ที่ผ่านมา เราอาจมีผลวิจัยคน Gen Z ในด้านต่าง ๆ ออกมามากมาย ทั้งพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว การเก็บออม แต่อีกหนึ่งผลวิจัยที่ทำให้รู้จักคน Gen Z เพิ่มขึ้นก็คืองานวิจัยที่ดีแทคร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งออนไลน์ภายใต้มุมมองของ Gen Z หรือ Cyberbullying Under Gen Z Perspective
สำหรับการวิจัยดังกล่าว ทางดีแทคได้เปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็นในรูปแบบ Jam Ideation #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เป็นเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 25-27 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และพบว่า
- แพลตฟอร์มได้รับไอเดียเกี่ยวกับการหยุดไซเบอร์บูลลี่ทั้งหมด 782 ไอเดีย (unique ideas)
- สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.44 ล้านคน
- มียอด Engagement กับแคมเปญทั้งสิ้นราว 34,500 ครั้ง ประกอบด้วยการสนทนา ยอดไลค์และยอดแชร์
จากการระดมความคิดเห็น พบว่า 3 ประเด็นหลักที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับการถูก Cyberbullying ก็คือ มาตรฐานความงามที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา (Body shaming) มีสัดส่วนสูงถึง 56% ตามด้วยการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 23% และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 21%
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์
พร้อมกันนั้น ทางดีแทคยังได้ร่วมกับแซลมอนเฮาส์จัดทำคลิปสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ Cyberbullying ในชื่อ บูลลี่ไม่ใช่เรื่องตลก.. ด้วย
จากคลิปดังกล่าว ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ให้ทัศนะว่า “ที่จริงเวลาเรามองตลกคาเฟ่ที่ล้อเลียนกัน เราขำอะไร ในยุคนั้น คือยุคนั้นเราให้คุณค่ากับความอดทน เราให้คุณค่ากับ Self-esteem เวลาที่ใครกระทำกับเราเรื่องอะไรก็ตาม ใครอดทนได้คนนั้นถือเป็นคนดี คนเจ๋ง คนเก่ง แต่ถ้าใครอดทนไม่ได้ โต้ตอบกลับมา ก็จะกลายเป็นตัวตลก และถูกล้อเลียนไปเรื่อย ๆ”
Cyberbullying ไทย vs ญี่ปุ่น – สหรัฐอเมริกา
เมื่อถามถึงรูปแบบการเกิด Cyberbullying ในไทย เทียบกับประเทศญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ผศ.ดร.ธานี เผยว่าแต่ละประเทศมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยในญี่ปุ่น การบูลลี่จะเป็นลักษณะการแบ่งกลุ่ม การเพิกเฉย การทำเหมือนเพื่อนไม่มีตัวตน ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา การบูลลี่จะเป็นลักษณะของการเปรียบเทียบฐานะ การเหยียดสีผิว เชื้อชาติ
ส่วนของประเทศไทย เริ่มมีความคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น นั่นคือคนกลุ่มใหญ่ ๆ รุมรังแกคนกลุ่มเล็ก ส่วนเรื่องของการเหยียดฐานะนั้น ผศ.ดร.ธานี พบว่า ไม่ค่อยมีในประเทศไทย เนื่องจากโรงเรียนของไทยค่อนข้างแบ่งเด็กตามฐานะครอบครัวเอาไว้พอสมควรแล้วนั่นเอง
ทำไม Gen Z อยากให้สังคมตระหนักใน Cyberbullying
ในจุดนี้ ผศ.ดร.ธานีให้ทัศนะว่า มาจากค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากค่านิยมในอดีต
“ยุคปัจจุบัน เป็นยุคแห่งการเคารพสิทธิผู้อื่น เป็นยุคแห่งความเท่าเทียม เพราะฉะนั้นคุณค่าไม่ได้อยู่ที่การอดทนที่คน ๆ นั้นพึงอดทน เราต่างหากที่ไม่มีสิทธิไปทำเขาแล้วไปเรียกร้องความอดทนจากเขา”
“ทำไมภาครัฐจึงควรสนใจเรื่องนี้ มันก็แค่บูลลี่ขำ ๆ ไม่ใช่หรือ จริง ๆ แล้วมันคือการละเมิดสิทธิคนอื่น แบบไม่รับผิดชอบ มันคือการใช้อำนาจที่เราอาจจะแข็งแรงกว่า เรียนเก่งกว่า มีพวกมากกว่าโดยไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น Cyberbullying มันก็คือคนที่มีอำนาจมากกว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด คนที่มีอำนาจน้อยกว่าก็ต้องยินยอมที่จะถูกกระทำ เพราะสู้ไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ยอมรับการใช้อำนาจในทางที่ผิด”
“ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ ด้วยการไม่ยอมรับ Cyberbullying มันคือการสร้างการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ในแง่ที่ว่าตัวเรานี่แหล่ะที่จะไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกโกรธ – เสียใจ – ไม่พอใจ – เศร้าใจ เรามีหน้าที่กำกับตัวเองให้เคารพคนอื่น ถ้าเราทำได้แบบนี้ ก็จะนำไปสู่วัฒนธรรมออนไลน์ที่ดีในอนาคต ที่คนเราเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน”
นอกจากการทำวิจัยที่ทำให้เข้าใจคน Gen Z เกี่ยวกับทัศนคติเรื่อง Cyberbullying มากขึ้นแล้ว ทางทีมวิจัยยังได้เผยแพร่ สัญญาใจวัย Gen Z ที่เขียนขึ้นโดยคน Gen Z และทางดีเเทคจะนำสัญญาใจนี้ไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เเละสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป