“อสมท” องค์กรสื่อเก่าแก่ เจ้าของสถานีส่งสัญญาณทีวีแห่งแรกของประเทศไทย จะครบรอบ 70 ปี ในปี 2565 กับความท้าทายของแม่ทัพคนใหม่ รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ ที่เพิ่งรับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ 3 เดือน ประกาศภารกิจสำคัญนำ อสมท กลับมาทำ “กำไร” ให้ได้อีกครั้ง หลังขาดทุนต่อเนื่องมา 6 ปี เพื่อก้าวสู่หุ้นยั่งยืนในปี 2568
ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของ รศ.เกษมศานต์ จากนักวิชาการ ในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาสู่ตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ธุรกิจสื่อที่ถูกมองว่าอยู่ในช่วง “ขาลง”
สะท้อนได้จากผลประกอบการ ที่เคยทำตัวเลขสูงสุดในยุคทีวีแอนาล็อก ปี 2555 รายได้ 5,939 ล้านบาท กำไร 1,768 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ทีวีดิจิทัลและเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น อสมท ต้องเจอกับภาวะ “ขาดทุน” มาต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
ปี 2563 อสมท ขาดทุน 2,019 ล้านบาท ต้องปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เปิดโครงการร่วมใจจากองค์กร ให้พนักงานสมัครใจลาออก เพื่อลดค่าใช้จ่ายบุคลากร จากจำนวน 1,400 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ 970 คน หลังปรับโครงสร้างตัวเลขปี 2564 ดีขึ้นเริ่มโชว์กำไร แต่หลักๆ มาจากค่าใช้จ่ายลดลง ส่วนรายได้ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
ภารกิจพลิกสื่อเก่าสู่ช่องทางใหม่
การตัดสินใจเข้ามานำทัพ อสมท ครั้งนี้ รศ.เกษมศานต์ มองว่า อสมท เป็นองค์กรสื่อแห่งแรกของประเทศไทย อายุ 70 ปี มี Assets จำนวนมาก ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ 62 คลื่น สถานีส่งสัญญาณทั่วประเทศ ที่ดิน รวมทั้งสื่อใหม่ที่พัฒนามาต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่า อสมท ไปต่อได้
“เป้าหมายในฐานะผู้นำองค์กร คือ การนำสิ่งที่เก่าไปอยู่ในช่องทางใหม่ นำสถานีทีวีสื่อเก่า และ Assets ที่มีมาสร้างมูลค่าให้มากที่สุด ในแพลตฟอร์มใหม่ หากทำสำเร็จ ก็จะเป็นทิศทางของ อสมท ในการก้าวสู่ยุคใหม่”
หลังเข้ามารับตำแหน่งในเดือนกันยายน 2564 ซึ่ง อสมท ได้ผ่านการปรับโครงสร้างบุคลากร ลดต้นทุนมาแล้วในปี 2563 ทำให้ผลประกอบการ 3 ไตรมาสแรกปีนี้มีกำไร 100 ล้านบาท ปี 2564 จึงถือเป็นปี Survival เอาตัวรอดได้แล้ว ปี 2565 จะเป็นปี Stable สร้างความมั่นคง จากนั้น ปี 2566-2567 จะเป็นปี Sustainable & Growth ยั่งยืนและเติบโต
วิสัยทัศน์ อสมท ในปี 2565 คือ The Year of Trusted News & Smart Entertainment ตอกย้ำการเป็นองค์กรสื่อที่น่าเชื่อถือ ภายใต้กลยุทธ์ 3R คือ Reinforce – Refresh – Refine
– Reinforce เสริมจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับ Strategic Partner นำเสนอคอนเทนต์สร้างสรรค์เป็นประโยชน์กับสังคม ถูกต้องตรวจสอบได้
– Refresh มุ่งสู่ The Trusted Platform จากจุดแข็งของ “สำนักข่าวไทย” โดยจะใช้หัวข้อ The Trusted นำเสนอคอนเทนต์ประเด็นที่สังคมต้องการข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีช่วงเวลาประจำในทุกสื่อของ อสมท เพื่อสร้างฐานแฟนกลุ่มใหม่ๆ เริ่มจากแพลตฟอร์มออนไลน์
– Refine ต่อยอด Assets เดิมเพื่อสร้างรายได้ ทั้งธุรกิจเดิมทีวี ซึ่งมี Footage สถานการณ์สำคัญจำนวนมาก นำมาสร้างรายได้ผ่าน The Shot แพลตฟอร์มขายลิขสิทธิ์ Footage ทั้ง วิดีโอ ภาพนิ่ง และกราฟฟิก รวมทั้งศึกษาการทำ NFT จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ การต่อยอดด้านการศึกษาจาก MCOT ACADEMY และชัวร์ก่อนแชร์ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่
งัดที่ดินทำเลทองสร้างธุรกิจใหม่
ปัจจุบันรายได้ อสมท มาจากกลุ่มธุรกิจบรอดคาสต์ คือ ทีวี วิทยุ และบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) ในกลุ่มนี้รายได้เติบโตไม่มากจากการแข่งขันสูงในธุรกิจทีวีและวิทยุ ส่วนบริการโครงข่ายมีลูกค้าช่องทีวีดิจิทัลเท่าเดิม รายได้จึงคงที่
