ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “ไก่ทอดเกาหลี” กลายเป็นเมนูสุดฮิตในไทย และเกิดการขยายตัวของร้านไก่ทอดเกาหลีมากมาย หรือร้านอาหารเกาหลี ก็ต้องมีไก่ทอดเป็นหนึ่งในเมนูของร้าน โดยมีทั้งเป็น Chain Restaurant รุกเปิดสาขาตามโลเคชั่นต่างๆ และเป็นร้านผู้ประกอบการขนาดย่อม ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคไทยมีทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้เขย่าเชนร้านไก่ทอด – เบอร์เกอร์สไตล์ตะวันตก เข้ามาแข่งในเซ็กเมนต์นี้ ด้วยการพัฒนาเมนูไก่ทอดเกาหลีเช่นกัน
กระแสความนิยมที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ยังขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก จากผลสำรวจออนไลน์ รายงานโดย กระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบทแห่งประเทศเกาหลีใต้ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 8,000 คนใน 16 เมืองใหญ่ทั่วโลก พบว่า 13.3% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยรับประทานอาหารเกาหลี และได้เลือก “ไก่ทอดสไตล์เกาหลี” เป็นอาหารเกาหลีที่ชื่นชอบมากที่สุด ตามด้วย กิมจิ 11.9% และบิบิมบัม 10.3%
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ “ไก่ทอด สไตล์เกาหลี” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มาจากการใช้ Soft Power ผ่าน K-Content ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ ศิลปิน-นักแสดงเกาหลี ผลักดันคลื่นกระแสวัฒนธรรรมเกาหลี หนึ่งในนั้นคือ “อาหารการกิน” ให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้คน
คราวนี้เรามาดูประเทศต้นตำรับไก่ทอดสไตล์เกาหลีกันว่า ที่นั่นตลาดไก่ทอดใหญ่แค่ไหน และชาวเกาหลีบริโภคไก่ทอดกันมากน้อยอย่างไร รวมถึงแบรนด์อะไรที่ครองใจผู้บริโภคเกาหลี ?
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ “ไก่ทอด” ในเกาหลี จากอาหารในโอกาสพิเศษ สู่อาหารที่หากินได้ง่ายในชีวิตประจำวัน
หากย้อนไปในอดีต การบริโภคไก่ของชาวเกาหลี นิยมนำมาต้ม หรือตุ๋นในน้ำซุปเท่านั้น ขณะที่จุดเริ่มต้นของ “ไก่ทอด” ในเกาหลี เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเกาหลี มีทหารสหรัฐฯ ไปประจำการที่เกาหลี เมื่อถึงวันเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ด้วยความที่ไม่มีไก่งวงสำหรับใช้ทำเมนูเฉลิมฉลอง จึงได้ใช้ไก่ทั่วไปแทน แล้วนำไปทำเป็น “ไก่ทอด” พร้อมทั้งแบ่งปันให้กับชาวเกาหลีได้รู้จัก
แต่นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้ไก่ทอดเป็นที่แพร่หลายในเกาหลี เพราะผลจากสงครามเกาหลี ทำให้เกาหลีใต้ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก และเคยเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดเป็นเวลากว่าทศวรรษ
ในปี 1960 รายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศเกาหลีใต้อยู่ที่ 79 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ มีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่กว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ขณะที่ปี 2020 รายได้ต่อหัวของประชากรในเกาหลีใต้อยู่ที่กว่า 31,600 ดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสมากนักที่จะรับประทานไก่ เหมือนอย่างทุกวันนี้ที่ใครๆ ก็สามารถหาซื้อรับประทานได้ในชีวิตประจำวัน
ช่วงเวลานั้นการรับประทานไก่ของชาวเกาหลี จะอยู่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น วันเงินเดือนออก มนุษย์เงินเดือนจะซื้อไก่ย่างกลับบ้าน เพื่อรับประทานกันในครอบครัว
แต่ด้วยนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดการพัฒนาทางอุตสาหกรรมต่างๆ และประชากรมีรายได้มากขึ้น นำไปสู่การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นตามมา
เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1970 ความนิยมรับประทานไก่ทอดในกลุ่มผู้บริโภคเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจาก 1. น้ำมันทำอาหารถูกลง และเข้าถึงง่ายขึ้น 2. ไก่ราคาถูกลง และ 3. ร้านไก่สไตล์ตะวันตกเริ่มเข้ามาในเกาหลีใต้
แฟรนไชส์ร้านไก่ทอดในเกาหลีใต้รายแรก คือ “Lim’s Chicken” เปิดให้บริการในปี 1977 ก่อตั้งโดย “Yu Seok-Ho” ได้รับแรงบันดาลใจจากตลาดไก่ทอดในสหรัฐฯ หลังจากที่ตัวเขาเองเดินทางไปสหรัฐฯ ในปี 1975 และได้เห็นแฟรนไชส์ร้านไก่ทอดชื่อดัง “KFC” ขายไก่เป็นชิ้นๆ เมื่อกลับมาเกาหลี Yu Seok-Ho จึงได้เปิดร้านไก่ พร้อมทั้งจำหน่ายเป็นเช็ท 6 ชิ้น
ตั้งแต่นั้นมาการบริโภคไก่ทอด กลายเป็นหนึ่งในเมนูอาหารหลักของชาวเกาหลี จนเชนไก่ทอดระดับโลกอย่าง “KFC” มองเห็นโอกาสตลาดเกาหลี จึงได้เข้ามาลงทุนเปิดสาขาแรกในปี 1984
เมื่อความนิยมรับประทานไก่ทอดมากขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการขนาดย่อมชาวเกาหลีจำนวนมาก หันมาเปิดร้านไก่ทอดจำนวนมาก มีตั้งแต่ซื้อแฟรนไชส์ ไปจนถึงร้านสตรีทฟู้ด
โดยเฉพาะในช่วงยุค 90s ตลาดไก่ทอดในเกาหลีบูมอย่างมาก แต่ละร้านก็มีบริการ Delivery ซึ่งคนเกาหลีส่วนใหญ่อาศัยในอพาร์ทเม้นท์ (อพาร์ทเม้นท์ในเกาหลี เป็นอาคารสูงแบบเดียวกับคอนโดมิเนียม High Rise ในไทย) จะนิยมสั่งไก่ทอดจากร้านค้าที่อยู่ใกล้ให้มาส่ง
ส่งผลให้ตลาดไก่ทอดในเกาหลีเกิดการแข่งขันสูงขึ้น โดยแต่ละร้านพัฒนาส่วนผสม และซอสคลุกเคล้าไก่ทอด เพื่อให้ได้สูตรเด็ดเฉพาะของร้านตัวเอง กลายเป็นไก่ทอดสไตล์เกาหลีอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ “ร้านไก่ทอดเกาหลี” เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบให้คนเกาหลีจำนวนมากตกงาน ทำให้หลายคนหันมาเปิดร้านไก่ทอด
Jeong Eun-jeong ผู้เขียนหนังสือ “The Tale of Chicken in the Republic of Korea” ฉายภาพว่า ร้านไก่ทอดเกาหลีขยายตัวอย่างมากในช่วงกว่า 20 ปีที่แล้ว หลังการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย (หรือที่เรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เริ่มขึ้นในไทย ก่อนจะลุกลามไปยังหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งเกาหลีใต้) ทำให้ผู้ชายเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นกำลังหลักในการหาเงินเข้าบ้าน ต้องตกงาน
ผู้ชายเกาหลีวัยกลางคนจำนวนมาก หันไปซื้อแฟรนไชส์ร้านไก่ทอด เนื่องจากใช้เงินลงทุนเริ่มต้นต่ำ และค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าไม่มาก แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์การทำอาหารก็ตาม
ในเกาหลีมีร้านไก่ทอดกว่า 87,000 ร้านทั่วประเทศ – มูลค่าตลาด 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก กระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบทแห่งประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า ปี 2019 ปริมาณการบริโภคไก่ในประเทศเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ 27.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และคิดเป็น 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการบริโภคไก่ในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 44.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
เมื่อเจาะลึกเฉพาะ “ตลาดไก่ทอด” พบว่า ในปี 2018 มีการประมาณการณ์ว่าในเกาหลีใต้ มีแบรนด์ไก่ทอดมากถึง 84 แบรนด์ และ Korea Economy Daily เคยรายงานว่าในปี 2019 จำนวนร้านไก่ทอดในเกาหลีใต้ มีประมาณ 87,000 ร้านทั่วประเทศ! ซึ่งมากกว่าจำนวนสาขาของเชนร้านอาหารบริการด่วนรายใหญ่ระดับโลกอย่าง “McDonald’s” (แมคโดนัลด์) ที่มีเกือบ 40,000 สาขาทั่วโลก และ “KFC” (เคเอฟซี) ที่มีกว่า 25,000 สาขาทั่วโลก
