HomeBig Featuredสรุปบิ๊กดีลแห่งปี 2021 ซื้อกิจการ-ควบรวม ‘4 แสนล้าน’

สรุปบิ๊กดีลแห่งปี 2021 ซื้อกิจการ-ควบรวม ‘4 แสนล้าน’

แชร์ :

big deals 2021

ปี 2021 แม้ยังต้องเจอกับผลกระทบโควิด-19 อย่างหนักต่อเนื่องจากปีก่อน แต่หลายธุรกิจยังมีความเคลื่อนไหวคึกคักในการ “ซื้อกิจการ-ควบรวมบริษัท” แต่ละบิ๊กดีลมูลค่าหลักหมื่นล้านไปถึงแสนล้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้าปลีก โทรคมนาคม พลังงาน ธนาคาร ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Brand Buffet ขอสรุป 6 บิ๊กดีลแห่งปี 2021 ดังนี้

cpn sf 2021

1. CPN ซื้อกิจการ SF กวาด 19 ศูนย์การค้าเข้าพอร์ต

เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ใช้เวลากว่า 3 เดือนนับจากกรกฎาคม 2564 ที่ประกาศซื้อกิจการทั้งหมดของ สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ (SF) ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าแบบเปิดของประเทศไทย เช่น เมกา บางนา, เอสพลานาด, ลา วิลล่า, เจ.อเวนิว รวม 19 โครงการ

โดยจบดีลตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ใช้เงินไป 23,568 ล้านบาท ได้หุ้นรวม 96.24% เตรียมเพิกถอนหุ้น SF ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ย้อนดู CPN เจ้าของอาณาจักรศูนย์การค้าเบอร์หนึ่งในประเทศไทย เข้าซื้อกิจการ SF เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall นั่นคือ “เมกา บางนา” โครงการที่ประสบความสำเร็จ จิ๊กซอว์ต่อยอดการลงทุนร่วมกับ “อิเกีย” ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกของโลกต่อไปในอนาคตได้

โดยเริ่มปฏิบัติการเข้าซื้อกิจการ SF เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จากผู้ถือหุ้นใหญ่ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” (MAJOR) ทั้งหมดจำนวน 647,158,471 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 12 บาท หรือสัดส่วน 30.36% มูลค่า 7,765 ล้านบาท จากนั้นประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) ของ SF ในราคาหุ้นละ 12 บาท ด้วยวงเงินอีก 17,817 ล้านบาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 25,583 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 CPN เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมจาก 4 กลุ่มผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร SF คือ 1.กลุ่มคุณอรณพ จันทรประภา 2.กลุ่มคุณพงศ์กิจ สุทธพงศ์ 3.กลุ่มคุณนพพร วิฑูรชาติ 4.กลุ่มคุณสมนึก พจน์เกษมสิน รวม 464,622,917 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.79% มูลค่า 5,575 ล้านบาท

ปฏิบัติการสุดท้ายตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดของ SF จากผู้ถือหุ้นทุกรายเป็นเวลา 25 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน – 18 ตุลาคม 2564 รวม 932,550,343 หุ้น คิดเป็น 43.74% มูลค่า 11,191 ล้านบาท

สรุปรวมหุ้น SF ที่ CPN ซื้อมาได้ทั้งหมด 1,964,178,429 หุ้น สัดส่วน 92.13% ส่วนที่ CPN ถืออยู่ก่อนแล้ว 87,589,200 หุ้น สัดส่วน 4.11% รวมจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,051,767,629 หุ้น สัดส่วน 96.24%

ถือเป็นการปิดดีลซื้อหุ้น SF อย่างเป็นทางการของ CPN รวมการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ SF มูลค่า 23,568 ล้านบาท ได้ศูนย์การค้าเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโออีก 19 แห่ง รวมพื้นที่ 426,044 ตารางเมตร และที่ดินรอการพัฒนาอีกหลายแปลง และเตรียมเพิกถอนหุ้น SF ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปัจจุบัน CPN เป็นเจ้าของศูนย์การค้า 36 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 1.8 ล้านตารางเมตร การเข้าซื้อกิจการ SF ทำให้ได้พอร์ตโฟลิโอในกลุ่ม “คอมมูนิตี้ มอลล์” และที่ดินรอการพัฒนาในทำเลศักยภาพสูงทั้ง CBD ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ อีกหลายแปลง ตอกย้ำเบอร์หนึ่งธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทย

gulf tender offer intuch

2. GULF ทุ่ม 4.8 หมื่นล้าน ปิดดีลซื้อ INTUCH นั่งผู้ถือหุ้นใหญ่ 42.25%

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของ คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีอันดับ 5 จากการจัดอันดับนิตยสารฟอร์บส เอเชีย ปี 2564 และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 35.55% ปิดดีลเข้าซื้อหุ้น INTUCH รวมถือหุ้น 42.25%

