HomeBrand Move !!TDRI ระบุ “ทรู-ดีแทค” ควบรวม ผูกขาดระดับอันตราย กระทบผู้บริโภค-เศรษฐกิจ-ทำตลาดมือถือไทยถอยหลังก่อนปี ‘47

TDRI ระบุ “ทรู-ดีแทค” ควบรวม ผูกขาดระดับอันตราย กระทบผู้บริโภค-เศรษฐกิจ-ทำตลาดมือถือไทยถอยหลังก่อนปี ‘47

แชร์ :

Thailand Mobile Phone

Credit Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตาถึงกรณี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจํากัด (มหาชน)” หรือ “ทรู” (True) ประกาศควบรวม บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จํากัด (มหาชน)” หรือ “ดีแทค” (dtac) เพราะหากควบรวมได้สำเร็จ นั่นเท่ากับว่าโครงสร้างการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมไทย จากมี 3 ราย ต่อไปจะเหลือเพียง 2 ราย ทั้งยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการตลาด (เชิงรายได้) และที่สำคัญคือ จะเกิดผลกระทบหลายส่วน โดยมีทั้งผู้ที่ได้รับด้านบวก และผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการควบรวมธุรกิจ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ก่อนควบรวม

– เอไอเอส (AIS) มีส่วนแบ่งตลาด 47.5%

– ทรู (True) มีส่วนแบ่งตลาด 29.7%

– ดีแทค (dtac) มีส่วนแบ่งตลาด 22.7%

หลังควบรวม

– ทรู + ดีแทค มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 52.5% เบียดเอไอเอสขึ้นอันดับ 1 ทันที!

– เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาด 47.5%

Thailand Mobile Phone

Credit Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

TDRI ชี้ควบรวม “ทรู ดีแทค” ผูกขาดระดับอันตราย ทำตลาดโอเปอเรเตอร์ยถอยหลังกลับไปก่อนปี 2547!

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI แสดงข้อคิดเห็นต่อการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทคว่า ทั้งสองบริษัทเรียกการควบรวมนี้ว่าเป็น Eco Partner แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร นี่คือ “การควบรวม” ซึ่งตลาดโทรศัพท์มือถือในไทย มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหากมีการควบรวม จะยิ่งทำให้มีการผูกขาดมากขึ้น ถึงระดับอันตราย

“ถ้าตลาดเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย แปลว่าตลาดจะถอยหลังกลับไปก่อนปี 2547 เราดูอนาคต ได้จากประวัติในอดีต ตอนนั้นมีผู้ให้บริการเพียง 2 รายคือ เอไอเอส และดีแทค ก่อนจะมีผู้ประกอบการรายที่ 3 คือ ทรูมูฟ ทำให้บริการไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้บริโภคเท่าไรนัก เช่น การล็อค IMEI, ค่าบริการสูง และมีการบังคับขายพ่วงติดมาด้วย

เพราะฉะนั้นหากเกิดการควบรวม แล้วตลาดย้อนกลับไปเป็นแบบก่อนปี 2547 อาจมีผลต่อราคาค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการขายพ่วงลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เมื่อเทียบกับผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกได้มากกว่าเมื่อมีผู้ประกอบการ 3 ราย”

Dr_somkiat_TDRI

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

 

ทำความรู้จัก “ดัชนี HHI” ชี้วัดระดับการผูกขาดตลาด

การวัดการผูกขาดเชิงโครงสร้าง มีดัชนีวัดการกระจุกตัว Herfindahl – Hirschman Index หรือเรียกย่อๆ ว่า ดัชนี HHI มีระดับค่าตั้งแต่ 0 – 10,000 ถ้าธุรกิจไหน ผูกขาดรายเดียว ดัชนีค่า HHI จะอยู่ที่ 10,000 ขณะที่ถ้าธุรกิจไหน มีผู้ประกอบการจำนวนมาก เช่น ธุรกิจที่มีผู้ประกอบการหลายร้อยราย ดัชนี HHI จะอยู่ในระดับ 0 ต่ำสุด

ยกตัวอย่างค่า HHI ในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก

– Xiaomi ส่วนแบ่งตลาด 16%

– Oppo ส่วนแบ่งตลาด 15.5%

– Vivo ส่วนแบ่งตลาด 13.0%

– Samsung ส่วนแบ่งตลาด 10.7%

– Apple ส่วนแบ่งตลาด 7.8%

– อื่นๆ ส่วนแบ่งตลาด 37.0%

วิธีการคำนวณดัชนี HHI คือ เอาส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละแบรนด์ มายกกำลัง 2 แล้วเอามาบวกกันทั้งหมด จะได้ค่า HHI อยู่ที่ 2,210 (HHI 2,210 ใน 10,000 หรือคิดเป็น 22%) หมายความว่าตลาดสมาร์ทโฟนในตลาดโลก มีการกระจุกตัวในการแข่งขันบ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะฉะนั้นเวลาผู้บริโภคซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ มีทางเลือกในการพิจารณาเลือกแบรนด์ต่างๆ พอสมควร แต่ยังไม่ได้มากมายมหาศาลจนนับไม่ถ้วน

