HomeBrand Move !!‘สรยุทธ’ยังแรง ‘ช่อง 3’ โกยกำไร 5 ไตรมาสติดกัน ปี 64 พ้นขาดทุน ขยายธุรกิจใหม่ ‘หนัง-เพลง-บริหารศิลปิน’

‘สรยุทธ’ยังแรง ‘ช่อง 3’ โกยกำไร 5 ไตรมาสติดกัน ปี 64 พ้นขาดทุน ขยายธุรกิจใหม่ ‘หนัง-เพลง-บริหารศิลปิน’

แชร์ :

ช่อง 3 เรื่องเล่าเช้านี้

หลังเจอภาวะขาดทุนหนักมาตั้งแต่ปี 2561 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของ “บีอีซี” เจ้าของช่อง 3 ที่กลับมาเห็น “กำไร” อีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 นับถึงปัจจุบันทำกำไรติดกันมาแล้ว 5 ไตรมาส ตัวเลขทั้งปี 2564 จึงมีโอกาสกลับมา “กำไร” แน่นอน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune


สิ่งที่ “บีอีซี” ทำมาต่อเนื่องนับจาก คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ มานั่งบริหารในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform คือการทำคอนเทนต์ 1 ครั้ง ซึ่งมีต้นทุนครั้งเดียว แต่เผยแพร่ได้หลายช่องทาง สร้างรายได้หลายครั้ง

โจทย์หลักคือต้องทำให้ บีอีซี “พ้นขาดทุน” และกลับมาทำกำไรให้ได้ จึงต้องเพิ่มทั้งฝั่งหารายได้ใหม่ๆ จากการขายลิขสิทธิ์ละครในต่างประเทศ (Global Content Licensing) และการสร้างดิจิทัล แพลตฟอร์ม ของตัวเอง คือ CH3Plus พร้อมทั้งเดินหน้า “ลดต้นทุน” ด้วยการลดขนาดองค์กร ลดพนักงาน และตัดทิ้งธุรกิจขาดทุน อย่าง บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ รวมทั้งปิดบริษัทย่อยสำนักข่าวบีอีซี, บีอีซี ไอทีโซลูชั่น, บีอีซี บรอดคาสติ้ง เซ็นเตอร์

ปัจจุบันบีอีซี ซึ่งมีรายได้หลักมาจากโฆษณาช่อง 3 (ช่อง 33) กว่า 80% แต่ปี 2564 ซึ่งยังต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาถดถอย

แต่ช่อง 3 ได้ “กรรมกรข่าว” คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กลับมาจัดรายการข่าวอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ใน 2 รายการข่าว คือ เรื่องเล่าเช้านี้ จันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-8.20 น. และ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.30-12.15 น. เรียกว่าจัดรายการ 7 วันรวด ส่งผลให้เรตติ้งรายการข่าวเพิ่มขึ้น จากแฟนคลับที่ติดตามคุณสรยุทธ กลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้รายได้โฆษณากลับมาโดดเด่นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้

รวมทั้งพิธีกรข่าวคนดัง “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในรายการข่าวเที่ยงวันทันเหตุการณ์และโหนกระแส ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.20-12.35 น. ทำเรตติ้งเบอร์ 1 ในช่วงเวลาที่ออกอากาศมาต่อเนื่อง แน่นอนว่าโฆษณาเต็ม!

CH3 news ช่อง 3 บีอีซี

รายได้ข่าวเพิ่มขึ้น 55%

หากดูรายได้โฆษณา 3 ไตรมาสแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 ของช่อง 3 อยู่ที่ 3,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งได้ดังนี้

– ละคร สัดส่วน 57.2% เพิ่มขึ้น 1.8%
– รายการข่าว สัดส่วน 26.6% เพิ่มขึ้น 55.6%
– วาไรตี้ สัดส่วน 13.3% เพิ่มขึ้น 29.1%

ช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2564 รายได้โฆษณาช่อง 3 เพิ่มขึ้นทุกประเภท “รายการ” ทั้งจากการลงละครใหม่ ทำให้ราคาค่าโฆษณาปรับสูงขึ้นกว่าละครรีรัน

แต่ที่เพิ่มขึ้นชัดเจนคือ “รายการข่าว” ทั้งการเพิ่มขึ้นของ Slots เวลาที่นำเสนอ และการขายโฆษณาในช่วงเวลาที่ออกอากาศได้มากขึ้น โดยเฉพาะรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ และ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ที่คุณสรยุทธ เป็นผู้ดำเนินรายการ

