“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศขึ้นชื่อในเรื่องการทำงานหนัก ทั้งทุ่มเท และจริงจัง รวมทั้งต้องเจอกับสภาวะการทำงานที่เครียด และกดดัน ทำให้ที่ผ่านมา มักจะปรากฏข่าวพนักงานบริษัท หรือที่เรียกกันว่ามนุษย์เงินเดือนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เมื่อตรวจสอบถึงพบว่าเป็น “โรคคาโรชิ” (Karoshi Syndrome) เป็นภาวะทำงานหนักจนเกินไป ส่งผลกระทบต่อหัวใจและเส้นเลือดสมอง
จากที่ต้องทำงานกันแบบ “Work ไร้บาลานซ์” ทำงานหนัก กลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ หรือทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน ทุกวันนี้เริ่มเห็นบริษัทในญี่ปุ่น มุ่งให้ความสำคัญกับ “Work-Life Balance” คือการสร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิตให้กับพนักงานมากขึ้น ด้วยการปรับนโยบายการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์
ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ผู้คนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะกดดัน และเครียดมากขึ้น นี่จึงทำให้เวลานี้เริ่มเห็นหลายองค์กร ในประเทศต่างๆ ปรับนโยบายลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งองค์กรในญี่ปุ่นขานรับกับแนวคิดนี้มากขึ้นเช่นกัน
“Panasonic” ปรับการทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ อยากให้พนักงานมีเวลาพัฒนาทักษะ และชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
บริษัทญี่ปุ่นล่าสุดปรับเปลี่ยนการทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์คือ “Panasonic” (พานาโซนิค) โดยมองว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่ใช่แค่สร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตให้กับพนักงานเท่านั้น ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้พนักงานได้เพิ่มพูนทักษะใหม่ ได้รับการฝึกอบรมมากขึ้น และดึงดูดคนที่มีความสามารถร่วมทำงานกับบริษัท พร้อมทั้งปรับใช้รูปแบบการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น
“เราต้องส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเรา” Yuki Kusumi กล่าวถึงนโยบายการทำงานจากนี้ของบริษัท โดย Panasonic ต้องการให้พนักงานมีเวลามากขึ้นในการไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร หรืองานเสริม
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มีองค์กรในญี่ปุ่นบางบริษัท ปรับให้ทำงาน 4 วัน และมีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ เช่น
– Yahoo Japan ในปี 2017 เริ่มอนุญาตให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์สำหรับผู้ที่ต้องการ
– Microsoft Japan อนุญาตให้ทำงาน 4 วัน และหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2019 ผลปรากฏว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ – ประสิทธิผลให้กับองค์กร 40% และช่วยลดการใช้ไฟในบริษัท
– Encourage Technologies บริษัทพัฒนาระบบ เริ่มใช้แนวคิดทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในปี 2021 เนื่องจากมองว่า พนักงานรุ่นใหม่อายุน้อยให้คุณค่ากับการได้หยุดพัก ดังนั้นแนวคิดการทำงานนี้ จะทำให้เรามีความได้เปรียบเวลาบริษัทเปิดรับสมัครพนักงานใหม่
“รัฐบาลญี่ปุ่น” ส่งเสริมให้บริษัทอนุญาตพนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สร้าง Win – Win – Win ทั้งพนักงาน – องค์กร และเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อปี 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศนโยบายเศรษฐกิจและการคลังประจำปี หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ควรอนุญาตให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตามมีผู้เชี่ยวชาญมองว่าแนวคิดดังกล่าว มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายการขาดแคลนแรงงานในประเทศ และยังไม่แน่ใจว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ บริษัทต่างๆ จะให้การยอมรับหรือไม่ เนื่องจากฝั่งนายจ้าง มีความกังวลว่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการทำงาน ในขณะที่ลูกจ้าง หรือพนักงาน กังวลว่าจะมีการลดค่าจ้าง อีกทั้งมีบางสายงานที่ไม่สามารถทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ เช่น สายงานโลจิสติกส์ งานภาคบริการในบางกลุ่มธุรกิจ
แต่ทั้งนี้ ท่ามกลางความกังวลทั้งฝั่งนายจ้าง และลูกจ้าง พบว่ามีบางบริษัทที่อนุญาตให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลดีทั้งต่อองค์กร และพนักงาน เช่น Microsoft Japan หลังจากใช้แนวคิดการทำงานดังกล่าว ผลปรากฏว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ – ประสิทธิผลให้กับองค์กร 40% และช่วยลดการใช้ไฟในบริษัท ในขณะที่พนักงานรู้สึกพึงพอใจ
ขณะที่ “ข้อดี” ที่ทั้งองค์กร – พนักงาน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศจะได้จากการอนุญาตให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ คือ
– หากองค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กลับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้กับพนักงานได้มากขึ้น เช่น กรณี Microsoft Japan ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ – ประสิทธิผลให้กับองค์กร 40% และช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัท เช่น ค่าไฟ
– เสริมสร้างความสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) ให้กับพนักงาน
– ส่งเสริมให้เกิดสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดี
– พนักงานได้มีเวลามากขึ้นในการ Upskill, Reskill หรือแม้แต่ทำงานเสริมอื่นๆ ในยุคที่คนหารายได้เสริมคู่กับงานประจำ
– รักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กร
– ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ
– สร้างความยืดหยุ่นการทำงานในองค์กรมากขึ้น
– ลดต้นทุนบริษัท เช่น ค่าไฟ ค่าเอกสาร
– เมื่อคนมีวันหยุดมากขึ้น นำไปสู่การใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand