HomeBrand Move !!“เกาหลีใต้” กับแผนพลิกประเทศสู่การเป็นยักษ์ใหญ่แห่ง “Metaverse” อันดับ 5 ของโลก-เตรียมพัฒนาคน และธุรกิจ

“เกาหลีใต้” กับแผนพลิกประเทศสู่การเป็นยักษ์ใหญ่แห่ง “Metaverse” อันดับ 5 ของโลก-เตรียมพัฒนาคน และธุรกิจ

แชร์ :

เกาหลีใต้ Metaverse

“เกาหลีใต้” ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ดังจะเห็นอันดับประเทศที่มีการใช้งบเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) ในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) พบว่าในปี 2019 เกาหลีใต้ติด Top 5 ประเทศที่มีการใช้งบ R&D มากที่สุดของโลก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยงบ R&D ทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชนรวมกันอยู่ที่ 89.05 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.9% จากปีก่อนหน้า โดยคิดเป็น 4.64% ของ GDP ประเทศ

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค “Metaverse” เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆ บรรจุแผน Metaverse อยู่ในการพัฒนาเมือง, ศิลปะ, วัฒนธรรม, การท่องเที่ยว, บริการสาธารณะ และด้านอื่นอีกมากมาย ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีน, 6G, AI และชิป ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีทั้งในวันนี้ และอนาคตข้างหน้า

 

รัฐบาลเกาหลีใต้จัดสรรงบ R&D 20.8 พันล้านดอลลาร์ ยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยี

“กระทรวงวิทยาศาสตร์ และไอซีทีเกาหลีใต้” ได้จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภาคเทคโนโลยีของประเทศในปี 2022 อยู่ที่ 23.5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยงบประมาณนี้จะถูกนำไปใช้กับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น

– พัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนโรคติดเชื้อ เช่น วัคซีน mRNA ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีการผลิต, การจัดเก็บ และการจัดจำหน่าย เพื่อผลักดันประเทศให้เป็น “ศูนย์กลางการผลิตวัคซีนระดับโลก” ซึ่งปัจจุบันวัคซีน COVID-19 พัฒนา Moderna, AstraZeneca, Novavax และ Sputnik V มีแผนจะผลิตในเกาหลีใต้

เกาหลีใต้คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีวัคซีน จะทำรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่า 488.1 พันล้านวอนในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้น 11.5% จากปี 2021

– ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เช่น เทคโนโลยี 6G, AI โดยจัดสรรงบ R&D ส่วนนี้ไว้ที่ 23.8 พันล้านวอนในปี 2022 เพิ่มขึ้น 151.5% จากปีที่แล้ว

– ลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคต ภายใต้งบ 390 พันล้านวอน เพิ่มขึ้น 10.5% จากปีก่อน

– ลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิป ด้วยงบ 360 พันล้านวอน เพิ่มขึ้น 26.9% จากปีก่อน

– จัดสรรงบ 1.89 ล้านล้านวอน สำหรับเทคโนโลยี Carbon Neutrality เพิ่มขึ้น 20.9% จากปีก่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050

South Korea Technology

 

4 เสาหลักขับเคลื่อนเกาหลีใต้สู่ประเทศแห่ง Metaverse

หลังจากก่อนหน้านี้ “Oh Se-hoon” นายกเทศมนตรีโซล ประกาศว่าจะเป็นเมืองแรกของโลกที่เข้าสู่โลก Metaverse ในชื่อ “Metaverse Seoul” ภายใต้แผนยุทธศาตร์ “Seoul Vision 2030” กำหนดเป้าหมายมุ่งพัฒนามหานครแห่งนี้ ให้เป็นเมืองแห่งการอยู่ร่วมกัน และเป็นเมืองแห่งอารมณ์ (Emotional City) ในอนาคต

โดยจะทุ่มงบประมาณ 3.9 พันล้านวอน ในการพัฒนา “Metaverse Seoul” เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการเข้าถึง สาธารณะ การท่องเที่ยว ด้านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่น

– ในปี 2023 รัฐบาลกรุงโซลจะเปิด “Metaverse 120 Centre” ศูนย์บริการสาธารณะเสมือนจริง และมีเจ้าหน้าที่รัฐในร่างอวตาร์ คอยให้บริการแก่ประชาชน

– เยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์​ และแหล่งท่องเที่ยวของเมืองโซลผ่าน “Virtual Tourist Zone” บนโลก Metaverse Seoul เช่น พระราชวังถ็อกซูกุง (Deoksugung Palace) จตุรัสควางฮวามุน (Gwanghwamun Plaza) ประตูทงแดมุน (Donuimun Gate) หนึ่งในป้อมประตูของเมืองโซล ที่ถูกทำลายลงในปี 1915 แต่จะมีการสร้างใหม่ในโลกเสมือนจริง ตลาดนัมแดมุน (Namdaemun Market) เป็นตลาดเก่าแก่อยู่คู่โซลมายาวนาน

– พัฒนาบริการ และออกแบบคอนเทนต์ที่คำนึงถึงการใช้งานสะดวก – ปลอดภัยสำหรับผู้พิการ

– ใช้แชทบอท AI ให้บริการตอบคำถามประชาชน และรับทุกเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่การฝ่าฝืนกฎการจอดรถ ไปจนถึงหลักการปฏิบัติป้องกัน COVID-19

– มีสำนักงานนายกเทศมนตรีเสมือนจริง ศูนย์ปฏิบัติการ FinTech Lab, Seoul Campus Town

– ประชาชนโซลใช้ VR พบเจ้าหน้าที่ของกรุงโซล เพื่อขอคำแนะนำบนโลกเสมือนจริงได้ และในอนาคตมีแผนต่อยอดไปสู่การจัดกิจกรรม Virtual โดยที่ผู้คนเพียงแค่สวม VR ก็สามารถเข้าร่วมงานเสมือนจริงได้

และก่อนจะถึงปี 2023 ทางโซลได้เริ่มจัดกิจกรรมรูปแบบเสมือนจริงแล้ว ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปี 2022 จัดให้มีการตีระฆังที่โพชินกัง (Bosingak Belfry) ในรูปแบบเสมือนจริง ตีเป็นจำนวน 33 ครั้งในช่วงเวลาเที่ยงคืน เพื่อรับปีใหม่

Metaverse-Seoul

ล่าสุด “กระทรวงวิทยาศาสตร์​และไอซีที” ประกาศยุทธศาสตร์สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Metaverse เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับโลกอนาคต

โดยมี 4 แกนสำคัญที่จะทำให้เกาหลีใต้ ทรานส์ฟอร์มไปสู่ประเทศแห่ง Metaverse ประกอบด้วย

1. ส่งเสริมให้เกิดการสร้างระบบนิเวศแพลตฟอร์ม Metaverse

2. บ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse

3. สนับสนุนองค์กรเอกชน และสตาร์ทอัพในการพัฒนาเทคโนโลยี Metaverse ประเภทต่างๆ

4. สร้างระบบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน Metaverse

ภายใต้แผนงาน เกาหลีใต้มีแผนจะใช้เทคโนโลยี Metaverse ทั้งในด้านศิลปะ, วัฒนธรรม, การศึกษา, K-Pop, บริการสาธารณะ การท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างสถาบันภาษาเกาหลีออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์ม Metaverse เพื่อทำให้ชาวต่างชาติที่สนใจศึกษาภาษาเกาหลี เข้ามาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

การพัฒนา Metaverse ประเภทต่างๆ จะนำโดย “ภาคเอกชน” เป็นหลัก ในขณะที่บทบาทของรัฐบาล เน้นให้การสนับสนุนนักพัฒนา และบริษัทต่างๆ ด้วยมาตรการส่งเสริมด้านต่างๆ

เช่น การนำ Metaverse มาใช้กับบริการสาธารณะ รัฐบาลจะใช้แพลตฟอร์ม Metaverse ที่พัฒนาโดยเอกชนมากกว่าจะไปสร้างเวอร์ชั่นของตัวเอง

ดังนั้นเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐาน Metaverse ทั่วประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมให้การสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง และสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น

– จัดตั้ง Metaverse Hub ภายในปี 2022 เพื่อเป็นพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพได้รับการสนับสนุน

– ตั้งกองทุน Metaverse เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บริษัทขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้สามารถขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ

– นอกจากนี้มีเป้าหมายต้องการสร้างสภาพแวดล้อมของโลก Metaverse ให้มีความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน จึงมีแผนร่างหลักจริยธรรมสำหรับโลกเสมือนจริง และด้วยความที่ Metaverse แตกต่างจากเว็บไซต์ ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปรับแก้กฎระเบียบหากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุง

South Korea

 

ตั้งสถาบันการศึกษา Metaverse บ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญ – ปักธงเป็นประเทศ Metaverse ใหญ่อันดับ 5 ของโลกภายในปี 2026

ใน 4 แกนหลักของการทรานส์ฟอร์มไปสู่ประเทศแห่ง Metaverse ใหญ่ระดับโลก นอกจากส่งเสริมภาคเอกชน นักพัฒนา สร้างระบบความปลอดภัยแล้ว การบ่มเพาะและพัฒนา “บุคลากร” ด้านเทคโนโลยี Metaverse ถือเป็นภารกิจหลักสำคัญเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนจะสร้างสถาบันการศึกษาด้าน Metaverse โดยเฉพาะ (Metaverse Academy) เพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และช่วยจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย 2 แห่งในปีนี้ โดยจะให้การสนับสนุนด้านการเงิน 5.5 พันล้านวอน หรือประมาณ 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับแต่ละสถาบันการศึกษาภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้จะจัดให้มีการแข่งขันด้านการพัฒนาโปรแกรม Metaverse และมีโครงการ Hackathons การแข่งขันระดมความคิดและการพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมภายในเวลาอันรวดเร็วสำหรับเหล่านักสร้างสรรค์ Metaverse

โดยเกาหลีใต้ตั้งเป้าจะเป็นตลาด Metaverse ใหญ่อันดับ 5 ของโลกภายในปี 2026 รวมทั้งสามารถสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse 40,000 คน และมีบริษัทที่เชี่ยวชาญด้าน Metaverse โดยเฉพาะ 220 บริษัท

Metaverse คือทวีปดิจิทัลแห่งใหม่ที่ไม่มีขีดจำกัดด้านศักยภาพ และทุกคนสามารถบรรลุความฝันของตัวเองได้ ด้วยการเป็นตัวละครหลักในโลก Metaverse โดยเฉพาะจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะเจอกับความท้าทาย และเติบโตมากขึ้นในโลกที่กว้างใหญ่กว่าเดิม

จากกลยุทธ์การพัฒนาประเทศสู่ Metaverse เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุนต่างๆ เช่น พัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรม, ส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถ, บ่มเพาะและสนับสนุนบริษัท และมีกฎระเบียบที่ทันสมัย เพื่อให้เกาหลีสามารถเป็นผู้นำประเทศแห่ง Metaverse ในระดับโลก” Lim Hye-sook รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีที สรุปถึงวิสัยทัศน์ของเกาหลีใต้นับจากนี้

South Korea

 

 

Source

Source

Source

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like