หากย้อนดูรายได้จากรายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” ไตรมาสแรก ปี 2563 มีอัตราการใช้เวลาโฆษณา (Loading) อยู่ที่ 30% ไตรมาสแรกปี 2564 (ก่อนคุณสรยุทธ กลับมา) ขยับมาอยู่ที่ 60% เนื่องจาก ช่อง 3 มีนาทีโฆษณาเพิ่มขึ้น จากโควตาเดิมที่เป็นของบีอีซี เทโรฯ เมื่อมาร่วมกับของช่อง 3 ทำให้จำนวนนาทีขายโฆษณาเพิ่มขึ้น

เมื่อคุณสรยุทธ กลับมาจัด 2 รายการข่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 รวมทั้งเพิ่มเวลารายการเรื่องเล่าเช้านี้ อีก 25 นาที จากเดิมเวลา 6.00-7.55 น. เป็น 6.00-8.20 น. วันละ 2.20 ชั่วโมง ทำให้มีนาทีขายโฆษณามากขึ้น โดยราคา Rate Card (ราคาเสนอขาย) อยู่ที่นาทีละ 2.2 แสนบาท ไตรมาส 2 ปีนี้ อัตราการใช้เวลาโฆษณาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 75% และไตรมาส 3 ขยับขึ้นไปอีกที่ 80-90% ส่งผลให้รายได้จากรายการข่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ส่วนรายการ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” เป็นรายการข่าวที่มีอัตราการใช้เวลาโฆษณาสูงของสถานีมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ปี 2563 อยู่ที่ 50-60% ไตรมาสแรก 2564 อยู่ที่ 75% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อคุณสรยุทธ กลับมา ทำให้อัตราการใช้เวลาโฆษณาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 95% (ราคาโฆษณา Rate Card 2.9 แสนบาทต่อนาที)

จากเรตติ้งข่าวที่เพิ่มขึ้น และอัตราการใช้เวลาค่อนข้างเต็ม ช่อง 3 มองโอกาสปรับขึ้นราคาโฆษณารายการข่าวในปี 2565 เช่น เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์, โหนกระแส (ปกติขายโฆษณาเต็ม 100% มาตลอด)

รวมทั้งละคร 19.00 น. เรตติ้งดีตั้งแต่ต้นปี เป็นอีกความสำเร็จของช่อง 3 ที่ทำเรตติ้งอันดับ 1 ได้ในกลุ่ม 15 ปีขึ้นไป พื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ และเป็นอีกรายการที่ขายโฆษณาเต็ม ปัจจุบัน Rate Card นาทีละ 3.6 แสนบาท และละคร 20.00 น.

ch3 The New Normal

ขยายธุรกิจใหม่ “หนัง-เพลง-บริหารศิลปิน”

ภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platforms ของ บีอีซี จึงมีแหล่งรายได้หลัก 3 ช่องทาง คือ ทีวี ดิจิทัล แพลตฟอร์ม และการขายลิขสิทธิ์ละครในต่างประเทศ (Global Content Licensing) ดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจทีวี รายได้จากโฆษณาและสปอนเซอร์ (tie-in, กิจกรรมออนกราวด์, แพ็กเกจโฆษณาออฟไลน์และออนไลน์)
– ปัจจุบันรักษาตำแหน่งผู้นำเรตติ้งทีวี ในกลุ่มผู้ชมอายุ 15 ปีขึ้นไป พื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมือง เวลา 6.00-24.00 น. จันทร์-อาทิตย์ และช่วงเวลาไพร์มไทม์ 18.00-22.30 น.

2. ดิจิทัล แพลตฟอร์ม คือ CH3 Plus และ CH3 Plus Premium
– โฆษณาออนไลน์ ผ่านช่องทางแอป CH3 Plus (ดูฟรีเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 3.2 ล้านราย) โซเชียลมีเดียของช่อง 3 ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ
– สมัครสมาชิกจ่ายรายเดือนดูคอนเทนต์พิเศษ CH3 Plus Premium ล่าสุดอยู่ที่ 6 หมื่นราย การทำเอ็กซ์คลูซีฟ คอนเทนต์ผ่าน Virtual Conference Call เช่น กิจกรรม Cozy Dinner Live ซึ่งเป็นกิจกรรมทานข้าวร่วมกับดารานักแสดงผ่าน Zoom กิจกรรม One on One on Call ร่วมพูดคุยกับดาราศิลปิน
– ขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้แพตลฟอร์ม OTT (เผยแพร่ในประเทศไทย)

ch3 bec digital platform

3. การขายลิขสิทธิ์ละครในต่างประเทศ (Global Content Licensing)
– ออกอากาศละครในต่างประเทศพร้อมประเทศไทย (Simulcast)
– ขายละครสำเร็จรูป (Finished Product)
– ขายละครให้แพลตฟอร์มต่างประเทศ (เผยแพร่ในต่างประเทศ)

ปี 2564-2565 Netflix ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละคร 6 เรื่องสำหรับการเผยแพร่พร้อมประเทศไทย (Simulcast)

