HomeBrand Move !!Dyson เปิดข้อมูลคุณภาพอากาศ “กรุงเทพฯ” พบมลพิษสูง

Dyson เปิดข้อมูลคุณภาพอากาศ “กรุงเทพฯ” พบมลพิษสูง

แชร์ :

shutterstock_pollution bangkok

ระหว่างปี 2020 – 2021 ที่ผ่านมา ค่าย Dyson บริษัทเทคโนโลยีจากอังกฤษ ได้ริเริ่มโครงการตรวจสอบคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ทั้งในช่วงที่เกิดการล็อคดาวน์และหลังการล็อคดาวน์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โครงการดังกล่าวจะทำการสำรวจคุณภาพอากาศของ 14 เมืองใหญ่ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ว่าแตกต่างกันอย่างไรระหว่างช่วงล็อกดาวน์กับช่วงคลายล็อกดาวน์ โดยเครื่องมือในการสำรวจคุณภาพอากาศเป็นกระเป๋าเป้หนึ่งใบชื่อ Dyson Air Quality Backpack ที่ทีมวิศวกรของ Dyson พัฒนาขึ้นร่วมกับ Kings College London และ Greater London Authority ภายในมีเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศติดตั้งอยู่ นั่นคือเซนเซอร์สามตัวที่สามารถวัดอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซ NO2 และ VOCs และเซนเซอร์ตรวจจับอนุภาคในอากาศอย่าง PM2.5 และ PM10

สำหรับในอังกฤษ Dyson เริ่มประกาศหาอาสาสมัครที่จะมาสวมกระเป๋าเป้ใบนี้ติดตัวในเดือนมิถุนายน 2020 ทั้งในเวลาเดินทาง เวลาที่ไปออกกำลังกาย (ส่วนหนึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านการออกกำลังกาย) แม้ในช่วงที่โควิดระบาด โดยอาสาสมัครจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปร้านขายของชำ ไปออกกำลังกาย เดินทาง ฯลฯ เพื่อเก็บข้อมูล และเมื่อทางการอังกฤษปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันโควิดให้ผ่อนคลายมากขึ้น ทางอาสาสมัครของโครงการนี้ก็จะต้องออกเดินตามเส้นทางเดิมนั้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศมาเปรียบเทียบกันด้วย

สิ่งที่ Dyson พบก็คือ มลพิษทางอากาศในกรุงลอนดอนลดลงเกือบ 60% ในช่วงเริ่มต้นของการปิดเมือง สอดคล้องกับข้อมูลของ Transport for London ที่เผยว่า การล็อกดาวน์ทำให้การจราจรในย่านใจกลางเมืองของกรุงลอนดอนหายไปถึง 60%

Dyson Air Quality Backpack

Dyson Air Quality Backpack

สิ่งที่ Dyson พบจากกรุงเทพฯ

ส่วนในกรุงเทพฯ Dyson จับมือกับคุณหนุ่ย-พงศ์สุข พิธีกรและอินฟลูเอนเซอร์ด้านไอทีเป็นผู้สะพายกระเป๋าดังกล่าวใน 2 ช่วงเวลา นั่นคือ เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม ปี 2020 และอีกครั้งในเดือนมกราคมปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงฝุ่น PM2.5 หนาแน่นในกรุงเทพมหานคร โดยทั้งสองช่วงได้ใช้ชีวิตโดยมีพฤติกรรมเหมือนกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบคุณภาพอากาศที่ได้รับ

จากการเปรียบเทียบคุณภาพอากาศในสองช่วง ค่าฝุ่น PM2.5 ในอากาศในช่วงที่ 2 ที่เป็นช่วงฝุ่นหนาวัดค่าได้มากกว่าถึง 9 เท่า โดยในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเดือนที่มีอากาศเย็น และฝุ่นควัน PM2.5 หนาแน่น ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งไอเสียจากยานยนต์ สภาพอากาศ ควันจากโซนอุตสาหกรรม รวมไปถึงควันจากกิจกรรมทางการเกษตร

Dyson ยังพบด้วยว่า ระหว่างที่คุณหนุ่ยลงจากรถและเดินทางเข้าอาคารนั้น ระดับฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นถึง 3.8 เท่า เมื่อเทียบกับในรถยนต์

นอกจากนั้น กิจกรรมในแต่ละวันยังส่งผลต่อการเพิ่มของค่ามลภาวะในอากาศด้วย ตัวอย่างเช่น การเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ทำให้ค่า ไนโตรเจนไดออกไซด์ NO2 สูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 50 เท่า ซึ่งถือเป็นคุณภาพอากาศในระดับแย่มาก เมื่อเทียบกับดัชนีวัดค่าคุณภาพอากาศของ Dyson โดยสาเหตุการเกิดไนโตรเจนไดออกไซด์อาจจะมาจากไอเสียจากยานยนต์

dyson มลพิษ กรุงเทพ

และถึงแม้ขณะที่ขับรถยนต์อยู่ภายในห้องโดยสาร ก็ยังสามารถวัดค่า PM2.5 และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound: VOCs) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุมาจากการเบรกรถยนต์และการสึกของยางรถยนต์ที่ถึงแม้จะอยู่ภายในห้องโดยสารก็ยังสามารถสัมผัสกับมลภาวะจากทางนี้ได้

สารมลพิษที่พบได้ทั่วไปในเมือง

จากข้อมูลของ Dyson มลพิษที่พบได้ทั่วไปในเมือง ประกอบด้วย

  • PM2.5 – อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน รวมไปถึงควัน แบคทีเรีย และฝุ่นละออง
  • PM10 – อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เช่น ละออง ฝุ่น สะเก็ดผิวหนังจากสัตว์เลี้ยง และเกสรจากพืช
  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) – ก๊าซอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้จากเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ เทียน และเตาแก๊ส
  • ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) – ก๊าซที่เกิดจากอุตสาหกรรมและการไอเสียรถยนต์
  • สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) – ก๊าซที่เกิดได้จากหลายแหล่ง เช่นสี น้ำยาเคลือบเงา สเปรย์ทำความสะอาด และสเปรย์ปรับอากาศ โดย VOCs เหล่านี้รวมไปถึงฟอร์มัลดีไฮด์ สารระเหยเบนซิน และเครื่องหอมภายในบ้าน

นอกจากกรุงลอนดอน และกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีเมืองใหญ่ทั่วโลกอีก 12 เมืองเข้าร่วมโปรเจ็คนี้ด้วย ได้แก่ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และกรุงเดลี ประเทศอินเดีย กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี สิงคโปร์ ดูไบ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

Source

Source


แชร์ :

You may also like