SCG D’COR ผนึกกำลัง Art4D พร้อม 2 สถาปนิกชั้นนำเมืองไทย จัดโครงการ UNIQUE THE SPACE ก้าวใหม่แห่งการสร้างส่วนร่วมภาคสังคมด้วยการดีไซน์ พร้อมดึงนักออกแบบร่วมเวิร์คช็อปเนรมิตสวนชุมชนโชฎึกเพื่อพัฒนาพื้นที่ เสริมศักยภาพสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีอรรถประโยชน์ต่อชุมชน ‘อัญชลี ชวนะลิขิกร’ ย้ำโปรเจกต์นี้ช่วยผลักดันพื้นที่ชุมชนให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพด้วยวัสดุตกแต่งมัลติฟังก์ชันจากเอสซีจีเดคคอร์ วัสุดทดแทนรักษ์โลกแบบ Circular Supplies ฟากสถาปนิกพันธมิตรเชื่อการพัฒนาระดับชุมชนสามารถผลักดันสู่เป้าหมายใหญ่ในการขับเคลื่อนระดับเมือง
นางอัญชลี ชวนะลิขิกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไฟเบอร์ซีเมนต์กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ Unique The Space นับเป็นโครงการแรกของ SCG D’COR ที่มีส่วนร่วมในภาคสังคมอย่างเป็นทางการ โดยเชื่อว่าการออกแบบจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ จึงคัดเลือกพื้นที่ชุมชุนที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สำหรับทุกคน ขณะเดียวกันต้องการเฟ้นหาศักยภาพและความเป็นไปได้ใหม่ๆจากการนำวัสดุเอสซีจี เดดคอร์มาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจี เดคคอร์, Art4D, We!Park, กลุ่มปั้นเมือง และ 2 สถาปนิกชั้นนำของเมืองไทย วสุ วิรัชศิลป์ จาก VaSLab Architecture และ มนัสพงษ์ สงวนโรจนวุฒิ จาก Hypothesis รับหน้าที่เป็นสถาปนิกที่ปรึกษา (Mentor) ให้กับสถาปนิกและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีจิตใจรักการออกแบบเพื่อสาธารณะ พร้อมตัวแทนจาก ปั้นเมือง ตวงพร ปิตินานนท์ และ We!Park ยศพล บุญสม ร่วมให้คำปรึกษาในด้านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมและการออกแบบพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) เพื่อเอื้อต่อกิจกรรมสุขภาวะของชุมชนภายใต้โจทย์ “Unique The Space” imagine a better place, a better city ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาส่วนย่อยในระดับชุมชนสู่การขับเคลื่อนเมืองในระดับประเทศ ด้วยสวนต้นแบบที่องค์กรพร้อมต่อยอดพัฒนาสู่สวนอื่นในอนาคต โดยเน้นการใช้วัสดุทดแทน Circular Supplies เพื่อรักษาต้นทุนของธรรมชาติ ในทางกลับกันได้ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“โครงการนี้นับว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ประมาณเมษายน ปี 2563 แต่เราพยายามจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยมีการลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บบันทึกความต้องการชุมชน การพบปะเพื่อทำความรู้จักกันภายในทีมออกแบบ รวมถึงการนำเสนอแบบต่อชุมชนโชฎึก พร้อมเวิร์คช็อปในรูปแบบ Hybrid Working ที่เราลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อสานต่อโครงการให้เดินหน้าต่อแบบไร้อุปสรรค นับว่าท้าทายนักออกแบบรวมถึงทีมงาน และทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
สำหรับโครงการ Unique The Space วัสดุหลักในการเนรมิตพื้นที่ เราเปิดโอกาสให้นักออกแบบสามารถเลือกวัสดุตกแต่งจากเอสซีจี เดคคอร์ได้ตามจินตนาการที่คิดไว้โดยไม่จำกัด เพื่อให้เกิดไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ซึ่งเมื่อการออกแบบสวนชุมชนโชฎึกแล้วเสร็จก็พบว่า วัสดุตกแต่งเอสซีจี เดคคอร์ มีมุมมองและความเป็นไปได้ที่ไม่ยึดติดแค่การใช้ในรูปแบบเดิม เป็นประโยชน์กับนักออกแบบ ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์มีความเป็นไปได้ในการใช้งานที่หลากหลายกว่าที่มันควรจะเป็น นอกจากนี้วัสดุของเอสซีจีเดคคอร์ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการคิดค้นเพื่อเป็นวัสดุทดแทนมาตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการใช้วัสดุธรรมชาติ ซึ่งวัสดุดังกล่าวจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี” คุณอัญชลี กล่าว
วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกที่ปรึกษา VaSLab Architecture เผยว่า การ workshop ครั้งนี้ เราให้อิสระน้องๆนักออกแบบในทีมช่วยกันคิดว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการคืออะไร โดยวัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในงานออกแบบเป็นไม้ตกแต่งอเนกประสงค์ เอสซีจี เดคคอร์ รุ่น ไลน์ ซึ่งเน้นตกแต่งบริเวณสนามเด็กเล่นและบริเวณรั้วริมคลอง นับเป็นจุดเด่นของงานออกแบบครั้งนี้ที่สวยสะดุดตาจากเส้นสายของตัวระแนงไม้ เสริมให้พื้นที่ดูอบอุ่น ที่สำคัญวัสดุติดตั้งง่าย ดูแลรักษาง่ายกว่าไม้จริง เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่กลางแจ้ง และรู้สึกมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ถ้าเราทำสิ่งเล็กๆแล้วเกิดผล จากชุมชนเป็นจังหวัดเป็นประเทศ เรื่องพวกนี้เป็นโปรเจกต์เล็กที่เกิดผลใหญ่ ด้าน มนัสพงษ์ สงวนโรจนวุฒิ สถาปนิกที่ปรึกษา Hypothesis เปิดเผยว่า ได้เริ่มจากการให้น้องในทีมเข้าไปสำรวจพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลาของวัน เพื่อให้เห็นความต้องการและซึมซับบรรยากาศของชุมชน โดยองค์ประกอบภายในสวนชุมชน เช่น กระถางต้นไม้และที่นั่ง ได้เลือกใช้วัสดุตกแต่งพื้นผิว เอสซีจี เดคคอร์ รุ่นโมดิน่า ด้วยดีไซน์ของวัสดุที่มีลายเส้นในตัว เมื่อนำมาใช้งานจึงช่วยเพิ่มมิติ texture แสงและเงาให้กับผลงานจึงดูไม่น่าเบื่อ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานออกแบบเพื่อชุมชนเช่นเดียวกับน้องๆทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ โครงการนี้จะช่วยปลูกจิตสำนึกสาธารณะภายในใจของพวกเขา ที่กำลังจะเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ในสังคม
ขณะที่ นางสาวตวงพร ปิตินานนท์ สถาปนิกชุมชนกลุ่มปั้นเมือง เผยว่า สำหรับจุดมุ่งหมายของการทำงานในพื้นที่มาจากความต้องการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านเก่าในเขตเมืองให้เติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองโดยยังรักษาคุณค่าและจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชน ย้ำถึงการมีสิทธิ์มีเสียงในการเป็นส่วนสำคัญของการลุกขึ้นมาจัดการพื้นที่ของตนเองและเป็นบรรทัดฐานของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอื่นๆในอนาคต่อไป ด้านนายยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้ง We!park มองว่า สวนชุมชนโชฎึกเดิมเคยเป็นพื้นที่เศษเหลือและเป็นพื้นที่รกร้างริมคลองผดุงกรุงเกษมใจกลางชุมชน ก่อนจะกลายเป็นสวนชุมชนปัจจุบัน อีกทั้งชุมชนโดยรอบมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม สวนชุมชนโชฎึกจึงถูกบรรจุเป็นหนึ่งในพื้นที่การปรับปรุงพื้นที่ริมคลองของเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่ง We!Park ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา นอกจากนี้สวนดังกล่าวยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 (Bangkok Design Week 2021) นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่งานออกแบบได้พัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนพร้อมกับการพัฒนาเมืองไปพร้อมๆกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีเปิดสวนชุมชนโชฎึกรูปแบบใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่นักออกแบบที่เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปออกแบบสู่การก่อสร้างจริง Unique The Space และถือโอกาสกลับมาจัดแสดงผลงานผ่านเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 (Bangkok Design Week 2021) ที่จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบต่างๆที่สถาปนิกให้ความสนใจตามจุดแสดงผลงานย่านเจริญกรุงและตลาดน้อยซึ่งรวมถึงพื้นที่ชุมชนโชฎึก นับเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่กิจกรรมเข้าด้วยกัน ผลักดันให้เกิดการใช้งานพื้นที่จากการออกแบบจริง สร้างโอกาสใหม่ให้ย่านเก่ากลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนจากการดีไซน์
“จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชุมชนโชฎึก เอสซีจี เดคคอร์ เชื่อว่าต้นแบบจากพื้นที่สาธารณะแห่งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ตลอดจนเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนโมเดลใหม่ที่จะถูกทำซ้ำในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อให้เมืองกรุงเทพฯของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นกว่าวันวาน” นางอัญชลี กล่าวทิ้งท้าย