– ไตรมาส 3 ปี 2564 มีละคร 2 เรื่อง คือ ให้รักพิพากษา (Dare to love) และ ดวงตาที่สาม (I See Dead People)

– ส่วนไตรมาส 4 ปี 2564 มีอีก 2 เรื่อง คือ Help me คุณผีช่วยด้วย (Help me! Oh My Ghost) และ เกมล่าทรชน (Game of Outlaws) ปี 2565 เรื่อง พิศวาสฆาตเกมส์ (The Deadly Affair)

– โดยทั้ง 5 เรื่องนี้ เผยแพร่พร้อมประเทศไทยไปใน 10 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บูรไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และติมอร์ตะวันออก

– ส่วนอีก 1 เรื่อง คือ คุณหมีปาฎิหารย์ (The Miracle of Teddy Bear) ที่จะออกอากาศในปี 2565 Netflix ได้ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเผยแพร่พร้อมประเทศไทยไปในภูมิภาคเอเชีย 25 ประเทศ

– นอกจากนี้ VIU ได้ซื้อลิขสิทธิ์ช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ ละครเรื่อง พฤษภา-ธันวา รักแท้แค่เกิดก่อน (May December Romance) ไปเผยแพร่ใน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ส่วนปี 2565 VIU ได้ซื้อลิขสิทธิ์แบบ Simulcast ครั้งแรก กับละครเรื่อง ยมทูตกับภูติสาว (Love Forever After) ไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย

ch3 bec digital platform Netflix

แผนธุรกิจ ปี 2565 บีอีซี เตรียม Diversify หารายได้จากธุรกิจใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งมีดารานักแสดงในสังกัดจำนวนมาก เพื่อโอกาสเพิ่มรายได้ในอนาคต

1. การทำภาพยนตร์ โดยร่วมมือกับบริษัทจัดทำภาพยนตร์ คาดเปิดกล้องถ่ายทำได้ต้นปี 2565 โดยใช้ดารานักแสดงช่อง 3
2. ธุรกิจเพลง เช่น เพลงภาพยนตร์ คาดเห็นผลงานไตรมาสแรก ปี 2565 สามารถใช้ช่องทางต่างๆ ของบีอีซี ทั้งทีวีและดิจิทัล แพลตฟอร์ม ในการเผยแพร่ผลงานได้
3. การบริหารศิลปิน (Artist Management) เพื่อใช้สินทรัพย์ดารานักแสดงที่มีอยู่อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการคัดเลือกศิลปินใหม่เริ่มต้นปี 2565
4. การสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ละครมากขึ้น เช่น การขายลิขสิทธิ์นำไปผลิตเวอร์ชั่นใหม่ รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มโอทีที (Original Content)

ch3 Q3 2021

กำไร 5 ไตรมาสติดกัน ปี 64 พ้นขาดทุน

ในด้านตัวเลขรายได้ บีอีซี หลังเจอกับภาวะขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ 330 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุน 397 ล้านบาท และ ปี 2563 ขาดทุน 214 ล้านบาท

หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในปี 2563 หารายได้จากหลายช่องทาง และมาตรการลดต้นทุน ทำให้ บีอีซี กลับมาทำกำไรตั้งแต่ ไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน รวม 5 ไตรมาสติดกัน

– ไตรมาส 3 ปี 2563 กำไร 60.1 ล้านบาท
– ไตรมาส 4 ปี 2563 กำไร 267.5 ล้านบาท
– ไตรมาส 1 ปี 2564 กำไร 138.8 ล้านบาท
– ไตรมาส 2 ปี 2564 กำไร 184.7 ล้านบาท
– ไตรมาส 3 ปี 2564 กำไร 142.9 ล้านบาท

โดยไตรมาส 3 ปีนี้ บีอีซี มีรายได้รวม 1,272 ล้านบาท ลดลง 3.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
– รายได้ขายโฆษณาช่อง 3 อยู่ที่ 1,062 ล้านบาท ลดลง 7.1% (จากการถอดงบ บีอีซี-เทโรฯ ออกจากงบรวม ทำให้รายได้และค่าใช้จ่ายลดลง) รายได้ของ บีอีซี มาจากการขายโฆษณา 83.5%
– รายได้จากการขายลิขสิทธิ์และอื่นๆ อยู่ที่ 209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8%

ขณะที่ไตรมาส 3 ปีนี้ บีอีซี มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 142.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการพลิกกลับมากำไร 5 ไตรมาสติดต่อกัน

โดย 9 เดือนแรกปี 2564 มีรายได้ 4,118 ล้านบาท กำไรสุทธิ 466 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 196% เป็นการพลิกจากขาดทุน 481 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อนมาทำกำไร

หากดูบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างๆ มองว่าหุ้นบีอีซี Turnaround กลับมาฟื้นตัวแล้ว สรุปทั้งปี 2564 บีอีซี จะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง!


แชร์ :

You may also like