การเพิ่มขึ้นของร้านไก่ทอดในเกาหลี มาทั้งจากเชนใหญ่ ที่เดินหน้าขยายสาขา และร้านของผู้ประกอบการรายย่อย ที่เปิดร้านไก่ทอดอิสระของตัวเอง และรูปแบบซื้อแฟรนไชส์
สิ่งที่ตามมาคือ การแข่งขันสูงขึ้น นำไปสู่สงครามราคา และการพัฒนาเมนู – สูตรไก่ทอดของตัวเอง รวมทั้งผลักดันให้มูลค่าตลาดไก่ทอดโดยรวมในประเทศเติบโต
“Euromonitor” คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดไก่ทอดในเกาหลีใต้ ปี 2020 อยู่ที่ 7.47 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโต 53% เมื่อเทียบกับปี 2016 เนื่องจากช่วงสถานการณ์ COVID-19 คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยบวกทำให้ตลาดไก่ทอดในเกาหลีใต้โต โดยผู้บริโภคนิยมสั่ง Delivery ไปบริโภคที่บ้าน
สำรวจพฤติกรรมการบริโภคไก่ทอดของผู้บริโภคเกาหลีใต้
“Real Research” ได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคไก่ทอดของผู้บริโภคเกาหลีใต้ จำนวน 3,000 คน ทั้งกลุ่มผู้ชาย และผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ทั้งเหตุผลในการสั่งไก่ทอด ช่วงเวลาที่นิยมรับประทาน ตลอดจนแบรนด์ไก่ทอดที่ได้รับความนิยม พบว่า
1. “ไก่ทอด” เป็นอาหารประจำของครอบครัวชาวเกาหลี และคนนิยมกินคู่กับเบียร์
– 48.87% ของผู้บริโภคเกาหลี สั่งไก่ทอดเพราะสมาชิกในครอบครัวอยากรับประทาน
– 28.47% บอกว่าสั่งไก่ทอดเมื่อต้องการของว่างมื้อดึก
– 18.20% บอกว่าสั่งไก่ทอด เมื่ออยากดื่มเบียร์
– 1.43% บอกว่าสั่งไก่ทอดหลังไปสังสรรค์กับเพื่อน
– 3.03% บอกว่าไม่รับประทานไก่ทอด
นอกจากนี้เมื่อเจาะลึกถึงเหตุผลที่สั่งไก่ทอด เพราะสมาชิกในครอบครัวอยากรับประทาน พบว่า
– 57.40% บอกว่าสั่งไก่ทอด เพราะลูกอยากรับประทาน
– 54.79% บอกว่าสั่งไก่ทอด เพราะสามี/ภรรยาอยากรับประทาน
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าซีนที่ปรากฏในซีรีส์ ที่มีแม่ หรือพ่อหยิบไก่ทอดให้กับสมาชิกในครอบครัวระหว่างรับประทานอาหารมื้อเย็นนั้น จำลองมาจากชีวิตจริงของชาวเกาหลีที่มักจะซื้อไก่ทอดระหว่างทางกลับบ้าน ตอกย้ำให้เห็นว่า “ไก่ทอด” เป็นเมนูโปรดของครอบครัวผู้บริโภคเกาหลีใต้
2. คนเกาหลีรับประทานไก่ทอดมากสุดใน “วันศุกร์ – เสาร์”
ในเกาหลีใต้ มีคำที่ถูกใช้ในวันศุกร์ และวันเสาร์ว่า “Burning Friday” และ “Burning Saturday” คือ การออกไปกินดื่มปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนช่วงกลางคืน หลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งสัปดาห์ เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด ไม่ต้องไปทำงาน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเกาหลี ถึงนิยมรับประทานไก่ทอดในวันศุกร์ และวันเสาร์มากที่สุด
– 40.57% รับประทานไก่ทอดในวันศุกร์
– 31.77% รับประทานไก่ทอดในวันเสาร์
ขณะที่ในวันอาทิตย์ – วันพฤหัสบดี พบว่า
– 3.70% รับประทานไก่ทอดในวันจันทร์
– 3.87% รับประทานไก่ทอดในวันอังคาร
– 6.70% รับประทานไก่ทอดในวันพุธ
– 5.70% รับประทานไก่ทอดในวันพฤหัสบดี
– 7.70% รับประทานไก่ทอดในวันอาทิตย์
3. คนเกาหลีรับประทานไก่ทอดเป็นมื้อเย็นมากสุด
ขณะที่ผลสำรวจช่วงเวลาในการรับประทานไก่ทอด (ยกเว้นไก่ทอดที่เสิร์ฟในโรงเรียนเป็นมื้อกลางวันสำหรับนักเรียน) พบว่า
– 70.90% รับประทานไก่ทอดในช่วงมื้อเย็น/ค่ำ
– 20.50% รับประทานไก่ทอดในช่วงมื้อดึก
– 1.33% รับประทานไก่ทอดเป็นมื้อเช้า
– 4.30% รับประทานไก่ทอดเป็นมื้อกลางวัน
4. “Kyochon” แบรนด์ไก่ทอดที่คนเกาหลีชื่นชอบมากสุด
นอกจากนี้ยังได้สำรวจออนไลน์ถึงแบรนด์ไก่ทอดที่ผู้บริโภคเกาหลีชื่นชอบมากสุด พบว่า
– Kyochon (36.63%) เป็นแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1995 ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในเชนร้านไก่ทอดรายใหญ่ของเกาหลีใต้ และล่าสุดได้ขยายมายังธุรกิจเบียร์
– Goobne (10.77%)
– BBQ (14.20%)
