การทำธุรกิจสายการบินอย่างเดียวอาจไม่พออีกต่อไป โดยหนึ่งในบริษัทที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจอาจะเป็นกรณีของกลุ่มแอร์เอเชีย เมื่อ “โทนี่ เฟอร์นันเดส” ผู้บริหารยักษ์ใหญ่ของทางกลุ่มได้ออกมาประกาศทรานสฟอร์มองค์กรสู่ยุคดิจิทัล พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก AirAsia Group สู่ “Capital A” พร้อมตั้งเป้าว่าจะต้องสามารถเข้าถึงผู้คนกว่า 1 พันล้านคนในอาเซียนให้ได้ภายในปี 2026
สำหรับสิ่งที่นำไปสู่การทรานสฟอร์มองค์กรครั้งนี้ ทางผู้บริหารอย่างโทนี่ เฟอร์นันเดสบอกว่า พวกเขามีสิ่งที่เรียกว่าฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งจากการประกอบธุรกิจตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และจะนำฐานข้อมูลเหล่านั้นมาใช้กับโปรดักท์อื่น ๆ ของทางกลุ่มที่ไม่ใช่แค่ค่าโดยสารสายการบินอีกต่อไป เห็นได้จาก airasia SuperApp ซึ่งเป็นช่องทางหลักของทางค่ายในยุคต่อไปนั้น มีผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มอยู่ถึง 16 โปรดักท์ ซึ่งทางบริษัทบอกว่า เป็นบริการที่ครอบคลุมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น บริการด้านอาหาร, ค้าปลีก, อีคอมเมิร์ซ, ขนส่งสินค้าภายในวันเดียว, บริการเรียกรถ, OTA ฯลฯ
นอกจากนั้น ทางกลุ่ม Capital A ยังได้ประกาศเป้าหมายของบริษัทดังต่อไปนี้
เป็นกลุ่มสายการบินที่เชื่อมต่อและให้บริการผู้คนกว่า 1 พันล้านคนในอาเซียน
มีแผนกวิศวกรรม (Asia Digital Engineering : ADE) และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบริการบำรุงรักษา ซ่อมแซม หรือเป็น MRO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วางโพสิชันให้ airasia Super App เป็นสุดยอดแอปในอาเซียน
มีผู้ใช้งาน BigPay (บริการฟินเทคของทางค่าย) 10 ล้านคนต่อเดือน
มีส่วนแบ่งตลาด 10% ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส่วนงาน Teleport)
มีผู้ลงทะเบียน 5 ล้านแอคเคาน์ใน AirAsia Academy
ยอดสั่งซื้อของชำ (grocery) มากกว่า 21 ล้านรายการต่อเดือน
ทั้งหมดนี้ ทางกลุ่มตั้งเป้าทำให้สำเร็จภายในปี 2026 หรืออีก 4 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งหากทำได้ จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากสายการบิน จะเพิ่มเป็น 50% จากรายได้รวมของกลุ่มภายในปี 2026
จากสายการบินสู่การเป็นคู่แข่ง “Grab”?
การประกาศทรานสฟอร์มองค์กรของ airasia Group สู่ Capital A ยังอาจหมายถึงการประกาศตัวเป็นคู่แข่งคนใหม่ในวงการโลจิสติกส์ – Food Delivery – อีคอมเมิร์ซด้วย ซึ่งอาจเป็นความท้าทายที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนอย่าง Grab นั่งไม่ติดก็เป็นได้
การรุกคืบข้อหนึ่งที่เห็นได้คือการเข้าซื้อกิจการ Gojek ที่ให้บริการในประเทศไทยไปด้วยมูลค่ากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย AirAsia Digital บริษัทลูกของกลุ่มแอร์เอเชียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ก่อนจะเปิดตัวบริการ airasia food ในเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีการเปิดตัว airasia Ride ซึ่งเป็นบริการรับส่งผู้โดยสารในประเทศไทยภายในปีนี้ เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รวมถึงธุรกิจส่งด่วน airasia Xpress ด้วย (โดยปัจจุบัน บริการ airasia Ride และ airasia Xpress ได้เปิดให้บริการแล้วในมาเลเซีย ซึ่งทางคุณ อแมนด้า วู (Amanda Woo) ผู้บริหาร AirAsia Digital เคยให้สัมภาษณ์ว่า บริการ AirAsia Ride ครอบคลุมตามหัวเมืองใหญ่แล้ว และมีตัวเลขการใช้บริการหกหลักต่อเดือน ขณะที่ไรเดอร์นั้นมีอยู่ราว 30,000 คน ซึ่งการควบกิจการ Gojek ในประเทศไทยจะทำให้การบุกตลาดดังกล่าวทำได้รวดเร็วขึ้น)
จากบริการที่เปิดตัวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นบริการที่ไม่ต่างจากสิ่งที่ Grab หรือบรรดา SuperApp รายอื่น ๆ ให้บริการแต่อย่างใด เพียงแต่สิ่งที่ Capital A มีมากกว่าคือเรื่องของสายการบิน การขนส่งข้ามประเทศ การขนส่งข้ามเมือง และการเป็นผู้เล่นในตลาด OTA ที่กำลังเริ่มฟื้นตัว
กลุ่ม Capital A ยังเปิดเผยตัวเลขด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้เยี่ยมชม airasia Super App มากกว่า 50 ล้านคนในแต่ละเดือน ขณะที่ BigPay บริการด้านฟินเทคของทางกลุ่มก็ได้รับการอัดฉีดเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐจากกลุ่มบริษัท SK ในเกาหลีใต้มาด้วยเช่นกัน โดยในภาพรวม บริษัทมีการระดมทุนไปแล้วกว่า 2.5 พันล้านริงกิต และจะมีการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับ airasia Super App, Teleport และ ADE ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ด้วย
จากนี้ไปจึงอาจเป็นช่วงพิสูจน์ฝีมือว่า ทางกลุ่ม Capital A จะสามารถผสานจิ๊กซอว์ที่มีเข้าด้วยกันอย่างไรจึงจะกลายเป็นการส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค ทั้งในเรื่องการเป็นผู้ให้บริการ OTA ที่มีบริการเรียกรถในตัว หรือการเป็นผู้ให้บริการขนส่งที่สามารถส่งได้ทั้งข้ามประเทศ ข้ามเมือง และส่งแบบ Last-Mile Delivery แต่เชื่อแน่ว่า การแข่งขันในปีนี้ จะดุเดือดขึ้นอย่างมากแน่นอน