นับว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อ “การท่องเที่ยว” ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ต้องประสบปัญหาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดังเช่นเคย แต่เมื่อวันนี้ ถึงเวลาหลายภาคส่วนในสังคมพร้อมเผชิญหน้ากับโจทย์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน แล้วเดินหน้า “เปิดประเทศ” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ องค์กรขนาดใหญ่ ต้องเป็นตัวจักรสำคัญเพื่อผลักดันให้ธุรกิจกลับมาหมุนเวียนอีกครั้ง เช่นเดียวกับ “สิงห์ปาร์ค เชียงราย” ที่เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ผลักดัน เรื่องการท่องเที่ยวให้จังหวัดเชียงราย
ยิ่งวิกฤต ยิ่งต้องการ “ผู้นำ”
“สิงห์ปาร์ค เชียงราย” ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยวิสัยทัศน์ เดิมตั้งใจใช้พื้นที่ปลูกข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสินค้าหลักของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ อย่างไรก็ตาม หลังจากทดลองอย่างจริงจัง กลับพบว่า ด้วยสภาพอากาศที่มีความไม่แน่นอน จึงทำให้พืชเศรษฐกิจชนิดนี้อาจจะไม่เหมาะสมที่จะปลูกในพื้นที่ จากการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งเทรนด์การท่องเที่ยวพักผ่อนที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้เปลี่ยนให้สถานที่แห่งนี้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยพื้นที่กว่า 8,600 ไร่ โดยเริ่มต้นเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชม ตั้งแต่ปี 2554
สิงห์ปาร์ค นอกเหนือจากจะเป็นหนึ่งในธุรกิจในเครือบุญรอดฯ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็เป็น Social Enterprise หรือ องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ตามนโยบายของ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหานักท่องเที่ยวน้อยลง รวมทั้งผลผลิตในไร่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อ และอัตราการบริโภคมวลรวมลดลง แต่ก็ไม่มีนโยบายลดคนลงแต่ยังใด ยังคงพัฒนาสินค้าเช่นเดียวกับที่ทำมาโดยตลอด จนออกมาเป็นโปรเจ็กท์มากมาย ทั้งมุมการท่องเที่ยว สินค้าเกษตร และคุณค่าทางสังคม
“เราต้องรักษาคน ชาวบ้าน และธรรมชาติบริเวณนี้ นอกเหนือจากเรื่องธุรกิจแล้วยังมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นออกมาเป็นตัวเลขอีกมากอย่างคุณภาพชีวิตของคน สภาพแวดล้อม ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นต้น” คุณพงษ์รัตน์ เหลือธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด กล่าวถึงช่วงเวลา 2 ปีที่ “สิงห์ปาร์ค” ต้องสู้กับโควิด-19
และไม่ใช่แค่จุนเจือคนในพื้นที่ไร่เท่านั้น แต่สิ่งที่สิงห์ปาร์ค มองกลับเป็นการขับเคลื่อนในระดับ “จังหวัด” โดยเชื่อว่าจุดเด่น 3 ประการของเชียงราย ประกอบด้วย 1.ธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่ดี 2. วัฒนธรรม ศิลปินท้องถิ่นดังๆ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ผู้คนอยากมาเยี่ยมชมผลงาน 3. เสน่ห์ของผู้คน อัธยาศัยไมตรีและความเป็นมิตร จะจูงใจนักท่องเที่ยวได้มากพอ และเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับจังหวัดที่ตอนนี้เชียงราย “สิงห์ปาร์ค” ต้องพัฒนาตัวเอง รวมทั้งสร้าง “แม่เหล็กด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ขึ้นมาเพื่อ “สร้างพลวัตร” ให้เกิดการเดินทางทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น และจังหวัดใกล้เคียง ทดแทนรายได้ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ประคับประคองธุรกิจโรงแรม การเดินทาง สร้างรายได้ให้กับจังหวัด ให้ได้ และเพื่อทำให้ได้ผลจริง “สิงห์ปาร์ค” ต้องทุ่มสุดตัว
ยกระดับสินค้าเกษตร เพิ่มสัดส่วนรายได้
สิงห์ปาร์คยังคงให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชน ในการมีส่วนร่วมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ที่ผ่านมาได้ใช้พื้นที่เป็นแหล่งศึกษาทดลองเพาะปลูกพืชหลายชนิด เอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรคุณภาพดี เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศและส่งออกสู่ตลาดโลก
“สิงห์ปาร์ค เชียงราย” มีการจัดสรรพื้นที่เกษตรกรรมแบบผสมผสานอย่างสมบูรณ์ แบ่งพื้นที่ใช้ทำการเกษตรกว่า 3,055 ไร่ มีจุดเด่น คือ ไร่ชาอู่หลงขนาดใหญ่กว่า 600 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกเป็น 3 โครงการ คือ 1. ผลิตชาอู่หลงภายใต้แบรนด์ “บุญรอดฟาร์ม” 2. ชาเขียวมัทฉะและชาเขียวญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ “มารุเซ็น”โดยร่วมมือกับผู้ผลิตชาเขียวรายใหญ่ จากประเทศญี่ปุ่น ผลิตชาเขียวเกรดพรีเมี่ยมในกระบวนการวิธีการผลิตแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ถือเป็นบริษัทที่ผลิต ชาเขียวมาตรฐานญี่ปุ่นแห่งแรกในประเทศไทย และ 3. แปลงชาออร์แกนิค
