นานาทรรศนะจากตัวแทนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย จากงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Post-COVID-19: Rain or Sunshine?” โดยสมาคมไทย–ญี่ปุ่น ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และหอการค้าญี่ปุ่น–กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด–19 และภาครัฐมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวให้ได้ รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสในการสร้างซัพพลายเชนให้สอดคล้องกับ“แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” (Environmental, Social, Governance: ESG) อันจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปบนรากฐานที่แข็งแกร่ง
อนาคตเศรษฐกิจไทยสดใสแน่นอน เพราะทุกปัญหาคลี่คลายเป็นลำดับ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “จีดีพีประเทศไทยปี 2020 ติดลบ 6% จากโควิด-19 และปีนี้ก็ยังคงมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ซึ่งก็อาจไม่ใช่ปีที่ดีนักของเศรษฐกิจไทย แต่รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ให้ได้ ทั้งการจัดการหาวัคซีนให้เพียงพอ และการใช้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่าง ๆ แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ในขณะที่ภาคธุรกิจก็พยายามอย่างเต็มที่ในการสู้กับวิกฤตนี้เช่นกัน เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดที่ต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 3 และกำลังก้าวสู่ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์กำลังสาดแสงส่องเรืองรอง การส่งออกเพิ่ม 15.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จากการเปิดประเทศ ขณะที่ Phuket Sandbox ก็เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน”
“หลังจากเปิดประเทศมาเกือบ 1 เดือน เราเชื่อว่าเรามีความพร้อมและจะกลับไปแข็งแกร่งยิ่งกว่าเคย เรารู้แล้วว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไรภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยทางสาธารณสุข ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 และกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ในช่วงหลังโควิด ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะเปลี่ยนไป และเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น เราต้องเสริมสร้างอุตสาหกรรมหลักของไทยให้ ตลอดจนปรับตัวให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมาย Net Zero GHG Emission ในปี 2065 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น พลังงานหมุนเวียน คลาวด์เทคโนโลยี อีวี ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่มีอยู่แล้วก็ได้นำ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้ และจากการที่เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 3-5 ปีนี้ ก็ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบเพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก มาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น”
“เราเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมาทั้งหมดนี้ จะสอดคล้องกับแผนธุรกิจของเอกชน ทำให้ปีหน้าจะเป็นปีที่แสงสว่างสาดส่อง และจากความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 134 ปี นับตั้งแต่ปี 1887 โดยญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาเนิ่นนาน ดังนั้นเราจะร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นต่อไป”
ไทย–ญี่ปุ่น ร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต
นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาสู่สภาวะปกติได้ หากมีการบริหารจัดการและรับมือสถานการณ์วิกฤตที่ดี รวมถึงมีวัคซีนเพียงพอ โดยญี่ปุ่นได้บริจาควัคซีนให้ไทยแล้วมากกว่า 2 ล้านโดสตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ ที่จำเป็น
“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ไทยให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติแผ่นดินไหวสึนามิที่ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ เราเป็นเพื่อนรักที่สมัครสมานสามัคคีกันมาอย่างยาวนานและร่วมมือกันฝ่าวิกฤตต่าง ๆ มาโดยตลอด”
“อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ในขณะที่ไทยเป็นฐานการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น สิ่งที่เราคาดหวังในอนาคตอันใกล้คือการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่และนวัตกรรมร่วมกัน ขณะที่ความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาร่วมกัน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยญี่ปุ่นจะสนับสนุนไทยที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Model เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากสอดคล้องกับ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น”
ทิศทางนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนและรอบคอบ สถานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง
พร้อมเดินหน้าเร่งพัฒนาทักษะแรงงานยุคใหม่ และยกระดับสิทธิประโยชน์ให้ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางของนโยบายภาครัฐ” ว่า “ไทยพยายามสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและโรคระบาด เราพยายามดำเนินนโนบายต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มยากจน และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มคนว่างงานจากมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่หนี้สาธารณะจะรักษาไว้ที่ระดับ 60-70% ของจีดีพี เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตการระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงต้องสำรองไว้ในระดับนี้ แต่รัฐบาลก็มุ่งเน้นความสามารถในการชำระหนี้ โดยการดูแลให้รายได้ภาครัฐกับภาระดอกเบี้ยมีความสอดคล้องกัน”
“กระนั้น แม้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 แต่ปัจจุบันสถานะการคลังของไทยยังคงแข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องมากพอที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้ ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในไทยทราบดีว่าเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะมาก ทั้ง Physicalและ Social Infrastructure โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว รัฐบาลจึงส่งเสริมและพัฒนาสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ด้านสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่มักพูดถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ก็ควรจะโฟกัสไปที่ธุรกิจสุขภาพและเวลเนส เพราะเป็นเทรนด์สำคัญของโลกเช่นกัน ”
ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงทรรศนะที่น่าสนใจว่า “ถึงเวลาที่เราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ หลังจากพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและบริการมานานหลายทศวรรษ เราจะต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทั้งในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และภาคบริการ ด้วยการนำหุ่นยนต์และนวัตกรรมไฮเทคต่าง ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานทักษะก็ต้อง Reskill/Upskill รวมถึงต้องขยายการส่งออกมากขึ้น”
“เราต้องทำงานหนักมากขึ้นกับข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าต่าง ๆ แผนการของเราภายใน 5 ปีข้างหน้า จะต้องปรับการท่องเที่ยวจากปริมาณสู่คุณภาพ ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีอยู่นานขึ้น ตลอดจนต้องพัฒนาความปลอดภัยและมาตรฐานการบริการให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ต้องอัพเกรด Flagship Industry เช่น ยานยนต์ เพื่อเข้าสู่อีวี ซึ่งรวมถึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับอีวี ที่ขาดไม่ได้คือต้องเน้นอุตสาหกรรมแพทย์ สุขภาพ ยา วัคซีน และอาหารทางเลือก เช่น Plant-Based Food โดยใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในบ้านเราให้เป็นประโยชน์ และไม่เพียงแต่การพัฒนาเฉพาะพื้นที่ ยังต้องขยายการพัฒนาสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย เพื่อสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น”
ส่วนนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า “ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า และการระบาดของโควิด-19 เราจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ เช่น เมื่อปี 2015 ได้เปลี่ยนมาเป็น Sector-Based Approach เพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่โดนใจแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการทำให้โรงงานหรือธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งยกระดับศักยภาพของทรัพยากรกำลังคนให้มีทักษะสูง โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศได้”
ESG ต้องจริงจัง เช่นเดียวกับ Digital Government
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงการมุ่งสู่ ESG ของไทย โดยเน้นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และสังคมต้องร่วมมือกัน ผ่าน Public Private Partnership (PPP) ในการสร้างกลไกตลาดคาร์บอน และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับ Digital Transformation โดยการปรับกระบวนงานและจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
โดย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า “เราจะมุ่งไปสู่ Digital Government ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ และประชาชน” ขณะที่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ กล่าวเสริมว่า “เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลวางแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กฎระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในบ้านเรามากขึ้น”
ขณะเดียวกันงานสัมมนานี้ยังได้รับเกียรติจากนักธุรกิจชั้นนำทั้งจากไทยและญี่ปุ่น รวมถึงข้าราชการระดับสูง ได้แก่ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน และนายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพ ร่วมเสวนาในประเด็นความท้าทายของไทยในการก้าวข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย
สุดท้าย นายกลินท์ สารสิน นายกสมาคมไทย–ญี่ปุ่น และประธานอาวุโส สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย ได้กล่าวสรุปว่า “ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยท่ามกลางประเด็นท้าทายหลายประการที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ภาครัฐและเอกชนเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และคาดว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกมากล่าวในงานสัมมนานี้ จะเป็นประโยชน์และช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”