กลุ่มที่เป็นความหวังของ อสมท ในการเพิ่มรายได้ช่วง 3 ปีนี้ (2565-2567) คือ ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ (นอน บรอดคาสต์) ในปี 2564 กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 6-8% แต่ในปี 2567 วางเป้าหมายไว้ที่ 22% ส่วนทีวีอยู่ที่ 24-25% วิทยุ 22-23% โครงข่าย 20%
นอกจากการพัฒนา Digital Platforms นำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ในทุกสื่อของ อสมท ที่สร้างรายได้ต่อเนื่องในกลุ่มนี้ การสร้างธุรกิจใหม่และแหล่งรายได้ใหม่ที่สำคัญในปี 2565 คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) ในกรุงเทพฯ แปลงสำคัญ 50 ไร่ ย่านรัชดา – พระราม 9 หลังจากใช้เวลาศึกษาการลงทุนมาหลายปี รูปแบบที่เหมาะสมน่าจะเป็นการให้ดีเวลลอปเปอร์ เช่าระยะยาว 30 ปี โดย อสมท ไม่ต้องร่วมลงทุน แต่มีรายได้คงที่จากค่าเช่าระยะยาว
ในปี 2566 จะมีความคืบหน้าการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากที่ดินย่านหนองแขม 40 ไร่ และ บางไผ่ 59 ไร่ รวมทั้งในภูมิภาค
“การต่อยอดธุรกิจบรอดคาสต์เดิม และสร้างธุรกิจใหม่ ตามแผนยุทธศาสตร์ช่วง 3 ปีนี้ เพื่อทำให้ อสมท มีแหล่งรายได้ใหม่และกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง”
ปี 65 ปรับผังทีวีดิจิทัล-ประมูลคลื่นวิทยุ
สำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล ช่อง 9 MCOT ในปี 2565 ยังใช้จุดขายความเป็น Trusted Content ด้วยรายการข่าว 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ Smart Entertainment ทั้งความบันเทิงและสาระความรู้ จากพันธมิตรคอนเทนต์ อย่าง We TV, MONO ฯลฯ รายการใหม่ช่วงไพร์มไทม์ เช่น รายการเปิดอกเคลียร์ รายการชูวิทย์สะกิดติ่ง ที่ได้ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ในบุคลิกใหม่มานำเสนอ รายการข่าวหุ้น ฯลฯ
พร้อมปรับโฉมธุรกิจ TV Home Shopping ในชื่อ Shop Mania ด้วยการใช้ช่อง 9 MCOT เป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้า โดยมีสินค้าหลัก คือ กลุ่มสุขภาพ ความงาม และเครื่องใช้ในบ้าน รวมถึงเตรียมผลิตสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เพื่อจำหน่ายทาง Shop Mania และขยายช่องทางโปรโมตในทุกแพลตฟอร์มของ อสมท เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค และสร้างคอนเทนต์นำเสนอสินค้าให้น่าสนใจกระตุ้นการตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว
เป้าหมายในระยะยาวของ อสมท คือ การต่อยอดคอนเทนต์ที่มีอยู่ไปใน Platform OTT จะเห็นได้ว่าตลาด OTT เติบโตอย่างรวดเร็วจากพฤติกรรมผู้บริโภคดูผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ รวมถึงสถานีทีวีหลายรายปรับกลยุทธ์มาให้ความสำคัญกับ OTT เพื่อลดความเสี่ยงทีวีดิจิทัลขาลง ปัจจุบันตลาด OTT ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา อสมท ส่งซีรีส์วาย Boy Love ไปลงแพลตฟอร์ม OTT ทั้งในประเทศ อย่าง AISPLAY, WE TV และต่างประเทศ อาทิ GagaOOLala , U-Next ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ให้องค์กร
ธุรกิจวิทยุที่มีอยู่ 62 คลื่น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในปี 2565 ได้เตรียมร่วมประมูลคลื่นวิทยุ ตามที่สำนักงาน กสทช. ประกาศว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2565 โดยคลื่นวิทยุ อสมท ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือ FM 95 ลูกทุ่งมหานคร, FM 96.5 คลื่นความคิด, FM 97.5 Mellow , FM 99 Active Radio FM 100.5 News Network FM 107 MET107 ซึ่งยังเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรให้ อสมท ในช่วงที่ผ่านมา
การตัดสินใจเข้ามาบริหาร อสมท ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของชีวิตนักวิชาการ รศ.เกษมศานต์ ย้ำว่าต้องการใช้ระยะเวลา 4 ปีของเทอมการบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สร้างจุดเปลี่ยนให้ อสมท พลิกกลับมาทำกำไรก้าวเข้าไปสู่ “หุ้นยั่งยืน” ภายในปี 2568 และเป็นองค์กรสื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป