ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำลำคลองและท้องทะเลทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายปี โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างมลพิษทางทะเลมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2563 ประเทศไทยมีขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องมากถึง 4.23 ล้านตัน[1] เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนไป การทำงานจากที่บ้าน ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจึงเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้บริการรับส่งอาหารออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งร้อยละ 80 ของขยะจำนวนนั้นก็รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมทางน้ำของประเทศ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน พยายามที่จะช่วยกันเก็บกวาดขยะจากคลองจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยคำนึงถึงประโยชน์ในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเดินทางขนส่ง การท่องเที่ยว และอื่นๆ ซึ่งโครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวก็เป็นหนึ่งในโครงการที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่สร้างมลพิษต่อระบบนิเวศน์ทางน้ำของไทย แต่ยังช่วยผลักดันให้ผู้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริหารจัดการขยะได้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย
โครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว เป็นหนึ่งในโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ 9 แห่งทั่วโลก ภายใต้การเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่างโครงการ Benioff Ocean Initiative ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา และมูลนิธิโคคา-โคล่า องค์กรสาธารณกุศลภายใต้ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี ในการสนับสนุนการดำเนินการผ่านความร่วมมือของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ที่มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อป้องกันการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำสู่มหาสมุทร โดยคลองลาดพร้าวได้รับเลือก เนื่องจากเป็นคลองที่ประสบปัญหามลพิษขยะเป็นจำนวนมากและจำเป็นต้องมีการทำความสะอาดเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน จากเดิมที่หน่วยงานในพื้นที่และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ทำงานอย่างหนักในการช่วยทำความสะอาดคลองดังกล่าวอยู่แล้ว
โครงการภายใต้การทำงานของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทยนี้ เริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีเป้าหมายในการเก็บขยะออกจากคลองลาดพร้าว ซึ่งมีระยะทางยาวรวม 12.56 กิโลเมตร ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบและคลองสอง และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยการติดตั้ง ‘เครื่องดักขยะ’ จำนวน 2 เครื่องเพื่อดักจับขยะในคลองลาดพร้าว ร่วมกับการปฏิบัติงานของทีมงานเก็บขยะซึ่งเป็นคนในท้องที่ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2564 สามารถเก็บขยะจากเครื่องดักขยะทั้ง 2 เครื่องนี้ได้มากกว่า 145 ตัน และอีกกว่า 63 ตันจากการเก็บขยะตามลำคลอง เห็นได้ว่าภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี โครงการนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกจากคลองลาดพร้าวไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นจำนวนมาก
การดำเนินงานในโครงการนี้ไม่ใช่แค่การจัดเก็บขยะเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะในคลองที่เก็บขึ้นมาได้ด้วย โดยขยะเหล่านั้นจะผ่านการตากแห้งและคัดแยก เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีบันทึกไว้ตลอดการทำงาน 1 ปีระบุว่า ขยะที่เก็บได้จากคลองนั้นมากกว่าร้อยละ 83 เป็นขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ในจำนวนนั้นเป็นขยะอินทรีย์ร้อยละ 46.8 และขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะโฟม ถึงร้อยละ 36.6 โดยขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เหล่านี้จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ณ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งการผลิตไฟฟ้านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการ ด้วยค่าคุณภาพอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม เสียงรบกวน และคุณภาพน้ำ อยู่ในมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงขี้เถ้า มาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