นับตั้งแต่ปี 2563 GULF ซึ่งอยู่ในธุรกิจพลังงาน ได้ทยอยซื้อหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH มาต่อเนื่อง ถึงวันที่ 16 เมษายน 2564 เข้าถือหุ้น INTUCH ด้วยสัดส่วน 18.93% มากเป็นอันดับ 2 รองจาก SINGTEL

ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2564 คณะกรรมการ GULF อนุมัติลงทุนในหุ้นสามัญของ INTUCH ทั้งหมด (Tender Offer) หรือไม่เกิน 81.07% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 65 บาท

หลังสิ้นสุดการทำ Tender Offer เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 สรุป GULF ได้หุ้น INTUCH มาเพิ่มอีก 23.32% มูลค่า 48,611 ล้านบาท

เมื่อรวมกับหุ้นเดิมในมือ ทำให้ GULF มีหุ้น INTUCH รวม 1,354,752,952 หุ้น หรือสัดส่วน 42.25% ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้น INTUCH อันดับ 1 แซงหน้า SINGTEL ที่ถือหุ้นอยู่ 21% โดยคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ได้เข้ามาร่วมนั่งเป็นบอร์ด INTUCH ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564

GULF ซึ่งทำธุรกิจพลังงาน เข้าซื้อหุ้น INTUCH ด้วยเหตุผลว่าเป็น Holding Company ลงทุนหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 5G เทคโนโลยี ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและธุรกิจอื่นๆ รวมถึงสตาร์ทอัป เช่น Fin Tech, Health Tech, Robotic Ed Tech และ E-commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตในยุคดิจิทัล

GULF จึงเห็นว่า INTUCH เป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่ยุคดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้ จึงต้องการเข้ามาลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

scb x bitkub

3. SCB ปิดดีลซื้อหุ้น Bitkub 51% มูลค่า 1.7 หมื่นล้าน

หลังจากเดือนกันยายน 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อายุ 115 ปี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2519 ได้ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จัดตั้งยานแม่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน SCB  เพื่อทำธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) ปลดล็อกข้อจำกัดจากธุรกิจธนาคาร สู่ Tech Company วางเป้าหมาย 5 ปี ขึ้นชั้นบริษัทระดับภูมิภาค มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) แตะ 1 ล้านล้านบาท

บิ๊กดีลของยานแม่ SCBX ในเดือนพฤศจิกายน ที่กลายเป็น Talk of the Town คือการประกาศเข้าลงทุนใน Bitkub ด้วยการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่ารวม 17,850 ล้านบาท ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)

ที่สำคัญดีลนี้ได้ส่งผลให้ Bitkub ก้าวขึ้นสู่สถานะ “ยูนิคอร์น” ตัวที่ 3 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ กับมูลค่าบริษัทกว่า 35,000 ล้านบาท หรือเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การตัดสินใจเข้าไปลงทุนใน Bitkub ของ SCBX เพราะเห็นโอกาสการเติบโตในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว

หลัง SCBX เข้าไปลงทุนใน Bitkub ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย จะช่วยให้ SCBX เติบโตไปกับโลกใหม่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยานแม่ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินและมีแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีหลากหลาย เป็นบริษัทไทยที่ก้าวสู่ International Player แข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้

true dtac brandbuffet

4. True ควบรวม Dtac มูลค่า 2.5 แสนล้าน ขึ้นเบอร์ 1 ผู้ใช้มือถือ 

หลังมีกระแสข่าวควบรวมกิจการของ 2 ค่ายโทรคมนาคม เบอร์ 2 และ เบอร์ 3 ของ True และ Dtac มาเป็นระยะ ในที่สุดดีลนี้ก็เป็นจริง

เมื่อทั้งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ True และ บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จํากัด (มหาชน) หรือ dtac ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 สรุปดีลควบรวมบริษัทที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนี้

1.ทรู และ ดีแทค ได้ศึกษาความเป็นไปได้และดําเนินการตามขั้นตอน “ควบรวมบริษัท” ระหว่างกัน ภายใต้ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ.2535 (การควบบริษัท) และอนุมัติให้ ทรู และ ดีแทค ทำความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (MOU) เพื่อพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจ

2.ทรู ได้กำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับการจัดสรรหุ้นใน “บริษัทใหม่” ที่เกิดจากการควบรวมบริษัท ให้ผู้ถือหุ้นเดิม คือ 1 หุ้นเดิมของทรู เท่ากับ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน ดีแทค เท่ากับ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่

– การจัดสรรหุ้นดังกล่าว จากสมมติฐานว่า หลังการควบรวมบริษัท “บริษัทใหม่” จะมีหุ้นที่ออกมาจำหน่ายแล้วทั้งหมด 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยทรู จะถือหุ้น 58% และดีแทค 42%

– หากดูมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564 True อยู่ที่ 152,158 ล้านบาท ส่วน Dtac อยู่ที่ 104,775 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมจะมีมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท

3.จัดตั้งบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด (Citrine Global) จะเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้น ทรูและดีแทค โดย “ซิทริน โกลบอล” เป็นบริษัทร่วมทุน (JV) ระหว่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ผู้ถือหุ้นทรู) และ Telenor Asia (ผู้ถือหุ้นดีแทค)

4.ซิทริน โกลบอล จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ “ทรู” โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท และซื้อหุ้น “ดีแทค” ในราคาหุ้นละ 47.76 บาท

ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ สรุปว่าการตัดสินใจควบรวมบริษัทดังกล่าว เป็นการทำเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งต้องการการลงทุนในอีกหลายส่วนทั้งด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และจะมีปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้งกองทุน (Venture Capital) มูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,300-6,600 ล้านบาท) เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัปไทยและสตาร์ทอัปต่างประเทศ

ปัจจุบัน TrueMove H มีฐานลูกค้า 32 ล้านเลขหมาย รวมคลื่นความถี่ 1020 MHz ส่วน Dtac มี 19 ล้านเลขหมาย รวมคืนความถี่ 330 MHz เมื่อควบรวมกันจะมีฐานลูกค้า 51 ล้านเลขหมาย จากเดิมที่เป็นเบอร์ 2 และ 3 ในตลาด จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 มากกว่า AIS ที่มีฐานลูกค้า 43.7 ล้านเลขหมาย (AIS มีคลื่นความถี่รวมมากที่สุด คือ 1420 MHz)

แต่การควบรวมกิจการของเบอร์ 2 และ 3 ในกิจการโทรคมฯ ครั้งนี้ ต้องผ่านการพิจารณาของ กสทช. หน่วยงานกำกับดูแลให้ได้ก่อน และคงต้องรอบทสรุปในปี 2565

citi bank

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

5. กรุงศรี เดินหน้าปิดดีล Citi ในไทย คาดมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท 

เดือนเมษายน 2564 ได้มีประกาศจาก Citigroup Inc. ที่วางแผนออกจากธุรกิจ Consumer Banking หรือ Retail Banking ใน 13 ตลาด ทั้งภูมิภาคเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บาห์เรน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน เวียดนามและไทย เพื่อลดต้นทุนในธุรกิจ Consumer Banking และหันมาโฟกัสธุรกิจสายสถาบันธนกิจ หรือ ICG (Institutional Clients Group) และวาณิชธนกิจ (Investment Banking) แทน

ต่อมาเดือนตุลาคม 2564 ปรากฏชื่อ “ธนาคารกรุงเทพ” และ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ Consumer Banking ของ Citi ในประเทศไทย ที่คาดว่ามีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 66,000 ล้านบาท)

ก่อนสิ้นปี 2564 ในเดือนธันวาคม สื่อต่างประเทศได้รายงานว่า Citigroup Inc. ได้เลือกผู้ที่เสนอราคาประมูลซื้อสินทรัพย์ในส่วน Consumer Banking ในภูมิภาคเอเชียบางประเทศมาเจรจาแล้ว

สำหรับในประเทศไทย Citigroup Inc. ได้เลือก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ในเครือ Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. ของญี่ปุ่น เข้ามาพูดคุยในการซื้อสินทรัพย์ธุรกิจลูกค้ารายย่อยในไทย โดยมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินธุรกิจ Consumer Banking ในไทยจากการประมูลซื้อครั้งอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 66,000 ล้านบาท

