หลังจากกลุ่มซีพี ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งใหม่ ด้วยการโอนกิจการ Lotus’s ในประเทศไทยและมาเลเซีย ไปอยู่ภายใต้ “แม็คโคร” ทำให้มูลค่ารวมสองธุรกิจอยู่ที่ 429,867 ล้านบาท ก้าวสู่ผู้นำค้าปลีกระดับภูมิภาค
โดย บมจ.สยามแม็คโคร หรือ MAKRO ได้เสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่และหุ้นสามัญเดิมต่อประชาชน หรือ Public Offering (PO) จำนวนไม่เกิน 1,300 ล้านหุ้น และอาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) ไม่เกิน 130 ล้านหุ้น เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 4-9 ธันวาคม 2564
BrandBuffet สรุป 10 เรื่อง ทิศทางธุรกิจ “แม็คโคร-โลตัสส์” และการจองหุ้น MAKRO ดังนี้
1. เคาะราคา PO หุ้นละ 43.50 บาท
– หุ้น MAKRO กำหนดราคา PO สำหรับนักลงทุนทุกกลุ่มจองซื้อที่ 43.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเดียวกับ Swap Price (ราคาแลกเปลี่ยน) ช่วงที่ บมจ.สยามแม็คโคร ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) เพื่อรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จากบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด
– ราคาเสนอขาย 43.50 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาหุ้น MAKRO เฉลี่ยย้อนหลัง 1 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ที่หุ้นละประมาณ 47 บาท โดยมีส่วนลด 7.5% และต่ำกว่าราคาหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 1 เดือน ซึ่งอยู่ที่หุ้นละ 48 บาท โดยมีส่วนลด 9.4%
2. P/E 43.86 เท่า
– ราคาหุ้นเพิ่มทุน MAKRO ที่ 43.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) ประมาณ 43.86 เท่า และอัตราส่วน Enterprise Value to EBITDA (EV/EBITDA) ประมาณ 17.99 เท่า
3. ระดมทุน 6.2 หมื่นล้าน
– การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,300 ล้านหุ้น ที่ราคา 43.50 บาท รวมมูลค่าระดมทุน 56,550 ล้านบาท หากรวมหุ้นส่วนเกินอีก 130 ล้านหุ้น จะมีมูลค่าระดมทุน 62,205 ล้านบาท
– วัตถุประสงค์ระดมทุนสัดส่วน 50% ใช้ขยายธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศของแม็คโครและโลตัสส์ รวมทั้งลงทุนด้านเทคโนโลยี O2O และอีก 50% นำไปใช้หนี้เงินกู้
4. เสนอขายรายย่อย 100 ล้านหุ้น
– หุ้น MAKRO จัดสรรขายให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไป (ไม่ได้ถือหุ้น MAKRO,CPALL,CPF) จำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 43.50 บาท (มูลค่า 4,350 ล้านบาท)
– เปิดให้จองซื้อวันที่ 4-9 ธันวาคม 2564 ที่ธนาคารกรุงเทพและไทยพาณิชย์ทุกสาขา รวมทั้งโมบายแอป Bangkok Bank , SCB EASY และ TrueMoney Wallet โดยหลักทรัพย์ KTBST
– รายย่อยจองซื้อขั้นต่ำ 500 หุ้น หรือ 21,750 บาท และจองเพิ่มเป็นจำนวนทวีคูณของ 100 หุ้น
– จัดสรรวิธี Small Lot First โดย Settrade แต่ละรายรอบแรกได้ 500 หุ้นก่อน หากมีหุ้นเหลือจัดสรรรอบถัดไปรอบละ 100 หุ้น จนกว่าหุ้นจะหมด
– กรณีมีผู้จองซื้อจำนวนมาก ทำให้จัดสรรรอบแรกไม่ได้ครบทุกรายที่รายละ 500 หุ้น ระบบจะ “สุ่ม” จัดสรรให้ผู้จองซื้อรายละ 500 หุ้น จนครบจำนวนหุ้นที่เสนอขาย
– ผู้ไม่ได้รับการจัดสรรหุ้น และจองเกิน จะคืนเงินภายใน 7-10 วัน หลังจากวันจองซื้อหุ้นวันสุดท้าย
5. จัดสรรหุ้นผู้ถือหุ้นเดิม 478 ล้านหุ้น
– กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ 3 บริษัท คือ MAKRO, CPALL และ CPF ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแม็คโครจำนวน 478 ล้านหุ้น (มูลค่า 20,810 ล้านบาท)
– กำหนดสิทธิผู้ถือหุ้นเดิมได้รับการจัดสรรดังนี้
1. ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO ในอัตราส่วน 10 หุ้นสามัญของ MAKRO ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย
2. ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPALL ในอัตราส่วน 15 หุ้นสามัญของ CPALL ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย
3. ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPF ในอัตราส่วน 70 หุ้นสามัญของ CPF ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย
– กลุ่มรายย่อยผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อ วันที่ 4-9 ธันวาคม 2564 ที่ธนาคารกรุงเทพและไทยพาณิชย์ทุกสาขา รวมทั้งโมบายแอป Bangkok Bank และ SCB EASY
– จองซื้อขั้นต่ำ 1 หุ้น และเพิ่มเป็นจำนวนทวีคูณของ 1 หุ้น (จองเกินสิทธิ หรือต่ำกว่าสิทธิได้ จองสิทธิได้ทั้ง 3 บริษัท) จองที่ราคา 43.50 บาทต่อหุ้น
– ระบบ Settrade จัดสรรให้ตามสิทธิการถือหุ้นเดิมของทั้ง 3 บริษัทในรอบแรก กรณีจัดสรรตามสิทธิแล้วมีหุ้น ระบบจัดสรรต่อให้ผู้จองเกินสิทธิ
