การปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ที่มองเห็นโอกาสทางการตลาดจาก “คนโสด” ถือเป็นกรณีศึกษาให้ผู้ประกอบการและแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย ลองปรับสินค้าให้เข้ากับความต้องการคนโสด อีกกลุ่มกำลังซื้อขนาดใหญ่
ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆ ปรับสินค้าและบริการเจาะตลาดคนโสดกันมากขึ้น อย่างในปี 2562 ร้านสุกี้ MK สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ปรับตัวรองรับความต้องการเทรนด์กินคนเดียว จัดโต๊ะหันเข้ากระจกนั่งเรียงกันเหมือนโต๊ะในบาร์ อุปกรณ์หม้อไฟขนาดเล็กแบบทานคนเดียว มีบริการที่ชาร์จแบต USB บนโต๊ะ เรียกว่าเข้าใจอินไซต์คนโสดอย่างแท้จริง เพราะไปคนเดียวไม่ได้คุยกับใคร ต้องนั่งทานไปเล่นมือถือไป เป็นการนำฟังก์ชั่นแบบร้านกาแฟ มาผนวกกับร้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์คนโสด
จากแนวโน้มกลุ่มคนโสดหรือคนที่ใช้ชีวิตคนเดียวมีมากขึ้น ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่ากรณีศึกษาการปรับตัวธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น เป็นการเรียนรู้จากอุตสาหกรรมที่นิ่งแล้ว อย่าง ทีวี เครื่องซักผ้า อุปกรณ์ครัว ที่ไม่น่ามีลูกเล่นอะไรใหม่ แต่กลับเจอโอกาสจากตลาดครั้งใหญ่ในกลุ่มคนโสด หรือคนที่อยู่คนเดียว อีกขุมทรัพย์กำลังซื้อมหาศาล
พฤติกรรมอยู่คนเดียวในญี่ปุ่น มีมานานแล้ว ทั้งนักศึกษา คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน มีธุรกิจหลายประเภทที่นำเสนอสินค้าและบริการสำหรับคนที่อยู่คนเดียว ตัวอย่าง บริการ Solo Wedding ก็มาจากอินไซต์ของผู้หญิงที่อยากใส่ชุดเจ้าสาวครั้งหนึ่งในชีวิต และอยากถ่ายภาพตัวเองในช่วงอายุที่ยังสาวอยู่แม้เป็นคนโสด จึงเกิดบริการ Solo Wedding ถ่ายรูปชุดเจ้าสาวเพื่อเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึก โดยใช้ช่างภาพผู้หญิง เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสบายใจ
อีกบริการคือ “เช่าเพื่อน” สำหรับคนโสดอยู่คนเดียว และอยากไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ เพราะเพื่อนอาจติดธุรกิจไม่สามารถไปด้วยได้ แต่เราอยากไปเที่ยว จึงมีบริการเช่าเพื่อน รวมทั้ง เช่าแฟนสาว แฟนหนุ่ม ไปเที่ยวหรือไปเดทกัน และโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย ก็เป็นอีกไลฟ์สไตล์ที่คนโสดอยากทำ
เทรนด์ล่าสุดที่ฮิตในญี่ปุ่น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Solo Camping คือการไปกางเต้นท์พักผ่อนท่องเที่ยวในป่าอยู่กับธรรมชาติคนเดียว หลบหนีชีวิตวุ่นวายจากการทำงาน เพื่อเป็นการรีเฟรชตัวเอง จึงมีบริการให้เช่าอุปกรณ์แคมป์ขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งได้ง่ายๆ รวมทั้งบริการเช่ารถยนต์คันเล็กสำหรับคนเดียว
เรียนรู้ 4 เทรนด์คนโสด จากเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น
ในอุตสาหกรรมเก่าแก่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่พัฒนาสินค้ามาจากความคิดเดิม การอยู่อาศัยเป็นครอบครัว จึงออกแบบสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ให้มีขนาดใหญ่ ฟังก์ชันการทำงานหลากหลาย
ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน Work From Home จำนวนมาก ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นก็ต้องปรับตัวเยอะมาก เมื่อคนอยู่บ้านนานๆ ก็ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ทั้งการทำงาน ออกกำลังกาย พักผ่อน
อีกโอกาสที่เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นเห็นมาจากเทรนด์ Koden (เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้คนเดียว) คือเหมาะกับการใช้คนเดียวหรือคนโสด การจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ จึงต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ว่าคนโสดต้องการอะไร จากกรณีศึกษาเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นเจาะกลุ่มคนโสด สรุปได้ 4 เทรนด์ ดังนี้
1.คนโสดต้องการความเรียบง่ายและโดนใจ
จากเดิมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเน้น ฟังก์ชันการทำงานเยอะๆ เช่น ไมโครเวฟ ต้องปรับความร้อนได้หลายระดับ โหมดการทำงานเมนู ต้ม ตุ๋น นึ่ง ตัวเครื่องจะมีปุ่มเยอะแยะ
แต่ความต้องการของคนโสดที่อยู่คนเดียวไม่ต้องการอะไรยุ่งยาก เน้นใช้งานง่าย มีฟังก์ชันหลักๆ ก็พอ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการเจาะกลุ่มนี้ จึงเปลี่ยนจากปุ่มเยอะๆ เป็นการใช้งานเรียบง่าย ปุ่มน้อยๆ และราคาถูกลง
เช่น เครื่องล้างจานขนาดเล็ก แบรนด์ Siroca ล้างจานได้ 5-6 ใบ มีฟังก์ชันแค่ล้างจานธรรมดา กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าโดนใจคนอยู่คนเดียว จากขนาดเล็กใช้งานง่าย มีระบบเติมน้ำลงในแทงค์ได้เอง จาก ปกติเครื่องล้างจานจะเป็นไซส์ใหญ่ ต้องให้ช่างมาต่อท่อน้ำติดตั้งเข้ากับเครื่องล้างจาน การเคลื่อนย้ายจึงไม่สะดวก หากต้องย้ายที่พักใหม่
2.คนโสดต้องการ “เวลา”
เราจะเริ่มเห็นว่าร้านอาหาร และฟู้ดเดลิเวอรี่ จะมีเมนู “อะไรก็ได้” ให้ลูกค้าเลือก คือ ไม่ต้องคิดว่าจะทานอะไร หากกดเมนูนี้ ทางร้านจะเลือกให้เอง เพื่อตอบโจทย์คนไม่มีเวลาคิด ช่วยประหยัดเวลา
คนโสดที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน (First Jobber) อายุไม่เกิน 30 ปี เป็นกลุ่มที่ทำงานเยอะ จึงต้องการเวลา มากที่สุด กลุ่มนี้ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำงานเองอัตโนมัติ ตัวอย่าง แบรนด์ Sharp พัฒนาหม้อหุง-ต้ม-ตุ๋น-นึ่ง อัตโนมัติตั้งเวลาได้ เพียงนำวัตถุดิบทุกอย่างใส่หม้อ จากนั้นตั้งเวลากดปุ่มตอนเช้า กลับจากทำงานตอนเย็นอาหารที่ตั้งเวลาทำไว้ พร้อมรับประทานทันที โดยเฉพาะอาหารบางเมนูต้องใช้เวลาตุ๋นนาน จึงช่วยให้คนโสดประหยัดเวลาทำอาหารและใช้งานง่าย
“อะไรที่ช่วยลูกค้าประหยัดเวลาได้ ก็จะเป็นโอกาสให้ธุรกิจได้”
3.คนโสดต้องการ “ปริมาณ” ที่เหมาะสม
เวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต เรามักจะพบ Pain Point อย่างหนึ่งของคนโสด คือ สินค้า และวัตถุดิบปรุงอาหารหลายอย่างขายด้วยปริมาณขนาดใหญ่ แต่คนโสดไม่ได้ทำอาหารบ่อย วัตถุดิบเริ่มเน่าเสีย อาหารรับประทานไม่หมด
“การขายปริมาณมากและเฉลี่ยราคาถูกลง แต่คนโสดไม่ได้ต้องการสินค้าราคาถูกเสมอไป หากปริมาณมากก็ไม่มีที่เก็บและรับประทานไม่หมด จึงต้องการสินค้าปริมาณพอดี”
จากพฤติกรรมดังกล่าวจึงเห็นร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ต่างจังหวัดในญี่ปุ่น ขายอาหาร กับข้าว ด้วยแพ็กเกจขนาดเล็ก เพราะผู้สูงอายุในญี่ปุ่น และคนโสดรับประทานได้ง่ายๆ ถือเป็นการปรับตัวของฝั่งค้าปลีก
ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เราได้เห็นแบรนด์ Mitsubishi เปิดตัวเครื่องปิ้งขนมปังไอน้ำแบบฝาเปิด ปิ้งที่ละแผ่น ใช้เวลา 2-3 นาที เป็นเครื่องขนาดเล็กที่เก็บรักษาง่าย เหมาะกับคนโสด ทั้งการทำรับประทานและเก็บรักษา
อีกตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าไซส์เล็กขายดี แบรนด์ Doshisha เป็นถังซักผ้าขนาดพกพาพับได้ (foldable washing machine) จุดเด่นคือ พับได้จาก 3 ชั้นพับเหลือ 1 ชั้น ไม่เปลืองพื้นที่จัดเก็บ มีหูหิ้วพกพาไปใช้งานได้ วิธีใช้ง่าย ใส่เสื้อผ้าหรือสิ่งของที่ต้องการซักลงถัง ใส่ผงซักฟอก น้ำ กดปุ่มซัก ใช้เวลาซัก 10 นาที
ปริมาณการซักเสื้อยืด 1 ตัว ชุดชั้นใน 6 ตัว หน้ากากผ้า 13 ชิ้น หรือจะซักผ้าเช็ดหน้า ถุงเท้า เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงน้องหมาน้องแมว
4.คนโสดต้องการ Customized
ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ ความชอบของแต่ละคนแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น จากการเข้าถึงสื่อได้อย่างเปิดกว้าง จึงเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและโดนใจจริงๆ เท่านั้น
ไอเดียการทำตลาด ไมโครเวฟ แบรนด์ Panasonic ในญี่ปุ่นจึงออกแบบให้มีปุ่มเดียว (หมุนซ้ายขวาได้) หน้าจอแสดงผลขนาดเล็ก แต่สามารถเชื่อมต่อกับแอปสมาร์ทโฟน มีฟังก์ชันการทำงานเพิ่มขึ้น เช่น ฟังก์ชันพื้นฐานจากตัวเครื่อง คือ ต้ม อุ่นร้อน แต่หากาใช้แอป จะมีฟังก์ชันให้เลือกเพิ่มขึ้น เช่น ต้มไข่ออนเซ็น
โดยเป็นการปรับแนวคิดของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเดิมจะใส่ฟังก์ชันในตัวเครื่องมาให้เยอะๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าใช้แบบครอบครัวหลายรูปแบบ แต่เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ฟังก์ชันบนเครื่องไม่ต้องเยอะ แต่ให้สิทธิลูกค้าเลือกใช้งานเพิ่มเองจากแอปสมาร์ทโฟน ตามความเหมาะสมของแต่ละคน ที่มีความต้องการแตกต่างกัน
ทั้ง 4 เทรนด์ความต้องการของคนโสด จากกรณีศึกษาเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นนี้ ถือเป็นการปรับตัวตอบโจทย์พฤติกรรมกำลังซื้อผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ที่ผู้ประกอบการไทยและแบรนด์ต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ เจาะกลุ่มคนโสด หรือคนที่ใช้ชีวิตคนเดียว ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ หากเข้าใจความต้องการคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสของธุรกิจ
ที่มา : รายการ Innovative Wisdom สถานีวิทยุจุฬาฯ