6. ปิดดีลประวัติศาสตร์ กลุ่มเซ็นทรัล จับมือ ซิกน่า ซื้อกิจการ Selfridges ในยุโรป 18 แห่ง

หลังเป็นกระแสข่าวตลอดเดือนธันวาคม ว่ากลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เตรียมเข้าซื้อกิจการ ห้างสรรพสินค้า เซลฟริดเจส (Selfridges) อายุกว่า 100 ปี

ในที่สุดวันที่ 24 ธันวาคม 2564 กลุ่มเซ็นทรัล ได้ประกาศปิดดีลประวัติศาสตร์ เข้าซื้อกิจการกลุ่มเซลฟริดเจส ในยุโรปทั้งหมด ร่วมกับกลุ่มซิกน่า (Singa Holding) หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ของยุโรป ในสัดส่วนร่วมทุน 50:50

โดยกลุ่มเซ็นทรัล จะลงทุนในส่วนของธุรกิจห้างสรรพสินค้า ที่ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ

การเข้าซื้อกิจการกลุ่มเซลฟริดเจส จากตระกูลเวสตัน (Weston) ครั้งนี้ ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 18 แห่ง อาทิ ห้างสรรพสินค้า เซลฟริดเจส (Selfridges) บนถนนออกซ์ฟอร์ด ในกรุงลอนดอน, แมนเชสเตอร์ และเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ, ห้างสรรพสินค้าดี แบนคอร์ฟ (de Bijenkorf) ประเทศ เนเธอร์แลนด์, ห้างสรรพสินค้า บราวน์ โทมัส (Brown Thomas) และ อาร์นอตส์ (Arnotts) ประเทศไอร์แลนด์ โดยการร่วมทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนทั้งในธุรกิจห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งหมด

Selfridges

Selfridges

กลุ่มเซลฟริดเจส จะเข้ามาเสริมทัพห้างสรรพสินค้าหรูในประเทศท่องเที่ยวชั้นนำ ที่กลุ่มเซ็นทรัล และซิกน่าดำเนินธุรกิจอยู่ อาทิ รีนาเชนเต ประเทศอิตาลี, อิลลุม ประเทศเดนมาร์ก, โกลบุส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, กลุ่มคาเดเว ประเทศเยอรมนี และประเทศออสเตรีย

หลังจากเข้าซื้อกิจการกลุ่มเซลฟริดเจส จะทำให้ยอดขายในกลุ่มห้างสรรพสินค้าหรูทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านยูโร ในปี 2019 คาดว่าจะเติบโตถึง 7,000 ล้านยูโรในปี 2024 จาก 8 ประเทศ และ 35 เมืองสำคัญในยุโรป

คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “ห้างเซลฟริดเจส บนถนนออกซ์ฟอร์ด ซึ่งตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางบนถนนช้อปปิ้ง กรุงลอนดอน มากว่า 100 ปี ด้วยความที่กลุ่มเซ็นทรัลและซิกน่าเป็นธุรกิจครอบครัว เราจึงมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและแตกต่าง ทั้งภายในห้างและช่องทางดิจิทัลต่างๆ สำหรับลูกค้าทั้งที่อยู่ในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปของกลุ่มเซลฟริดเจส ในอีก 100 ปีข้างหน้า เพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทรีเทลชั้นนำระดับโลก”

ถือเป็นการปิดบิ๊กดีลส่งท้ายปี 2021 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ แม้ยังไม่มีตัวเลขการลงทุนออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ประเมินกันว่า มูลค่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้อยู่ที่ราว 1.5 แสนล้านบาท

สรุปบิ๊กดีลหลักๆ ที่ประกาศออกมาแล้ว (ยังไม่รวมเซลฟริดเจส) ทั้งการซื้อกิจการและควบรวมบริษัท ในปี 2021 มีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนใหญ่ที่เห็นโอกาสเติบโตเข้าซื้อกิจการธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในปี 2021 อีกหลายดีล และเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อในปี 2022 รวมทั้งบทสรุปการควบรวมกิจการของยักษ์ใหญ่โทรคมฯ “ทรู-ดีแทค” และการขายทรัพย์สินธุรกิจ Consumer Banking ของ Citi ให้กับกรุงศรี อย่างเป็นทางการ


แชร์ :

You may also like