– คืนเงินค่าจองซื้อหุ้นกลุ่มที่ได้จัดสรรไม่ครบ 7-10 วันทำการหลังวันจองซื้อสุดท้าย
6. ขายหุ้นนักลงทุนสถาบัน 423 ล้านหุ้น
– หุ้นเพิ่มทุน MAKRO เสนอขายให้กลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันจำนวน 14 ราย รวม 423 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 18,400 ล้านบาท หรือ 32.5% ของจำนวนหุ้น PO ที่เสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
7. ธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” วางแผนเปิดปีละ 4-6 สาขา
– “แม็คโคร” ธุรกิจค้าส่ง (Cash and Carry) ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีสาขารวม รวม 145 สาขา อยู่ในประเทศไทย 138 สาขา ต่างประเทศ 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา 2 สาขา อินเดีย 3 สาขา (ภายใต้แบรนด์ LOTS Wholesale Solutions) จีน 1 สาขา และเมียนมาร์ 1 สาขา
– วางเป้าหมาย 3 ปีจากนี้ ขยายสาขาปีละ 10 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ
– ปัจจุบันแม็คโคร จำหน่ายสินค้าผ่าน Makro Stores ซึ่งเป็นช่องทางออฟไลน์ 6 ฟอร์แมท ตามขนาดพื้นที่ขาย สัดส่วนกลุ่มสินค้า และความหลากหลายของสินค้า รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ คือ เว็บไซต์ Makroclick.com แอป Makro Application และ Makro Line Official Account
8. “โลตัสส์” ไทย-มาเลเซียกว่า 2,000 สาขา
– แม็คโคร ได้รับโอนธุรกิจโลตัสส์ ในประเทศไทยและมาเลเซีย จากกลุ่มซีพี มาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยเป็นธุรกิจค้าปลีกแบบ B2C ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) ในรูปแบบ Omni-Channel
– กลุ่มโลตัสส์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านค้ารวม 2,164 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 222 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 192 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 1,750 แห่ง ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในไทย 199 แห่ง มีพื้นที่รวม 720,000 ตารางเมตร (ไม่รวมศูนย์การค้าที่ลงทุนโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท (LPF) รวม 23 แห่ง)
– ธุรกิจโลตัสส์ ในมาเลเซีย มีร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 16 แห่ง และบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า 57 แห่ง มีพื้นที่ให้เช่ารวม 296,000 ตารางเมตร มีอัตราเช่าพื้นที่ 92%
– โลตัสส์ วางเป้าหมาย 3 ปีจากนี้ นำแบรนด์ค้าปลีกไทย ไปปักธงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตจากผู้เล่นในประเทศเป็นระดับภูมิภาค โดยจะขยายสาขาปีละ 10 แห่ง
9. ดันยอดขายออนไลน์ 3 ปี สัดส่วน 15-20%
– ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ในสถานการณ์โควิด-19 พบว่ายอดขายออนไลน์ของแม็คโครและโลตัสเพิ่มขึ้น 60% คิดเป็นยอดขายกว่า 20,000 ล้านบาท
– ปัจจุบันภาพรวมยอดขายออนไลน์ประเภทสินค้าอาหารสดในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 2% ของธุรกิจค้าปลีก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากคาดว่าปี 2568 สัดส่วนออนไลน์สินค้าอาหารสดจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.3%
– แม็คโครและโลตัสส์ วางแผนขยายแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นในปี 2565 โดยแม็คโคร จะให้บริการ Marketplace แบบ B2B ส่วนโลตัสส์ เปิดแอปให้บริการแพลตฟอร์ม B2C ทุกสาขาส่งสินค้าได้ภายใน 1 ชั่วโมง และทั้ง “แม็คโคร-โลตัสส์” จะร่วมกันเปิดบริการใหม่ B2B2C วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ให้ได้ 15-20% ภายใน 3 ปี
10. “แม็คโคร-โลตัสส์” รวมรายได้ 4.29 แสนล้าน เบอร์ 2 ค้าปลีกเอเชีย
– ในปี 2563 แม็คโคร มีรายได้รวม 218,760 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 6,524 ล้านบาท ขณะ โลตัสส์ในไทยและมาเลเซีย มีรายได้รวม 211,107 ล้านบาท และกำไร 1,514 ล้านบาท
– หลังรวมกิจการทั้ง 2 กลุ่มทำให้ MAKRO กลายเป็นบริษัทที่มีรายได้รวม 429,867 ล้านบาท เป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอาเซียน และเป็นเบอร์ 2 ในเอเชีย
– ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2564 มีรายได้รวม 319,563 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,344 ล้านบาท
ไทม์ไลน์จองหุ้น MAKRO
– วันที่ 4-9 ธันวาคม 2564 จองซื้อหุ้น
– วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ประกาศรายชื่อและผลการจัดสรรรายย่อยและผู้ถือหุ้นรายเดิม ที่เว็บไซต์ www.settrade.com
– ภายในเดือนธันวาคม 2564 หุ้นสามัญเพิ่มทุน MAKRO เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