HomeBrand Move !!โควิดดัน “Community Mall” กลับมาบูม! ยักษ์รีเทล “MBK – Central x SF – JAS Asset” รุกเปิดโครงการใหม่

โควิดดัน “Community Mall” กลับมาบูม! ยักษ์รีเทล “MBK – Central x SF – JAS Asset” รุกเปิดโครงการใหม่

แชร์ :

SF Market Place Krungthep Kreetha

โครงการ Market Place Krungthep Kreetha

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบโครงการ Community Mall” (คอมมูนิตี้ มอลล์) บูมอย่างมาก มีทั้งของ Retail/Property Developer รายใหญ่ และของผู้พัฒนาขนาดกลาง และรายย่อย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยมีทั้งโครงการขนาดเล็ก พื้นที่ค้าปลีกกว่า 3,000 ตารางเมตร, ขนาดพื้นที่กว่า 5,000 – 8,000 ตารางเมตร ไปจนถึงโครงการที่มีพื้นที่ค้าปลีกกว่า  20,000 – 30,000 ตารางเมตร และ Community Mall ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Mixed-use Development ที่ประกอบด้วยคอนโด – อาคารสำนักงาน – ค้าปลีก Community Mall เพื่อให้แต่ละองค์ประกอบส่งเสริมซึ่งกันและกันในการสร้าง Traffic ทั้งวันทำงาน และวันหยุด

หลังจากโครงการ Community Mall แห่ผุดขึ้นตามย่านชุมชน ย่านที่อยู่อาศัย ย่านออฟฟิศบิวดิ้งต่างๆ เป็นจำนวนมาก ปรากฏว่าหลายโครงการอยู่ในสภาพร้างผู้คน พื้นที่เช่าไม่เต็ม โดยที่บางโครงการต้องปิดตัวไป ขณะเดียวกันก็มีบางโครงการ ที่สามารถอยู่ได้ มี Traffic ลูกค้ามาใช้บริการ และผู้เช่าร้านค้าเต็ม

อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นสถานการณ์ COVID-19 กลายเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของโครงการ Community Mall ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะการขยายตัวของโครงการที่สร้างโดย Retail Developer รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เอ็มบีเค กรุ๊ป (MBK Group), เซ็นทรัลพัฒนา x สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (Central Pattana x SF) และเจเอเอส แอสเซ็ท (JAS Asset)

ทำไม COVID-19 และการขยายตัวของเมือง กลายเป็นโอกาสให้กับ Community Mall ?

ปัจจัยหลักที่ทำให้ Retail Developer รายใหญ่ เดินหน้าขยายโครงการ “Community Mall” แม้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ระบาดหนักต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว นับตั้งแต่ปี 2020 – 2021 และปี 2022  หากทว่าจากวิกฤตดังกล่าว ประกอบกับการขยายตัวสังคมเมือง ได้สร้าง “โอกาส” ให้กับ Community Mall นั่นเพราะ

1. COVID-19 ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น และปรับการใช้ชีวิต การใช้จ่ายต่างๆ ในสถานที่ใกล้บ้าน เช่น ใช้บริการร้านอาหารใกล้บ้าน, ซื้อของกินของใช้จากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน

2. ย่านที่อยู่อาศัย (Residential Area) ขยายไปยังรอบนอกเมืองมากขึ้น เป็นไปตามการขยายตัวของสังคมเมืองที่ไม่กระจุกตัวในโซน CBD (Central Business District) และการขยายระบบคมนาคม

ทำให้เกิดย่านที่อยู่อาศัยใหม่ เติมเต็มความครบวงจรของความเป็นย่าน ที่มีองค์ประกอบครบ ทั้งแหล่งรวมที่อยู่อาศัย, สถานศึกษา, โรงพยาบาล, พื้นที่สีเขียว หรือสถานที่ออกกำลังกาย เช่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬา รวมทั้งระบบคมนาคมที่สะดวก และเชื่อมต่อใจกลางเมือง

เมื่อมีความครบวงจรของความเป็นย่าน จะทำให้มีความหนาแน่นของประชากรมากพอที่จะสร้าง Community Mall เพื่อตอบโจทย์สิ่งจำเป็นพื้นฐาน และความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่าน หรือโซนนั้นๆ

3. Community Mall พัฒนาให้เป็น “Hub of Community” หรือศูนย์กลางของชุมชน ของผู้อยู่อาศัยในย่าน/โซนนั้นๆ ด้วยการออกแบบให้เป็นมากกว่าสถานที่ช้อปปิ้งสินค้าและบริการสิ่งจำเป็นพื้นฐานทั่วไป

Community Mall ต้องตั้งอยู่ในทำเลมีศักยภาพ มีความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง มีการเดินทางสะดวก ขณะที่องค์ประกอบภายในต้องมีความครบวงจร เพื่อดึงคนมาใช้บริการทุกวัน ทั้งวันทำงาน และวันหยุด เนื่องจากหัวใจสำคัญของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการค้าปลีก คือ Traffic และการหมุนเวียนของลูกค้าที่มาใช้บริการตลอดทั้งวัน และทุกวัน

แม่เหล็กสำคัญในการดึงคนมาใช้บริการ Community Mall คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต, บริการทางการเงิน, บริการจัดส่งพัสดุ

ขณะเดียวกันออกแบบให้เป็นมากกว่าสถานที่ซื้อของ เช่น มีพื้นที่พักผ่อน อย่างการทำพื้นที่สีเขียว Outdoor และพื้นที่สำหรับจัดอีเว้นท์ ให้ลูกค้ามาพักผ่อน, เป็นจุดนัดพบปะสังสรรค์ของคนที่อยู่อาศัยในย่านนั้นๆ, สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้, มาร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อใช้เวลาอยู่กับ Community Mall นานขึ้น มากกว่าแค่การมาซื้อของแล้วกลับ

จากการกลับมาคึกคักอีกครั้งของโครงการ Community Mall มาตามดู Property Developer รายใหญ่กันว่าปัจจุบันได้พัฒนา Community Mall อะไรบ้าง ?!?

SF Market Place Krungthep Kreetha

Photo Credit : Facebook Market Place Krungthep Kreetha

MBK Group จาก “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์​ พระราม 9” สู่ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์”

หลังจาก MBK Group เปิด Community Mall บนที่ดินของตัวเองในชื่อ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9” ในปี 2554 ภายใต้แนวคิด “Tropical Village” หมู่บ้านร้านค้า เน้นความเป็นธรรมชาติ และสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) ครอบคลุมตั้งแต่ย่านพระราม 9 สวนหลวง รามคำแหง และศรีนครินทร์

หัวใจหลักที่ทำให้ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9” ประสบความสำเร็จ มาจาก

1. โลเคชันโครงการเดอะไนน์​ เซ็นเตอร์​ พระราม 9 อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยกว่า 30 หมู่บ้านโดยรอบ และอาคารสำนักงาน โดยมีทางเข้า-ออกโครงการได้หลายทางพระราม 9 ถนนรามคำแหง ถนนพัฒนาการ และถนนศรีนครินทร์

2. ไม่เพียงแต่สร้าง Community Mall เท่านั้น MBK Group ยังได้สร้างอาคารสำนักงานติดกับโครงการ อีกทั้งยังมีอาคารสำนักงานต่างๆ ในย่านพระราม 9 ทำให้มี Traffic หมุนเวียนของลูกค้าเข้ามาจับจ่ายทุกวัน และตลอดทั้งวัน ทั้งในวันทำงานที่เป็นกลุ่มคนทำงาน และคนที่อาศัยอยู่ในโซนนี้เข้ามาใช้บริการ ขณะที่วันหยุดเป็นผู้ที่อาศัยในย่านนี้เป็นหลัก

3. ร้านค้ากว่า 100 ร้าน มากถึง 70% เป็นร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงคนมาใช้บริการ ขณะเดียวกันจัดอีเว้นท์ เพื่อสร้างความคึกคัก และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า

หลังจากเปิด เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9” ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 MBK Group ได้เปิดตัว Community Mall อีกหนึ่งโครงการ พัฒนาบนที่ดินของตัวเองเช่นกัน ภายใต้ชื่อ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” บนพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ใกล้กับสนามกอล์ฟริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟ คลับ สร้างขึ้นในคอนเซ็ปต์ Neighborhood Backyard

มีแม่เหล็กดึงคนมาใช้บริการ เช่น ศูนย์อาหาร Food Legends By MBK, ซูเปอร์มาร์เก็ตท็อปส์, ร้านอาหารชื่อดัง เช่น ร้านสุกี้ตี๋น้อย ร้านชินคันเซ็น ซูชิ ร้านเนื้อแท้ คาเฟ่อเมซอน, ร้านสะดวกซัก

MBK Group The-Nine-Center Rama9

เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9

MBK Group ต้องการพัฒนาที่ดินติวานนท์ที่มีกว่า 1,000 ไร่ ให้เป็น Mixed-use Development ครบวงจรทั้งโรงแรม, สนามกอล์ฟ, หมู่บ้าน และล่าสุดเติมเต็มความครบวงจรด้วย Community Mall “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” นอกจากนี้มีแผนจะสร้างอาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการย้ายบริษัทในเครือมาอยู่ที่นี่ พร้อมทั้งจะสร้างท่าเทียบเรือในโครงการริเวอร์เดล วอเตอร์ฟร้อนท์ แอนด์ มารีน่า

Community Mall หลายแห่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ เงียบเหงา เพราะวันจันทร์ วันศุกร์ ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ ขณะที่วันเสาร์ อาทิตย์มีคนมาเดิน

แต่สำหรับ Community Mall ของเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 เราเติมเต็มทั้งวันจันทร์ ศุกร์ เป็นกลุ่มคนทำงานออฟฟิศมาใช้บริการ และในวันเสาร์ อาทิตย์เป็นกลุ่มครอบครัว เพราะฉะนั้นโจทย์ของการทำ Community Mall คือ ทั้ง 7 วันต้องมีคนเดิน ทั้งในวันจันทร์ ศุกร์ และวันเสาร์ อาทิตย์  

ต่อไปมีแผนจะสร้างออฟฟิศบิวดิ้ง ใกล้กับโครงการเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ เพื่อให้บริษัทในเครือมาอยู่ที่นี่ โดยแต่ละบริษัทในเครือมีตึกของตัวเอง” คุณสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เล่าถึงโจทย์สำคัญของการทำ Community Mall

MBK Group The Nine Tiwanont

เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์

“เซ็นทรัล x สยามฟิวเจอร์ฯ” ต่อจิ๊กซอว์ความแข็งแกร่ง Community Mall รายใหญ่

“การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของเซ็นทรัลพัฒนา ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเซ็นทรัลพัฒนาเล็งเห็นศักยภาพในธุรกิจของ SF ซึ่งจะช่วยขยายพอร์ตโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall ของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เวสต์เกต และเมกาบางนา อีกทั้งยังต่อยอดการลงทุนร่วมกับอิเกีย

นอกจากนี้ ยังสามารถเติมเต็ม พอร์ต คอมมูนีตี้ มอลล์ และที่ดินรอการพัฒนา ในทำเลศักยภาพสูงทั้ง CBD ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ด้วยการผนึกธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อสร้างศูนย์กลางการใช้ชีวิต (Center of Life) สร้างความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน…”  คุณปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวเมื่อครั้งที่เซ็นทรัลพัฒนาเข้าซื้อกิจการสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ ซึ่งเป็น Major Player การพัฒนาศูนย์การค้า และ Community Mall

การซื้อกิจการ SF โดยเซ็นทรัลพัฒนาถือหุ้น 96.24% เป็นทางลัดทำให้อาณาจักรค้าปลีก และศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลครบทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ค้าปลีกขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, Category Killer, Specialty Store ไปจนถึงการเป็น Property Developer รูปแบบ Community Mall และ Super Regional Mall รวมทั้งมีที่ดินรอการพัฒนาในทำเลศักยภาพสูง

SF Market Place Krungthep Kreetha

โครงการ Market Place Krungthep Kreetha

อย่างล่าสุด บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF เปิดให้บริการ Community Mall แห่งใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ Market Place Krungthep Kreetha (มาร์เก็ต เพลส กรุงเทพกรีฑา) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

นำเสนอผ่านคอนเซปต์ “Urban Friendly” พื้นที่ความสุขใกล้บ้านคุณ ด้วยงบประมาณลงทุนในการพัฒนาโครงการรวม 150 ล้านบาท ตั้งอยู่ห่างจากแยก ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟฟ้ากรุงเทพกรีฑา (MRT สายสีเหลือง) ประมาณ 4.5 กิโลเมตร

“เราวางเป้าหมาย Market Place Krungthep Kreetha เป็นแลนด์มาร์กและจุดนัดพบแห่งใหม่ในย่านกรุงเทพกรีฑา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยที่มีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท กลับมามีความคึกคักมากขึ้น อีกทั้งจากการที่เซ็นทรัลพัฒนาเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะยิ่งช่วยต่อยอดธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ของ SF ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” คุณนพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF เล่าถึงการเปิด Community Mall แห่งใหม่ที่จะใช้พลัง Synergy กับกลุ่มเซ็นทรัล

 

โครงสร้างเป็นโครงการอาคาร 1 ชั้น ประกอบด้วยพื้นที่ค้าปลีกรวมกว่า 5,000 ตารางเมตร โดยมี 6 ไฮไลท์ ได้แก่

แลนด์มาร์กแห่งใหม่ย่านกรุงเทพกรีทา รายล้อมด้วยที่พักอาศัย โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลชั้นนำ และสนามกอล์ฟ

บรรยากาศร่มรื่นแบบ Greenery Outdoor ลูกค้าสามารถใช้บริการได้สบายตลอดวัน เหมือนช้อปปิ้งในสวนหลังบ้าน เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจใกล้ชิดธรรมชาติ โดดเด่นด้วยพื้นที่ส่วนกลาง (Common area) Nature Fun Park ที่ออกแบบมาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กับทุกคน

ตอบโจทย์ครอบครัวด้วย Tops Market พร้อมด้วยร้านอาหารและแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Starbucks, Greyhound Café,  Swensens,  Mcdonald, Subway,  Wine Connection, Fuji,  MK, ตำมั่ว, Coco Ichibanya และ GRAM เป็นต้น  ร่วมด้วยร้านให้บริการด้านสุขภาพ และความงามชั้นนำ

เดินทางสะดวก จอดรถสบาย สะอาดปลอดภัย ง่ายต่อการช้อปปิ้ง ตั้งอยู่บนถนนสายหลักศรีนครินทร์-ร่มเกล้า โดยมีมาตรการดูแลความสะอาดปลอดภัยให้กับผู้มาใช้บริการเป็นอย่างดี

ให้ประสบการณ์ความสนุกสำหรับเด็กๆ พร้อม B2S ตอบรับทุกความต้องการ

เป็น Community Mall แบบ Pet friendly พาสัตว์เลี้ยงมาด้วยได้

“ทำเลกรุงเทพกรีฑา นับเป็นพื้นที่สำคัญที่มีศักยภาพสูงในโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งศูนย์รวมของหมู่บ้านและที่พักอาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวสมัยใหม่ที่เลือกย่านกรุงเทพกรีฑาเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิต โดยแวดล้อมไปด้วยสถานบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งโรงเรียนนานาชาติ สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล ตลอดจนการเส้นทางคมนาคมที่สะดวก” คุณนพพร สรุปทิ้งท้ายถึงศักยภาพของทำเลกรุงเทพกรีฑา

SF Market Place Krungthep Kreetha

Photo Credit : Facebook Market Place Krungthep Kreetha

JAS Asset” ลุยธุรกิจ Community Mall       

JAS Assetบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Development) ในเครือ Jaymart Group ปัจจุบันมี 4 ธุรกิจหลักคือ

– ธุรกิจ IT Junction

– ธุรกิจ Community Mall

– ธุรกิจที่อยู่อาศัย

– ธุรกิจ Healthcare and Service สำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับธุรกิจ Community Mall เป็นหนึ่งในขาหลักของ JAS Asset ที่ดำเนินธุรกิจนี้มา 7 – 8 ปีแล้ว ปัจจุบันมี 5 โครงการ และมีอัตราเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ในระดับกว่า 95% โดยตั้งเป้าจะมีพื้นที่ให้เช่า 100,000 ตารางเมตรภายใน 3 ปี

โครงการที่ 5 ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คือ JAS Green Village Kubon” บนพื้นที่ขนาด 30 ไร่ บนถนนคู้บอน สร้างขึ้นในรูปแบบ Open-Air Lifestyle Mall เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าโซนรอบนอกเมือง ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนย่านรามอินทรา เลียบคลอง 2 หทัยราษฎร์ และโซนพื้นที่ใกล้เคียง

JAS Asset Community Mall

โครงการ JAS Green Village Kubon

วางเป้าหมาย JAS Green Village Kubon” เป็นศูนย์กลางพื้นที่สีเขียว และแหล่งพักผ่อนใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ในโซนนี้ ด้วยร้านค้าหลากหลายประเภท ประกอบด้วยซูปเปอร์มาร์เก็ต, ศูนย์อาหาร, คาเฟ่, ร้านค้าแฟชั่น, ศูนย์บริการความงาม, โซนมือถือ, สถาบันการศึกษา, ฟิตเนส, สวนสาธารณะ, ปั๊มน้ำมัน

นอกจากนี้ JAS Asset ต้องการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ ให้เป็นโครงการรูปแบบ Mixed-use Development โดยมีแผนสร้าง Healthcare and Service สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ภายใต้แบรนด์ “SENERA” เปิดให้บริการใน JAS Green Village Kubon ที่แรกภายในสิ้นปี 2565 เพื่อตอบรับสังคมสูงวัยในไทย

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบ Mixed-use Development ทำให้แต่ละองค์ประกอบที่อยู่บนที่ดินเดียวกัน เกื้อหนุนกัน ทั้งความหนาแน่นของประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในโครงการ ดึงดูดผู้เช่ามาเปิดร้านค้าและบริการต่างๆ และทำให้เกิด Traffic ลูกค้าที่มาใช้บริการ Community Mall


แชร์ :

You may also like