นอกจากนี้ยังมี “กล้วยหอมทอง” พันธุ์ Gros Michel ที่ได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่น ให้คำปรึกษาองค์ความรู้ร่วมกับทีมวิจัยของสิงห์ปาร์ค รวมทั้งหาตลาด ทำให้กลายเป็นกรณีศึกษาของการส่งสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานในระดับพรีเมี่ยมไปเจาะตลาดญี่ปุ่น ทั้งในแง่ของคุณภาพและความปลอดภัย ที่ได้ JGAP เป็นรายแรกของประเทศไทย เป็นมาตรฐานที่สามารถนำไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นได้ รวมถึงผลไม้อีกหลายชนิดที่เราให้ความสำคัญ และพร้อมทำตลาดผลไม้พรีเมียมในเมืองไทย โดยเน้นคุณภาพ จำกัดจำนวนเพาะปลูก ตัวอย่างเช่น พุทราสายพันธุ์ซื่อหมี่ เมล่อนสายพันธุ์คิโมจิและโมมิจิ ข้าวโพดนมสดเพียวไวท์ฮอกไกโด แมคาเดเมีย และ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ฯลฯ ซึ่งจะทยอยออกวางจำหน่ายรองรับความต้องการในประเทศ
“ความท้าทายของสินค้าเกษตร คือ เรื่องของกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว (Post-harvest) ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ตัดมาแล้วทำยังไงให้คงคุณภาพ ขนส่งอย่างไร ผลไม้ในโลกนี้ แบ่งกลุ่มคร่าวๆ ได้ 2 แบบ คือ แบบที่เก็บเกี่ยวมาแล้วไม่สุกต่อ หรือพวกที่ตัดมาแล้วยังสุกต่อไปอีก อย่างเช่น แอปเปิ้ล กีวี่ สินค้าพวกนี้ สำหรับประเทศที่เชี่ยวชาญเขาจะสามารถคำนวณได้เลยว่า ถ้าส่งไปประเทศนี้ต้องตัดตอนนี้ ทำอย่างไรถึงจะทำให้กระบวนการสุกของมันเกิดขึ้นพอดีตอนที่สินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ขนส่งกี่วัน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ คำนวณ ทดลอง แล้วพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ” คุณพงษ์รัตน์ อธิบาย
ขยับเป้าหมายการท่องเที่ยว ต้องเวิล์ดคลาส
ส่วนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว “สิงห์ปาร์ค” ได้จัดกิจกรรมหลากหลายที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลมายังจังหวัด โดยเริ่มต้นฤดูกาลการท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี กับงาน “ฟาร์ม เฟสติวัล ออน เดอะ ฮิลล์” มหกรรมคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และต่อด้วย “เทศกาลบอลลูนนานาชาติ” ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาและธรรมชาติที่งดงาม จึงได้รับคำชมจากนักบินบอลลูนทั่วโลกที่มาร่วมแข่งขัน ตอกย้ำความ “World-Class Destination” ที่นักท่องเที่ยวต้องมาสัมผัสสักครั้ง
นอกจากนี้สิงห์ปาร์ค ยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดตลอดทั้งปี อาทิ กิจกรรมกีฬา วิ่ง จักรยาน ฯลฯ ซึ่งสนามจักรยานที่นี่ก็ได้มาตรฐานระดับโลกเช่นกัน
และสิ่งที่สิงห์ปาร์คลุยอย่างต่อเนื่องก็คือการเพิ่มกิมมิค ครีเอทกิจกรรมภายในไร่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สดใหม่อยู่เสมอ ดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น และสร้างสีสันให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาแล้ว ต้องหาโอกาสกลับมาอีกเรื่อยๆ เช่น ไฮไลต์สำคัญ “ฟาร์มทัวร์” เปิดให้เข้าชมสวนสัตว์โซนใหม่ “Mini Zoo Touching and Feeding” เป็นโซนสัตว์เล็ก เช่น ม้าเเคระ เเพะเเคระ หมูเเคระ และหนูเเกสบี้ มาจับกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กมาด้วย จุดชงชา “Blend Your Own Tea” ที่ให้ความรู้และเปิดประสบการณ์การเบลนด์ชาในรูปแบบต่าง ๆ และ ลาน Surf Skate Wave Ramp ที่พร้อมต้อนรับนักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ไม่ว่าจะเป็น Skateboard, Inline Skate, BMX และ Surf Skate ด้วยสนามที่ออกแบบตามกฎของสมาพันธ์กีฬาเอ็กซ์ตรีมโลกและ Sup Board หรือ เรือยืนพาย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับ Family Occasion มีกิจกรรมครบ สำหรับทุกเพศทุกวัย
เดินหน้า และประคับประคอง
จากข้อมูลรายงานเชิงวิเคราะห์เรื่องรายได้และการกระจายรายได้ของครัวเรือน พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของจังหวัดเชียงรายเท่ากับ 15,065 บาทต่อเดือน* ส่วนใหญ่ยังอิงกับภาคการเกษตร แน่นอนว่ายิ่งเผชิญกับ Covid-19 จีดีพีของจังหวัดและประเทศไทยก็ยิ่งลดลงไปอีก ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า นักท่องเที่ยวจะหวนคืนมาเมื่อไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นลูกค้าชั้นยอดของ “เชียงราย” ก็คงได้แต่อาศัยกำลังซื้อภายในประเทศประคับประคองกันไปในยามนี้
“ถ้าเราเอ็นจอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วคาดหวังว่ามันจะเป็นแบบนั้นตลอดไปก็คงลำบาก ถ้าเราไม่ทันโลกเราจะเหมือนถอยหลัง เราต้องคิดถึงสิ่งใหม่” นี่คือสิ่งที่ คุณโจ–พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กล่าวทิ้งท้าย
*อ้างอิง https://chiangrai.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/17/2021/02/Year-2563_opt_opt.pdf