TDRI_True-dtac

ขณะที่ตลาดโทรคมนาคมไทย ส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้ของผู้ประกอบการ 3 ราย

– เอไอเอส (AIS) มีส่วนแบ่งตลาด 47.5%

– ทรู (True) มีส่วนแบ่งตลาด 29.7%

– ดีแทค (dtac) มีส่วนแบ่งตลาด 22.7%

ดัชนี HHI ก่อนควบรวม อยู่ที่ 3,659 ถือว่าดัชนี HHI โทรคมนาคมในไทย สูงกว่าตลาดสมาร์ทโฟนระดับโลก และถ้าเกิดมีการควบรวมกัน ทำให้เหลือ 2 รายใหญ่คือ เอไอเอส ส่วนแบ่งการตลาด 47.5% และ ทรู กับดีแทค ส่วนแบ่งการตลาด 52.5% ซึ่งส่งให้ค่า HHI หลังควบรวมสูงขึ้นเป็น 5,012 หรือเพิ่มขึ้น 1,353

“ในสหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมมีแนวทางปฏิบัติในการควบรวมกิจการธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือ Horizontal Merger Guideline คือ ถ้าค่า HHI ก่อนควบรวม ต่ำกว่า 1,500 สามารถควบรวมได้ ไม่มีปัญหา (อยู่ในโซนสีเขียว)

แต่ถ้าค่า HHI ก่อนควบรวม สูงเกิน 1,500 ถ้าควบรวม จะเข้าโซนสีเหลือง เป็นโซนเฝ้าระวัง มีการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าค่า HHI ก่อนควบรวมอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว เช่น โทรคมนาคมของไทย ก่อนควบรวมอยู่ที่ 3,659 ถือว่าเข้าโซนสีแดง และการเพิ่มขึ้น 1,353 ดัชนี HHI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมหาศาล

เพราะฉะนั้นหากมีการควบรวมกัน จะเกิดการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นในระดับอันตราย เป็นประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องถกพิจารณากัน”

TDRI_True-dtac

 

จับตาใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์จากการควบรวม ?!?

TDRI รายงานว่าหากเกิดการควบรวมสำเร็จ จะมีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้านลบ

ผู้ได้ประโยชน์คือ

– ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย และผู้ถือหุ้นของทั้ง 3 บริษัท

ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา หุ้นของทั้ง 3 บริษัทกระโดดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทรู และดีแทค แต่เอไอเอสยังได้อานิสงค์ด้านบวกไปด้วย

– ดีแทค หุ้นกระโดดขึ้น 17%

– ทรู หุ้นกระโดดขึ้น 15%

หุ้นสองบริษัทนี้ กระโดดขึ้น เพราะข่าวการควบรวมกิจการกัน ซึ่งนักลงทุนเล็งเห็นว่าสองรายนี้ เมื่อควบรวมแล้วจะเป็นอันดับ 1 ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่

– เอไอเอส แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบรวมกิจการ แต่ราคาหุ้นกระโดดด้วยเช่นกัน ประกอบกับนักลงทุนเห็นว่าตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันด้านราคา การนำเสนอโปรโมชั่นดีๆ และบริการใหม่น้อยลงกว่าการมีผู้ให้บริการ 3 ราย ด้วยนัยนี้ นักลงทุนจึงมองว่าเอไอเอส จะได้ประโยชน์ไปด้วย

TDRI_True-dtac TDRI_True-dtac

ผู้ได้รับผลกระทบด้านลบคือ

– ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยถอยหลังไปก่อนปี 2547

– ผู้บริโภค ทั้งประชาชนทั่วไป เมื่อเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย ทำให้การแข่งขันน้อยลง อาจมีผลต่อค่าบริการ การทำโปรโมชั่น และออกแพ็คเกจที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และทุกธุรกิจ เนื่องจากทุกธุรกิจต้องใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ

– คู่ค้าของบริษัทโทรคมนาคม ทั้งร้านค้า ที่จะมีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง และธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ระดมทุนผ่าน Venture Capital และเข้าโครงการ Accelerator หากเกิดการควบรวม จะมีคนสนับสนุนสตาร์ทอัพหายไปอีกหนึ่งราย

– ผู้เสียภาษี และรัฐบาล เพราะหากมีการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ เช่น 6G ในอนาคต การควบรวมกิจการจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลลดลง ส่งผลให้รัฐมีรายได้ลดลง และเมื่อรัฐมีรายได้ลดลง มีโอกาสที่จะเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีมากขึ้น เพื่อลดการขาดดุลภาครัฐ และหนี้สาธารณะที่กำลังพุ่งสูงขึ้น

– ระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ถ้ามีการควบรวม จะยิ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานมีการผูกขาดเพิ่มขึ้น มีผลต่อการทรานส์ฟอร์ม หรือเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วยต้นทุนสูงขึ้น

TDRI_True-dtac

“เหตุผลที่บริษัททั้ง 2 พูดไว้ในการควบรวมว่า นี่คือ Eco Partnership  เป็นการร่วมมืออย่างเท่าเทียม แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม ผลในทางเศรษฐศาสตร์ คือ “ลดจำนวนผู้ประกอบการ”