– Cheogajip (3.77%)
– BHC (5.87%)
– Hosigi (4.33%)
จากผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า “ไก่ทอด” ไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารในมื้อหลัก หรือเป็นของว่างเท่านั้น หากแต่ยังเป็นอาหารเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนสั่งไก่ทอดเมื่อครอบครัวอยากรับประทานมากที่สุด (48.87%) เมื่อเทียบกับคนรับประทานไก่ทอดในระหว่างดื่มกับเพื่อน (18.20%) และหลังจากออกไปปาร์ตี้กับเพื่อน (1.43%)
วัฒนธรรม “Chimaek” กินไก่ทอดคู่เบียร์ แรงหนุน “คราฟต์เบียร์ท้องถิ่น” เติบโต
จากผลสำรวจของ “Real Research” จะเห็นได้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่คนเกาหลีนิยมรับประทานไก่ทอด คือ เป็นอาหารคู่กับการดื่มเบียร์ ซึ่งในเกาหลีเรียกว่า “Chimaek”
ทั้งนี้ เดิมทีคนเกาหลีดื่มเบียร์ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในมินิมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น แบรนด์ Hite, Cass แต่การเกิดขึ้นของ “คราฟต์เบียร์ท้องถิ่น” ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
เหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดคราฟต์เบียร์เกาหลีขยายตัวคือ
1. ทั้งวัฒนธรรม “Chimaek” กับ “ตลาดคราฟต์เบียร์” (Craft Beer) เป็นแรงสนับสนุนซึ่งกันและกันที่ผลักดันให้ทั้งตลาดไก่ทอด และเบียร์ไปด้วยกัน
เห็นได้จากแม้แต่เชนร้านไก่ทอด ทั้งของเกาหลีใต้ และเชนจากต่างประเทศ ยังขยายจากธุรกิจไก่ทอด ไปยังธุรกิจคราฟต์เบียร์ ด้วยการผลิตเบียร์ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หรือทำ Collaboration ร่วมกับผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น Kyochon, BBQ และล่าสุดคือ KFC ในเกาหลีได้แตกโปรดักต์ไลน์ผลิตภัณฑ์เบียร์
2. Work From Home และคนรุ่นใหม่แสวงหาประสบการณ์การดื่มเบียร์ใหม่ๆ
สถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนเกาหลีจำนวนมากต้องทำงานจากที่บ้าน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และลดการแพร่ระบาด ทำให้จากเดิมที่คนทำงานนิยมไปดื่มสังสรรค์หลังเลิกงาน เป็นอันต้องงดไป
แต่ในช่วงที่คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น กลายเป็นโอกาสทองของตลาดคราฟต์เบียร์ เพราะผู้บริโภคคนรุ่นใหม่อยากแสวงหาประสบการณ์การดื่มเบียร์ใหม่ๆ มากกว่าเบียร์ที่มีขายทั่วไป
3. คราฟต์เบียร์ สร้างความหลากหลายให้กับตลาดเบียร์– ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
เนื่องจากสร้างความหลากหลาย (Diversity) ทั้งในด้านของแบรนด์ และสินค้าที่ไม่ได้มีแต่รายใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีผู้ผลิตรายใหม่ และผู้ผลิตท้องถิ่น ในด้านประเภทเบียร์ และรสชาติ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในแบรนด์ และสินค้ามากขึ้น
4. ปรับภาษีเบียร์ เพิ่มโอกาสการแข่งขัน “คราฟต์เบียร์พรีเมียม”
รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบกว่า 50 ปีนับตั้งแต่ปี 1968 โดยแก้จากจัดเก็บตามราคา เป็นจัดเก็บตามปริมาณ เริ่มใช้กับเบียร์ และมักก็อลลี (Makgeolli) สาโทพื้นบ้านของเกาหลี มีสีขาวนวล เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างภาษีเบียร์นำเข้า กับเบียร์ในประเทศ
มีการมองกันว่าภาษีสุราฉบับใหม่นี้ ช่วยทำให้ภาษีเบียร์ในประเทศปรับลงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อ “คราฟต์เบียร์พรีเมียม” และ “มักก็อลลีพรีเมียม” ที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากจะสามารถทำราคาแข่งขันได้ จากที่ผ่านมาราคาสูงเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำตลาดคราฟต์เบียร์พรีเมียม และมักก็อลลีพรีเมียม
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand