อาจกล่าวได้ว่า “Metaverse” หรือจักรวาลนฤมิต กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงไม่นานมานี้เอง โดยผู้ที่จุดพลุคำดังกล่าวก็คือซีอีโอ Facebook อย่าง Mark Zuckerberg ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta แล้วเพื่อให้เข้าธีมกับการประกาศวิสัยทัศน์ของบริษัท
มีการคาดการณ์จากบริษัทที่ปรึกษา Strategy Analytics ว่า มูลค่าตลาดของ Metaverse นั้นอาจสูงถึง 6.16 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 นี้ และอาจแตะ 41,620 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นแบรนด์จำนวนมากประกาศบุกโลก Metaverse อย่างเต็มกำลัง
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ตอนนี้ ไม่เพียง Meta ที่เร่งเครื่องเข้าสู่ Metaverse แต่อีกหลายบริษัททั่วโลก รวมถึงประเทศบางประเทศ ก็กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่จักรวาลแห่งใหม่นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราขอสรุปความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ออกมา 10 เหตุการณ์ดังนี้
1. Nike จับมือ Roblox เนรมิตสนามกีฬา “Nikeland”
Nike เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ประกาศตัวลงชิงชัยในจักรวาลใหม่อย่าง Metaverse โดยเป็นการจับมือกับค่าย Roblox สร้างสนามกีฬา Nikeland ขึ้น ภายใน Nikeland ทางแบรนด์บอกว่า มันจะเป็นสนามกีฬาแบบไร้ขีดจำกัด และมีเกมต่าง ๆ ให้เล่นกัน หรือถ้าไม่จุใจ ผู้เล่นจะสร้างเกมของตนเองขึ้นมาก็ได้ นอกจากนั้น ในพื้นที่ดังกล่าวอาจมีสินค้า Nike แบบพิเศษที่เปิดตัวเฉพาะบนโลกเวอร์ชวลให้สะสมอีกด้วย
2. “Metaverse Seoul” โลกเสมือนจริงของเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้ก็น่าจะเป็นรัฐบาลเบอร์ต้น ๆ ของโลกที่มีแผนจะเข้าสู่ “Metaverse” อย่างเป็นทางการเช่นกัน โดยพวกเขาเรียกแผนนี้ว่า “Metaverse Seoul” กับการสร้างพื้นที่จำลองบนโลกเสมือนจริงที่รวมฟังก์ชันต่าง ๆ ของประเทศลงไป ภายใต้งบประมาณ 3,900 ล้านวอน ซึ่งตามแผน Metaverse Seoul สามารถใช้จัดกิจกรรมแบบเวอร์ชวลให้ประชาชนเข้าร่วมได้ รวมถึงอาจบรรจุโบราณสถานอย่างประตู Donuimun ที่เคยถูกทำลายไปเมื่อปี ค.ศ. 1915 ลงในโลกเสมือนจริงใบนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักด้วย
3. บาร์เบโดส สร้างสถานทูต Metaverse เป็นชาติแรก
นอกจาก Nike และเกาหลีใต้ “บาร์เบโดส” ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสนใจ Metaverse เช่นกัน โดยพวกเขาตัดสินใจเปิดตัวสถานทูตแบบเวอร์ชวลบน Decentraland แล้ว และจะเริ่มใช้งานจริงในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
รัฐบาลบาร์เบโดสบอกว่า สถานทูตแบบเวอร์ชวลนี้ เหมาะมากสำหรับพวกเขา เพราะบาร์เบโดสเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ และมีประชากร 2 แสนกว่าคนเท่านั้น ซึ่งในอดีตคงเป็นเรื่องยากที่จะตอบสนองความต้องการของนักเดินทางจากทั่วโลกได้ แต่การสร้างสถานที่จำลองบน Metaverse พวกเขาสามารถเปิดบริการใหม่ ๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่นั่นเอง
4. Meta โชว์ Horizon World และถุงมือต้นแบบ Metaverse
หลังจากขายวิชั่นเรื่อง Metaverse แล้ว ทางมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กก็ไม่ยอมปล่อยให้ชื่อของบริษัทต้องเงียบหาย โดยมีการเปิดตัว Horizon Worlds โลกเสมือนจริงใบใหม่จาก Meta ออกมาให้ใช้งานกันแล้ว (เริ่มในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก่อนเป็นสองประเทศแรก) และอนุญาตให้ผู้เล่นต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ส่วนถุงมือ หรือ Haptic Gloves นั้นถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ Meta มองว่าจะทำให้ผู้ใช้งานสัมผัสสิ่งต่าง ๆ บนโลกเวอร์ชวลได้อย่างสมจริงมากขึ้น และมีแผนจะนำไปผนวกเข้ากับแว่น VR ของทางค่ายอย่าง Oculus ด้วย
