เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับ “เปาเปา” (Pau-Pau) แพนด้าสีชมพูในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์อย่างเป็นทางการของ “ฟู้ดแพนด้า” (foodpanda) ผู้ให้บริการ Food delivery ในตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทย
“เปาเปา” แบรนด์แอมบาสเดอร์ ของ foodpanda
สำหรับการเปิดตัวเปาเปาเกิดขึ้นในปีที่ฟู้ดแพนด้าดำเนินกิจการในประเทศไทยครบ 10 ปี แถมยังเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเหตุผลของการสร้างคาแรคเตอร์ขึ้นมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์แทนการใช้เซเลบริตี้เหมือนผู้ให้บริการ Food Delivery รายอื่น ๆ นั้น คุณอเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายเหตุผล ประการแรก ว่า
“ปัจจุบันแบรนด์ต้องคิดว่าลูกค้าก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เราจึงปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้เป็น Human Centric เมื่อเราคุยกับมนุษย์เราก็ต้องทำให้ foodpanda มีความเป็นมนุษย์ มีคาแร็คเตอร์ มีตัวตน เปาเปาจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรับหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับลูกค้าในคอมมิวนิตี้ต่าง ๆ รวมถึงพาร์ทเนอร์ และไรเดอร์ โดยมีจุดเด่นคือความน่ารัก สดใส ขี้เล่น ซึ่งคาดว่าจะทำให้แบรนด์ foodpanda เข้าถึงง่ายขึ้น และสามารถสื่อสารกับลูกค้าด้วยความเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน หรือของใช้ภายในบ้าน (บริการ PandaMart)”
นอกจากนี้ การมีเปาเปาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับ foodpanda ในตลาด food delivery โดยทางบริษัทมองว่าสามารถทำกลยุทธ์ได้ในระยะยาว เนื่องจากมีความยืดหยุ่นมากกว่า และสามารถสร้างความผูกพันกับคอมมูนิตี้ต่าง ๆ ได้ใกล้ชิดมากขึ้น
เจาะกำลังซื้อจากกลุ่ม Gen Y & Z
นอกจากนี้เหตุผลที่ 2 ก็มาจากสิ่งที่ foodpanda พบเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายก็คือ กำลังซื้อจากกลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Gen Z ที่เพิ่มขึ้นโดยกลุ่ม Gen Y มีสถิติการสั่งอาการออนไลน์แบบเดลิเวอรี่สูงถึง 40.2% และ Gen Z ที่ 30% และมีความพร้อมที่จะลองเครื่องมือหรือบริการผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ด้านคุณแพรวพลอย สันติวิริยผดุง กราฟิกดีไซเนอร์ของ foodpanda Asia Pacific หนึ่งในทีมผู้ออกแบบเปาเปาเผยว่า การที่คาแรคเตอร์ของเปาเปาเน้นความขี้เล่น (Likeable) มีไหวพริบ (Witty & Mischievous) และมีอาหารโปรดเป็นพิซซ่าคือการทำให้เปาเปาเป็นคาแรคเตอร์ที่เข้าถึงง่าย
foodpanda ยังสร้างตัวตนของเปาเปาให้เป็นแพนด้าสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบว่ากลุ่มเป้าหมายอย่าง Gen Y และ Gen Z ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยทาง foodpanda จะให้เปาเปาเข้าไปมีบทบาทกับกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เช่น การไม่สนับสนุนการแจกช้อน-ส้อมพลาสติกในแอพฯ foodpanda ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกได้ถึง 544 ล้านชิ้น และการส่งเสริมให้ร้านค้าพันธมิตรเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ foodpanda ตั้งเป้ามุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Carbon Neutral ด้วย
เปาเปา vs อินฟลูเอนเซอร์
สำหรับการใช้งานเปาเปาในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ ทาง foodpanda บอกว่า จะใช้ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ดี ทาง foodpanda บอกว่า ก็ไม่ตัดโอกาสในการทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์คนอื่น ๆ ออกไปแต่อย่างใด และจะยังทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในจุดนี้
คุณอเล็กซานเดอร์มองอีกเหตุผลว่า เพราะการมีแบรนด์แอมบาสเดอร์เป็นเปาเปา ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่สร้างขึ้นบนโลกดิจิทัล ทำให้ foodpanda มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำกลยุทธ์ทางการตลาด อีกทั้งยังไม่ติดภาพสินค้าของแบรนด์อื่น ๆ และเปาเปาก็ยังอยู่กับ foodpanda ไปยาว ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่การสร้างแบรนด์เลิฟ รวมถึงใช้ในการสร้างตัวตนเพื่อการใช้งานในโลก Metaverse ด้วย
คุณอเล็กซานเดอร์ยังได้กล่าวถึงการแข่งขันในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบัน foodpanda มีไรเดอร์แล้ว 120,000 คน (Active Riders) แต่สำหรับปีนี้ ทางบริษัทจะไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องมีไรเดอร์จำนวนเท่าใด แต่เป็นการตั้งเป้าว่า จะทำอย่างไรให้ไรเดอร์ที่มาทำงาน ได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าแอปอื่น ๆ
“ปีที่แล้วเป็นปีที่ท้าทายมาก ๆ ขององค์กร ภายใน foodpanda ก็มีการสะท้อนถึงเหตุการณ์ เรียนรู้จากมัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาโฟกัสในพันธกิจของเราต่อ นั่นคือ สนับสนุนชุมชน สนับสนุนคนไทย เราไม่มี Politic Direction”
โดยสรุปในภาพรวมก็คือ
- การใช้ “เปา เปา” สามารถเจาะ Human Centric เชื่อมโยงกับลุกค้า
- เจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ โดยใช้แพนด้าดิจิทัล ที่สามารถสื่อสารเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
- เตรียมพร้อมสำหรับโลก Metaverse