี่ของคุณคมสันต์ ลี (ซีอีโอแฟลช เอ็กซ์เพรส) ที่เป็นเด็กต่างจังหวัด ทั้งสองคนต่างเคยทำเรื่องผิดพลาด ล้มเหลว แล้วก็เอาประสบการณ์ที่ล้มมาสร้างใหม่ ไม่ย่อท้อ เน้นการทำงานหนัก ทำงานตลอดเจ็ดวัน จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ”
“เรื่องราวของคุณคมสันต์ และท็อป คือตัวทำลายกำแพงความเชื่อที่ว่าคนไทยไปไหนไกลไม่ได้ ไม่ว่าจะอ้างว่าเพราะรัฐบาลห่วย เพราะการเมืองไม่ดี ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ตัดกลับมาในฝั่งคอร์ปเปอเรท เราก็มีเรื่องราวของ Ascend Money ที่มีบริษัทขนาดใหญ่สนับสนุน แสดงให้เห็นภาพอีกด้านว่า บริษัทขนาดใหญ่จำเป็นต้องพึ่งสตาร์ทอัพเช่นกัน”
ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อเดิม ๆ ของการกำเนิดยูนิคอร์นกำลังเปลี่ยนไปจากบริบทที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย
“เมื่อก่อนอาจจะมีกูรูบางคน เจ้าพ่อบางคน ที่บอกว่า ถ้าผมไม่ลงทุน คุณไปต่อไม่ได้หรอก แต่จะเห็นได้ว่า ยูนิคอร์น 3 ตัวที่เกิดขึ้น ก็มีสตอรี่ 3 แบบที่แตกต่างกัน แปลว่ามันไม่จำเป็นต้องมีสูตรสำเร็จแบบเดิมอีกต่อไป นายเอไม่ลง พี่บีไม่ลง ไม่เกี่ยวอีกต่อไปแล้ว”
2. เรามาถึงยุคที่ Blue Ocean มีอยู่เต็มไปหมด
คุณโอฬารกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า มันคือการเกิดขึ้นของ Blue Ocean มากมายหลายอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีมากสำหรับสตาร์ทอัพไทย
“ตอนนี้เราเห็นเลยว่า โลกกำลังสตาร์ทเรื่องใหม่ ๆ พร้อมกัน อย่าง Facebook กำลังสร้าง Metaverse แต่ถามว่ามีใครรู้จริงไหมเรื่อง Metaverse คำตอบคือไม่มี ตอนนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญ เพราะมันมีเรื่องเกิดใหม่พร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก อยู่ที่ว่า เราจับเรื่องพวกนี้ได้ถูกทางไหม ยูนิคอร์นตัวต่อไป อาจไม่จำกัดแค่ฟินเทค เพราะยังมี AgriTech, Edtech, HealthTech, Quantum Computing, CleanTech ฯลฯ และทั้งหมดนี้คือบลูโอเชี่ยนของสตาร์ทอัพไทยด้วยเช่นกัน”
ก้าวไปเป็น Category King
ปัจจัยทั้งสองข้อนี้ จึงนำไปสู่คำถามชวนคิดที่คุณโอฬารอยากฝากถึงสตาร์ทอัพและคนที่กำลังสร้างธุรกิจว่า เรามีความสามารถพอที่จะเป็น Category King หรือเปล่า?
“ใครจะคิดว่า ซีอีโอแบงค์ยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างคุณอาทิตย์ จะมาถ่ายภาพกระทบไหล่คู่กับเด็กวัยรุ่น ถ้าคิดแบบในโลกก่อน มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่ในโลกใหม่ เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้มากขึ้น โลกในยุคต่อไป จะเป็นโลกที่คนตัวเล็กเติบโตเป็นคนตัวใหญ่ได้อย่างก้าวกระโดด แต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น รู้จริงทำจริง และรู้จักประสานกับคนทุกฝ่าย ถ้าทำอย่างนี้ได้ ใคร ๆ ก็อยากลงทุนด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ผู้สร้างนวัตกรรมทุกคนครับ” คุณโอฬารกล่าวปิดท้าย