HomeInsightส่องพฤติกรรมคนไทยหลังเปิดประเทศ ฮาคูโฮโด เผยความสุขเพิ่มขึ้น 9% จับจ่ายใช้สอยพุ่ง-เตรียมฉลองเทศกาล

ส่องพฤติกรรมคนไทยหลังเปิดประเทศ ฮาคูโฮโด เผยความสุขเพิ่มขึ้น 9% จับจ่ายใช้สอยพุ่ง-เตรียมฉลองเทศกาล

แชร์ :

หลังรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ทำให้หลายคนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคักเพื่อหาความสุขและเตรียมเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี 2564 นี้ หลังต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านนานเกือบ 2 ปี จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) และ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด เผยผลวิจัย “พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยประจำเดือนธันวาคม 2564” ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคทางออนไลน์จำนวน 1,200 คน ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้นักการตลาดและแบรนด์ได้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคหลังเปิดประเทศ และสามารถปรับกลยุทธ์ให้รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คนไทยสุขเพิ่มขึ้น

แม้ว่าจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยโดยรวมจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงกังวล ทว่าจากการระบาดที่กินเวลานาน คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) บอกว่า ผู้บริโภคจึงมีการปรับตัว และมีพลังใจที่จะสร้างความสุขกลับมาในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 สถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยผลสำรวจพบว่าคนไทยมีความสุขมากขึ้น 9% และกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงยังพร้อมใจช็อปปิ้งรับความสุขเพิ่มสูงขึ้น 5% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการใช้จ่ายที่น่าสนใจ 2 เรื่อง ดังนี้

1.คนไทยเตรียมวางแผน แบรนด์ควรสร้างธีมเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลแห่งความสุข

ทีมวิจัยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เริ่มมีความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่แบรนด์ต่างๆ ก็ตื่นตัวและอาศัยบรรยากาศในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมามอบรางวัลให้แก่ตัวเองเช่นกัน ถือเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะทำให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะกับสิ่งที่พวกเขาไม่ค่อยได้ซื้อในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติก่อนหน้านี้ และถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีนับจากนี้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่กลับมารุนแรงอีกครั้ง

2.แรงกระตุ้นด้าน “อารมณ์” ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายแบบทันที  

แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะยังมีความกังวลกับสถานการณ์ต่างๆ แต่ความต้องการความสุขของคนไทยยังมีความสำคัญ จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถือเป็นแรงกระตุ้นอารมณ์ ส่งผลไปสู่การจับจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยวภายในประเทศ โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายแบบปัจจุบันทันด่วนได้เป็นอย่างดี ธุรกิจท้องถิ่นต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ส่วนนักการตลาดก็รีบส่งกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ไปสู่สินค้าชุมชนได้มากขึ้น โดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและการรับรู้ของแบรนด์ในชุมชนนั้นๆ เพื่อให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย ถือเป็นกิจกรรมสร้างสุขที่ยั่งยืนจากสังคมสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

สินค้า Top 5 ที่ผู้บริโภคจับจ่ายมากสุด

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการวิจัยครั้งนี้ คุณณัฐนิกา ตันวงค์ประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด บอกว่า “กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิง” มีความสุขเพิ่มสูงขึ้น จากวิถีการดำเนินชีวิตที่กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ หลายโรงเรียนต่างๆ ทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมไปถึงโรงเรียนในต่างจังหวัดเริ่มกลับมาเปิดทำการเรียนการสอน หลังจากที่เรียนออนไลน์กันมานาน

หากจำแนกตามภูมิภาคจะพบว่า ภาคกลาง มีความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จึงมีความกล้าที่จะใช้จ่ายกับของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สินค้าแต่งบ้าน และอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ขณะที่ ภาคตะวันออก มีความหวังว่าการเงินจะฟื้นฟูและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเช่น อุปกรณ์ครื่องเสียง การออกไปกินอาหารนอกบ้านกับครอบครัว และรวมไปถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีผลคะแนนเท่ากันอยู่ที่ 61 คะแนน ส่วนภูมิภาคที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงสุดเท่ากันคือ ภาคอีสานและภาคใต้ ที่เตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขเพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ตัวเอง

เมื่อเจาะลึกในแต่ละช่วงอายุ จะพบว่า ผู้บริโภคอายุ 40-49 ปี โดยเฉพาะผู้มีรายได้หลักของครอบครัว มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้นไม่เกี่ยงเรื่องราคาแพง เพื่อความสะดวกสบายและให้รางวัลให้แก่ตัวเอง โดยผลสำรวจพบว่า 5 กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่

  • อาหารและเครื่องดื่ม 18%
  • โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11%
  • ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 10%
  • การท่องเที่ยวภายในประเทศ 8%
  • เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 7%

ข่าวโควิด-19 ยังมาแรง

ผลสำรวจยังพบประเด็นที่น่าจับตาคือ ความสนใจของคนส่วนใหญ่ยังหนีไม่พ้นประเด็นทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดของผู้บริโภคที่เป็นไปในทิศทางที่มีความหวังมากยิ่งขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยประเด็นข่าวสารบ้านเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่

อันดับที่ 1 ข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  27% ซึ่งลดลง 21 % จากผลวิจัยครั้งที่ผ่านมา

อันดับที่ 2 ข่าวสถานการณ์น้ำท่วม 15%

อันดับที่ 3 ข่าวการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9% แสดงให้เห็นว่าประชาชนสนใจประเด็นข่าวที่มีความหลากหลายมากขึ้นจากครั้งที่ผ่านมา

ส่วนอันดับที่ 4 และ 5 ยังเป็นข่าวสถานการณ์การเมืองและเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ขณะที่อันดับที่ 6 ถึง 10 ตกมาที่ประเด็นข่าวบันเทิง อย่างข่าวของ ลิซ่า แบล็กพิงก์ ข่าวสารในวงการกีฬาฟุตบอล  ไปจนถึงข่าวการลงทุนบิตคอยน์ที่มาแรง ซึ่งต่างเป็นประเด็นข่าวที่ช่วยสร้างความสุขในชีวิตได้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการรอคอยอย่างมีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะต้องดียิ่งขึ้นหลังการล็อกดาวน์อันยาวนาน


แชร์ :

You may also like