บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กรครั้งใหม่ ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงจากการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและกลุ่มผู้บริโภค ด้วยการเติบโตแบบผสมผสานผ่านกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เจาะเข้าถึงการใช้งานที่ตรงจุด รองรับกับสถานการณ์วิกฤตโควิด – 19 ได้อย่างดี
นายวัชรพงษ์ วงษ์มา รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ได้เผยภาพรวมการตลาดของ เบ็นคิว ประเทศไทย ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ว่า “ ภาพรวมรายได้ของ เบ็นคิว ประเทศไทย ในปี 2021 เติบโตขึ้นกว่า 56% เมื่อเทียบกับปี 2020 ซึ่งรายได้ทั้งหมดไม่ได้มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักเพียงอย่างเดียว แต่เติบโตแบบผสมผสาน จากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจออกแบบแผนรองรับการใช้งานให้ตรงจุด และเข้ากับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ระบาดหนัก โดยภาพรวมธุรกิจโปรเจคเตอร์ของ เบ็นคิว ประเทศไทย เติบโตร้อยละ 34.79 เมื่อเทียบกับปีก่อนในเชิงของรายได้แต่ในขณะที่จำนวนเครื่องที่ถูกปล่อยออกสู่ตลาดนั้นเท่าเดิม จากการมุ่งเน้นการรณรงค์ในเรื่องของ Hybrid Learning Room ได้ชูจุดเด่นของ Smart Projector เป็นตัวหลัก เพื่อเจาะกลุ่มตลาดโรงเรียนที่มีงบประมาณจำกัด แต่ต้องการฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากกว่าเดิม โดย Smart projector ของ BenQ สามารถเข้าสู่ระบบ Cloud แล้วดึงข้อมูลออกจาก Drop Box หรือ Share Drive เพื่อใช้ในการเรียนการสอนหรือการประชุมได้โดยที่ไม่ต้องเสียบสายเพื่อเปิดไฟล์พรีเซนต์ฯ จาก โน๊ตบุ๊ค แบบโปรเจคเตอร์ปกติทั่วไป จึงทำให้ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้งานจนมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในยอดจำหน่ายมากกว่า 800 เครื่อง ซึ่งถือว่าโตขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2020 พร้อมกันนี้ได้ปรับกลยุทธ์รองรับตลาด Entertainment ที่ไม่เน้นแค่ยอดจำหน่ายของกลุ่มโปรเจคเตอร์ 4K เพียงอย่างเดียว เรามองถึงองค์รวมของคำว่า Home Entertainment ที่เจาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ชอบอยู่บ้านและใช้ชีวิตกับครอบครัว ด้วย Projector Gaming ที่สามารถสร้าง Frame rate ได้สูงๆ และกลุ่ม Projector Portable ที่ต่อเข้ากับเครื่อง Nintendo และ PS5 เพื่อสร้างความสนุกได้มากยิ่งขึ้น ”
จุดเด่นการเติบโตของธุรกิจ เบ็นคิว ประเทศไทย
“ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับ เบ็นคิว ประเทศไทย เติบโตมากยิ่งขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์จอกระดานอัจฉริยะ หรือ Interactive Flat Panel (IFP) โดยภาพรวมตลาดธุรกิจจอกระดานอัจฉริยะนับว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด หากมองย้อนไปช่วงเปิดตัวทำตลาดในปี 2017 มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 2.7% ขณะที่ปริมาณมวลรวมของตลาดในเวลานั้นอยู่ที่ 1,259 เครื่อง แต่ในไตรมาตรที่ 3 ของปี 2021 เบ็นคิว ประเทศไทย กลับได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดที่ 26.76% ในขณะที่ตลาดมวลรวมปิดตัวมากกว่า 3,200 เครื่อง และสำหรับในปี 2022 เรายังคงเดินหน้าทำการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์จอกระดานอัจฉริยะแบบเต็มกำลังด้วยจุดยืนบนความเชื่อในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนกระดาน Interactive Projector หรือกระดาน White Board ในชั้นเรียนได้ในอนาคต รวมทั้งคุณครูยุคใหม่จะสามารถผลิตสื่อการเรียนการสอน หรือนำโปรแกรมสำเร็จ เช่น KAHOOT, SNOWFLAKE และโปรแกรมอื่นๆ ที่เป็นซอฟแวร์มาเปิดเล่นได้ทั้งบน Platform Window, Android, Chrome มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่เด็กๆ นักเรียนได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ภาพรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ ZOWIE ของตลาดไทยในช่วงปี 2021
“ การแข่งขันในตลาดจอเกมมิ่ง ชนิดเฟรมเรท 240Hz มีความยากอยู่ไม่น้อยในช่วงปี 2020 – 2021 ที่ผ่านมา เพราะปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามากดดันในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาต้นทุนการซื้อเครื่องประกอบต่อชุดที่เพิ่มสูงขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาจำหน่ายปลีกของผลิตภัณฑ์ประเภท GPU ที่มีราคาที่สูงขึ้น ตลอดจนสงครามราคาจอมินิเตอร์ประเภท 240Hz ที่แข่งกันทำโปรโมชั่นเพื่อระบายสินค้าออกในช่วงวิกฤต ซึ่งสวนทางกับต้นทุนในการนำเข้าที่ค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหา Global Supply Chain และต้องยอมรับว่าในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ ZOWIE ไม่ได้มองถึงการเป็นเจ้าตลาดในกลุ่ม 144Hz หรือ 240Hz แต่กลับมองที่ตัวแบรนด์เองว่าปีนี้ต้องเติบโตกว่าปีก่อนๆ และต้องเป็นการโตขึ้นอย่างมั่นคง นั้นหมายถึงผลิตภัณฑ์แบรนด์ ZOWIE ต้องมี Social Response ที่ดีจากสังคมและลูกค้าหรือฐานแฟนๆ และต้องมอบประสบการณ์ที่ดีจากการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธีและเข้าใจในทุกๆฟีเจอร์ (Features) รวมถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ให้มากขึ้นและนำไปสู่การบอกต่อแบบปากต่อปาก ซึ่งภาพรวมของแบรนด์ ZOWIE มียอดจำหน่ายที่เป็นตัวเครื่องและมูลค่ายอดจำหน่ายที่เยอะขึ้น โดยส่วนแบ่งการตลาดของ จอ 144Hz ในปี 2021 มียอดจำหน่ายสูงถึง 10,481 เครื่อง ซึ่งถือว่าโตกว่าปี 2020 อยู่ที่ 1 เท่าตัว ส่วนภาพรวมของตลาดจอ 240Hz ได้มีการจำหน่ายออกไปไม่ต่ำกว่า 2,272 เครื่องทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2020 มีการเติบโตที่ 28.94% และสำหรับในปี 2022 ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างและขยายฐานธุรกิจจอมอนิเตอร์ให้โตขึ้นแบบมีคุณภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับทฤษฎี ZMOT (Zero Moment of Truth) ที่ดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ทางการตลาดต้องส่งผลให้ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ” นายวัชรพงษ์ ได้กล่าวทิ้งท้าย