ทั้ง 2 รายที่ควบรวมกัน บอกว่าการควบรวมจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยี พาไทยแข่งเวทีโลก และเตรียมพร้อมรับความท้าทายของทั้ง 2 บริษัทใน 20 ปีข้างหน้า คำถามคือทุกวันนี้ทั้ง 2 บริษัท พัฒนาเทคโนโลยีอะไรออกมาบ้างให้เรารู้จักกัน เป็นแบบ Huawei ไหม ทำอุปกรณ์ มีนวัตกรรมต่างๆ มากมาย แต่ผมไม่เคยเห็นว่าบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทย มีพัฒนาการเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ออกมา

ถ้ามองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเกาะเล็กๆ แต่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเต็มไปหมด เช่น Singtel, Starhub ตลอดจนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ซื้อบริการต่อจาก Singtel, Starhub แล้วเอามาขายต่อ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ตั้งแต่แพ็คเกจรายเดือนราคาถูก ไปจนถึงแพ็คเกจ 25 ดอลลาร์ต่อเดือน ใกล้เคียงกับบริการระดับกลางในไทย

เพราะฉะนั้นการควบรวม ไม่ได้เป็นเหตุผลเพื่อรองรับนวัตกรรม จึงต้องมีการควบรวมกัน ไม่ได้เชื่อกับคำกล่าวอ้างเหล่านี้ แต่คือ การเพิ่มอำนาจเหนือตลาด ซึ่งทำให้ตลาดเสี่ยงกับการผูกขาด”

Thailand Mobile Phone

Credit Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

“กสทช. กขค.” มีอำนาจตามกฎหมายป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด

2 หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล และป้องกันไม่ให้เกิดโครงสร้างการผูกขาดธุรกิจตามกฎหมายกำหนดไว้ คือ

กสทช. มีกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 ระบุว่า

การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การอุดหนุนการบริการ

(2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

(3) การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม

(4) พฤติกรรมกีดกันการแข่ง

(5) การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

“กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กสทช. สามารถกำหนดมาตรการป้องกันการถือครองกิจการในบริการประเภทเดียวกันได้ ถ้า กสทช. ไม่ทำอะไร โดย กสทช.ชุดปัจจุบันอ้างว่าจะหมดวาระ ขณะที่คณะกรรมการชุดใหม่ก็ยังไม่มา ถ้าเป็นเช่นนั้น แสดงว่าไม่ได้มีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ ควรมีความรับผิดชอบ อย่างน้อยในทางกฎหมาย

เพราะถ้าเกิดการควบรวมเกิดขึ้น แล้วทำให้เกิดความเสียหาย วันหลังหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. จะไปกำกับดูแล เช่น ควบคุมราคา หรือสั่งให้ลดราคาลงมา ในทางปฏิบัติ กสทช. จะเข้าไปควบคุมทีหลัง ทำได้ยาก นี่คือประเด็นปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ควบรวมไปก่อน แล้วไปแก้ปัญหาเอาข้างหน้า”    

TDRI_True-dtac

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การกระทำของ

(1) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค

(3) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือชุมนุมสหกรณ์ซึ่งมีกฎหมายรังรอง และมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร

(4) ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า

TDRI_True-dtac

“ถ้า กสทช. ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ยังมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า ใช้บังคับกับพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาด การควบรวมกิจการต่างๆ แต่กฎหมายฉบับนี้มีประเด็นให้ตีความกัน เพราะมาตรา 4(4) เขียนว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ให้ใช้บังคับกับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า ซึ่งบริษัทที่อยากควบรวมกิจการอาจโต้แย้งว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ไม่มีอำนาจกำกับดูแล ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 4(4)

แต่โดยส่วนตัว คำว่าธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล แต่หากกฎหมายที่กำกับดูแล ไม่ได้มาตรฐาน ก็มองว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 4(4) และ กขค. สามารถกลั่นกรองการควบรวมกิจการได้

เพราะฉะนั้นด่านแรกที่จะป้องกันการควบรวมที่ผูกขาด คือ “กสทช.” มีอำนาจทำได้ และมีเวลามากพอทำได้

ด่านที่สองคือ “กขค.” มีหน้าที่สะท้อนความเป็นห่วงด้านการแข่งขัน และเป็นหน่วยงานวิเคราะห์การแข่งขันทางการตลาด

ด่านที่สาม คือ รัฐบาล หากหน่วยงานกำกับดูแลไม่เป็นผล แปลว่าหน่วยงานรัฐบาลต้อง Take Action หรือ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรต้องเสนอเรื่องขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการควบรวม

แต่ถ้ากลไกทางการเมืองยังหวังไม่ได้ เป็นหน้าที่ของประชาชน ในฐานะพลเมือง ต้องขับเคลื่อนทางการเมือง เพราะนี่คือ อนาคตของประเทศ ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล ที่โครงสร้างพื้นฐานไม่มีการแข่งขันกัน เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อกดดัน ส.ส. หรือในฐานะผู้บริโภครวมตัวกัน” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

Thailand Mobile Phone

Credit Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like