ในส่วนของขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16.4 ของขยะทั้งหมดที่เก็บขึ้นจากคลองลาดพร้าว (พลาสติกร้อยละ 8.4 แก้วร้อยละ 7.1 และโลหะร้อยละ 0.9) จะถูกแปรสภาพให้ใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยทางมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ได้ทำงานร่วมกับบริษัทบริหารจัดการขยะในพื้นที่ เพื่อจัดส่งวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้ไปยังผู้ผลิต ที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นสิ่งของที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ได้ เช่น สนามเด็กเล่นในชุมชน บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่สินค้าใหม่ เช่น จานร่อน และกำไลลูกปัด ที่มีวางจำหน่ายแล้วในสหรัฐฯ โดยรายได้จากการจำหน่ายจานร่อน และกำไลลูกปัดทั้งหมดนี้ยังกลับมาเป็นเงินสนับสนุนการปฏิบัติงานในโครงการคลองลาดพร้าวต่อไป ซึ่งสินค้าที่ขายได้แต่ละชิ้นนั้นจะเป็นเงินทุนในการเก็บและรีไซเคิลขยะจำนวน 20 ปอนด์ (9 กิโลกรัม)
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางป้องกันปัญหาขยะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป ซึ่งโครงการนี้ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมไปในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน โดยไม่ใช่เพียงแค่ชาวชุมชนคลองลาดพร้าวกว่า 7,000 ครัวเรือนจะได้เห็นคลองที่สะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่โครงการนี้ยังให้อาชีพที่สุจริตและมั่นคงแก่ชาวชุมชนจำนวน 15 คนที่มาร่วมทีมปฏิบัติงานด้วย รวมถึงสนับสนุนการเรียนรูเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะอย่างเหมาะสมในระดับครัวเรือนแก่บุคคลทั่วไป ที่มาร่วมเวิร์กช็อป ณ ศูนย์ปฏิบัติงานของโครงการ ซึ่งช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงวิกฤตขยะทางทะเลที่เป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลก และมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหา
นางซาเดีย แมดส์เบิร์ก ประธานกรรมการ มูลนิธิโคคา-โคล่า กล่าวว่า “มูลนิธิโคคา-โคล่า เชื่อว่าเมื่อพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมมองเห็นคุณค่าร่วมกัน หันมาจับมือและทำงานภายใต้เป้าหมายสำคัญเดียวกัน ย่อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่นเดียวกับที่โครงการนี้กำลังดำเนินอยู่”
“โครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวถือว่ามีพัฒนาการและความคืบหน้าไปอย่างมาก แม้จะดำเนินการมาเพียง 1 ปี แต่ก็สามารถพัฒนาระบบการจัดการขยะที่ดีขึ้นให้กับชุมชนและคนในท้องที่ ซึ่งส่งผลให้คลองลาดพร้าวเป็นคลองที่สะอาดมากยิ่งขึ้น เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รู้ว่าคนในชุมชนรับรู้ถึงความสำคัญของการจัดการขยะอย่างเหมาะสม และเริ่มมีส่วนร่วมกับโครงการในการปกป้องดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมของพวกเขามากขึ้นด้วย” นายนันทิวัต ธรรมหทัย เลขานุการมูลนิธิโคคา-โคล่า ประเทศไทย กล่าวเสริม
“ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่ได้มาจากปริมาณขยะจำนวนมากที่เราเก็บได้จากคลอง แต่คือการที่ผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองอย่างยั่งยืนเพื่อชุมชนที่ดีขึ้น รวมถึงการที่ชุมชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของเรามากขึ้น ขณะที่พนักงานของเราซึ่งก็เป็นคนในชุมชน ได้ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดี และมองว่าโครงการนี้จะช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายในการสร้างชุมชนที่น่าอยู่ได้” นายเจมส์ สกอทท์ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย กล่าว “ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่า และความร่วมมือจากพันธมิตร มูลนิธิฯ ตั้งเป้าที่จะยกระดับการปฏิบัติงานของเครื่องดักจับขยะ ไปพร้อมกับขยายการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อเดินหน้าผลักดันการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในประเทศไทย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิลมากขึ้น และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทางทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชุมชน และระดับโลก”
ด้วยเงินสนับสนุนเพื่อดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง 9 แห่งทั่วโลกเป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 345 ล้านบาท โดยโครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เงินสนับสนุนมานั้น จะสามารถดำเนินการเพื่อช่วยป้องกันการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำสู่มหาสมุทร และส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนต่อเนื่องไปอีก 2 ปี โดยในปี 2565 มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย จะเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ www.terracyclefoundation.org ที่จะจำหน่ายสินค้าซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิลเพื่อผู้สนใจในประเทศไทยด้วย ความสำเร็จจากโครงการนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาขยะในคลองในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่การจัดการกับปัญหาขยะในระดับโลกยังเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือและความพยายามอีกมากเพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
[1] 1 ตันเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม