จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับล่าสุดที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain ที่มีการคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 นั้น นอกจากจะทำให้หลายคนเกิดความหวังแล้ว ตัวเลขนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า การจะไปถึงจุดดังกล่าว แต่ละประเทศต้องพัฒนาอย่างไรด้วย
สำหรับประเทศไทย รายงานฉบับดังกล่าวยังคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท (3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2021 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีอีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า การทำ Digital Transformation จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี (ประมาณ 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2030 ด้วย
ยุโรปมองไทย มีศักยภาพอันดับ 2
อย่างไรก็ดี กว่าจะไปถึงจุดนั้น อาจมีอีกหลายเรื่องที่ประเทศไทยต้องทำความเข้าใจ และลงมือทำ ส่วนจะต้องทำอะไรบ้าง หรือประเทศไทยมีศักยภาพอย่างไรในสายตาชาวโลกนั้น ทางกูเกิล ร่วมกับ AlphaBeta ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐกิจ เปิดผลสำรวจชื่อ “Unlocking Thailand’s Digital Potential” (การปลดล็อกศักยภาพทางดิจิทัลของประเทศไทย) พบว่า
- The European Center for Digital Competitiveness ได้จัดอันดับประเทศไทยเอาไว้เป็นที่ 2 ในด้านประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
- ประเทศไทยมี Internet Economy ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะเติบโต 17% ต่อปีและมีมูลค่า 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025
ทั้งนี้ ผู้สำรวจอย่าง Alphabeta มองว่า การทำ Digital Transformation ประเทศไทยอย่างถูกวิธี จะเป็นการสร้างการเติบโตรอบใหม่ให้กับประเทศไทยได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงานด้วย
8 เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการสร้างการเติบโตให้ประเทศไทย
จากรายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า 65% ของโอกาสทางดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท (5.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) มาจากการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 นอกจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถด้านการฟื้นตัวในระยะยาวของธุรกิจไทยด้วย
AlphaBeta ยังได้เผยถึง 8 เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการสร้างการเติบโตให้ประเทศไทย ว่าประกอบด้วย Cloud Computing, Mobile Internet, Fintech, Advanced Robotics, Additive Manufacturing, IoT, AI และ BigData (ดังภาพข้างต้น)
สำหรับการใช้งานเทคโนโลยีทั้ง 8 ด้านนั้น สามารถประยุกต์ได้ในหลายรูปแบบ เช่น ภาคการผลิตสามารถนำ IoT ไปใช้ในการควบคุมระบบซัพพลายเชน ใช้ BigData เข้ามาวิเคราะห์กระบวนการทำงาน นำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต ภาคการเกษตร สามารถนำ IoT มาช่วยทำ Precision Farming ได้ หรือนำ IoT มาช่วยบริหารจัดการซัพพลายเชน และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความปลอดภัยมากขึ้น
หรือในภาคการขนส่ง สามารถนำ IoT มาใช้สร้างถนนอัจฉริยะ (Smart Roads) ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) ได้ เป็นต้น
2 อุปสรรค สกัดเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต
อย่างไรก็ดี การสำรวจชิ้นนี้เผยด้วยว่า มี 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ที่สกัดการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในไทย นั่นคือ
- บุคลากรขาดความรู้ด้านดิจิทัล โดยมีการอ้างอิงรายงานเรื่อง Future of Jobs Report 2020 ที่จัดทำโดย The World Economic Forum ระบุว่า แรงงานไทยเพียง 55% เท่านั้นที่มี Digital Skills เพียงพอสำหรับการทำงานในอนาคต ขณะที่ในระดับโลก ประเทศที่บุคลากรมีศักยภาพจะมี Digital Skill ประมาณ 65%
- ภาคธุรกิจไม่ให้ความสำคัญ AlphaBeta ยังได้อ้างถึงสำรวจในปี 2020 ที่พบว่า มีเพียง 33% ของธุรกิจไทยที่บอกว่าจะทำ Digital Transformation และจะลงทุนเพิ่มในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ตัวเลขในระดับโลกอยู่ที่ 59%
ส่วนสาเหตุที่ทำให้การนำระบบดิจิทัลไปใช้ของธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยยังคงต่ำอยู่ ทางคุณ Genevieve Lim ผู้บริหารของ AlphaBeta ให้ความเห็นว่า มาจากการขาดแคลนทักษะดิจิทัล ความรู้ด้านเทคโนโลยี และบัณฑิตด้านเทคโนโลยี ที่สถาบันต่าง ๆ ผลิตออกมาได้เยอะจริง แต่ทักษะไม่ตรงกับสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการ รวมทั้งต้นทุนที่สูงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย 5G นั่นเอง
รายงานยังได้ระบุ 3 เสาหลักของการดำเนินการสำหรับประเทศไทยที่นำไปสู่การคว้าโอกาสทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้แก่ การช่วยให้ธุรกิจต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น การปรับปรุงการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาด้านระบบดิจิทัล และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การค้าดิจิทัล ซึ่งในส่วนของการฝึกอบรมทักษะนั้น ได้มีการยกตัวอย่างโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น Digital Leaders Program ของสิงคโปร์ และโครงการ National Strategy for AI ของเกาหลีใต้ไว้เป็นกรณีศึกษาด้วย ขณะที่คุณแจ็กกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย เผยว่า Google มีการเปิดตัวโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยฝึกทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยด้วย เช่น โครงการ Saphan Digital, โครงการ Skillshop, โครงการ Google for Startups Accelerator: Southeast Asia เป็นต้น
คุณ Genevieve Lim กล่าวปิดท้ายว่า “หากมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2030 เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณ 16% ของ GDP ประเทศไทยในปี 2020 โดย 21% ของโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นของภาคผู้บริโภค ค้าปลีก และงานบริการ ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคธุรกิจ ICT แต่อย่างใด”