5. ซื้อขายที่ดินเวอร์ชวล 81 ล้านบาท
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการซื้อขายที่ดินบนโลกเวอร์ชวลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเกิดขึ้น โดยที่ดินขนาด 500 ตารางเมตรนั้นถูกขายเป็นเงินถึง 2.43 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 81.67 ล้านบาท ผู้ที่ซื้อไปคือบริษัทชื่อ Metaverse Group ที่ให้คำนิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์แบบเวอร์ชวลรายแรกของโลก
การซื้อที่ดินดังกล่าวเกิดจากวิสัยทัศน์ของ Andrew Kiguel ซีอีโอของ Metaverse Group ที่เชื่อว่า สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One หนังไซไฟที่กล่าวถึงโลกอนาคตปี 2045 ที่ผู้คนใช้ชีวิต – ทำงาน – มีความรัก ฯลฯ ในโลกเสมือนจริงจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยนั่นเอง ทางบริษัทจึงมองว่า หากตนเองเข้าไปพัฒนาพื้นที่บน Metaverse รองรับไว้ก่อน ก็น่าจะทำให้ Ecosystem นี้สมบูรณ์เร็วขึ้น
6. Tinder ก็มีแผนสร้าง “Tinderverse”
จากแอปหาคู่ที่เชื่อมคนสองคนบนโลกออฟไลน์ให้มาเจอกัน วันนี้ Tinder เองก็อยากจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์แบบออนไลน์ขึ้นมาจริง ๆ แล้ว โดย Renate Nyborg ซีอีโอของ Match Group เจ้าของ Tinder เผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า Tinderverse โลกเวอร์ชวลที่ผู้ใช้งานสามารถใช้ Tinder coin ซื้อบริการพิเศษเพิ่มเติมได้ และอาจมีการใช้งานแว่น AR หรือ VR เข้ามาเสริมประสบการณ์ให้สมจริงยิ่งขึ้น
7. Microsoft เจาะ Metaverse คนทำงานผ่าน MS Teams
ในขณะที่บริษัททั่วไป มุ่งสู่ Metaverse ในด้านความบันเทิง ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ที่โดดเด่นในโลกการทำงาน ก็ขอเจาะตลาดออฟฟิศแทน โดยในปีหน้า บริษัทจะมีการเปิดตัว Metaverse สำหรับพนักงาน ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams ที่ว่ากันว่าจะทำให้เราเลือกตัวอวาตาร์แทนตัวเราแล้วไปปรากฏตัวในการประชุมออนไลน์ได้
ปัจจุบัน บริษัทมีผู้ใช้งาน MS Teams ประมาณ 250 ล้านคนต่อเดือน
8. Walt Disney ก็ขอมีตัวตนบน Metaverse
ใคร ๆ ก็เข้าสู่ Metaverse กันแล้ว ยักษ์ใหญ่อย่าง Walt Disney เจ้าของคาแรคเตอร์ในตำนานมากมาย ก็คงอยู่เฉยไม่ได้เช่นกัน โดยเมื่อกลางเดือนพฤศจิการยนที่ผ่านมา ทาง Walt Disney ก็ออกมาประกาศแผนว่า บริษัทจะก้าวเข้าสู่ Metaverse ด้วยเช่นกัน และบริการอย่าง Disney+ ก็อาจให้บริการแบบสามมิติด้วย
9. โบอิ้งจะไปสร้างเครื่องบินกันใน Metaverse
ในอนาคต โรงงานผลิตเครื่องบินของโบอิ้ง (Boeing) อาจไม่ได้อยู่ในโรงงานแบบเดิม ๆ ที่เราเคยรู้จักกัน เพราะบริษัทได้ออกมาประกาศแผนว่าพวกเขาจะไปสร้างเครื่องบินกันใน Metaverse ที่ซึ่งวิศวกรสวมแว่น HoloLens ของไมโครซอฟท์ และทำงานร่วมกับแขนกลต่าง ๆ
นอกจากนั้น ทางบริษัทยังมีแผนที่จะลงทุน 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐใน 10 ปีต่อจากนี้ เพื่อปรับองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการออกแบบ – สร้างเครื่องบินในโลก Metaverse นั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีนับจากนี้ด้วย
10. “AIS-อนันดา-ทรู” เปิดตัวพรีเซนเตอร์เสมือนจริง
สำหรับประเทศไทย แบรนด์ที่ก้าวเข้าสู่โลก Metaverse แล้วอาจเป็นสามยักษ์ใหญ่นั่นคือ “เอไอเอส, อนันดา และทรู” ที่เปิดตัวพรีเซนเตอร์เวอร์ชวลของตนเองออกมา (น้องไอรีน, น้องวันนี้ และน้อง IMMA ตามลำดับ) และเมื่อมองหาเหตุผลหลัก ๆ ของการใช้ Virtual Influencer ของแบรนด์แล้วพบว่า ส่วนใหญ่ใช้เพื่อต้องการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพื่อให้การเชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์ – ออฟไลน์เป็นไปอย่างไร้รอยต่อนั่นเอง