HomeBrand Move !!คนกรุงปรับตัวรับค่าครองชีพพุ่ง “ลดสังสรรค์-ซื้อเท่าที่จำเป็น” ขอรัฐช่วยตรึงราคา-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

คนกรุงปรับตัวรับค่าครองชีพพุ่ง “ลดสังสรรค์-ซื้อเท่าที่จำเป็น” ขอรัฐช่วยตรึงราคา-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

แชร์ :

เงินเฟ้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ เริ่มปรับตัวรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นแล้ว โดยมีตั้งแต่ การเลือกใช้จ่ายสินค้าเท่าที่จำเป็น ชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงเปลี่ยนไปใช้สินค้าแบรนด์รอง หรือสินค้ามือสอง ที่มีราคาถูกกว่า พบคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนได้รับผลกระทบหนัก และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune


การสำรวจดังกล่าวเผยด้วยว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น โดย 52%  คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะลากยาวมากกว่า 1 ปีเลยทีเดียว ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความสามารถในการรับมืออยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงน้อย

ทั้งนี้ การปรับตัวของผู้บริโภค ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า

  • 89% เลือกซื้อของเท่าที่จำเป็น, ชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
  • 52% ลดกิจกรรมสังสรรค์
  • 44% เลือกซื้อสินค้าที่ทดแทนกันได้ในราคาถูกลง เช่น สินค้ามือสอง, สินค้าแบรนด์รอง
  • 22% ซื้อสินค้าครั้งละมาก ๆ เพื่อประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น

คนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทกระทบหนักสุด

เงินเฟ้อ สินค้าปรับตัว

การสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบด้วยว่า คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น ซึ่งราว 36% มองว่า มีค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ขณะที่คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบและสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้มากกว่า

ผู้บริโภคต้องการ “ตรึงราคา-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ”

เมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อันดับแรก คือ

  • ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในหลายประเภทมากขึ้น เช่น ราคาอาหารสดประเภทอื่นๆ เช่น อาหารทะเล ของใช้ในชีวิตประจำวัน และราคาพลังงาน 
  • เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
  • ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่สิ้นสุดลงตั้งแต่ .ย 2564 

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า หรือลดปริมาณสินค้า (Resize) แทนการปรับขึ้นราคาหากจำเป็น และเพิ่มการจัดโปรโมชั่นกิจกรรมลดราคาสินค้าให้ถี่ขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น อาหารปรุงสำเร็จ ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกเหนือจากการออกมาตรการเฉพาะหน้าที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคในระยะสั้นแล้ว  ภาครัฐและเอกชนควรเร่งมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ให้ตรงจุด ตลอดจนควรเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น

  • การเพิ่มปริมาณสุกรในตลาดผ่านการสนับสนุนเงินทุนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรมากขึ้น
  • การใช้มาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรดระบาดในสัตว์ต่าง ๆ อย่างเข้มงวด
  • การเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ ภาคธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคและสร้างโอกาสการเติบโตในระยะถัดไป เช่น ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า (Resize) แทนการปรับขึ้นราคา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า รวมถึงการนำฐานข้อมูลลูกค้า (Big data) มาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการได้แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น


แชร์ :

You may also like