ประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ยังวุ่นต่อ! หลังจาก บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ศาลปกครองกลาง กรณีพิพิาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565
การฟ้องคดีนี้มาจาก เลขาธิการ คปภ. ได้คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย (ห้ามบริษัทประกันบอกเลิกกรมธรรม์โควิด เจอจ่ายจบ)
วันที่ 14 มกราคม 2565 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้มาให้ข้อมูลในการไต่สวนคำฟ้องของศาลปกครองกลาง โดยบอกว่าประเด็นหลักๆ ที่ชี้แจงกับศาล คือ
1. คำสั่งนายทะเบียนเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ เจอจ่ายจบ 10 ล้านคน เพราะหากมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยก่อนครบสัญญา ประชาชนที่ทำประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ จะถูกลอยแพ คปภ.จำเป็นต้องต่อสู้อย่างเต็มที่
2. ไม่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐาน ของบริษัทประกันภัยในการอ้างเหตุเรื่องความเสี่ยงที่มีมากขึ้น และโยนภาระกลับไปให้ประชาชนผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยการบอกเลิกกรมธรรม์
3. ไม่ต้องการให้ธุรกิจประกันภัยที่มีการบริหารความเสี่ยงผิดพลาด อาศัยเหตุบอกเลิกกรมธรรม์ โดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่จะมีผลผูกพันต่อระบบประกันภัยของประเทศที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมาก
– ในการไต่สวนประเด็นหลักที่ศาลได้มีการพิจารณาว่ามีเหตุจะรับฟ้องหรือไม่ คือระยะเวลาฟ้องคดีนี้ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพราะหากเกินเวลาก็จะไม่รับฟ้องได้ ยกเว้นเป็นกรณีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้อง คือ ภายใน 90 วัน หลังมีคำสั่ง (คำสั่งออกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564)
– โดยผู้ฟ้องคดี (บริษัทประกันภัย) ระบุว่าไม่มีการรับรู้คำสั่ง คปภ. เพราะไม่มีการส่งคำสั่งไปให้บริษัทประกันภัย กรณีนี้ คปภ.ได้ชี้แจงแนวปฏิบัติว่า เป็นคำสั่งทั่วไป ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ส่งไปที่บริษัทประกันภัย โดยใช้วิธีประกาศลงเว็บไซต์ของ คปภ. และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน
– เลขาฯ คปภ. บอกว่าคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ออกมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีสื่อมวลชนลงข่าวทั้งออนไลน์ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ช่วงวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2564 ดังนั้นผู้ฟ้องคดี (บริษัทประกันภัย) จะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งไม่ได้ เพราะผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 บริษัท ยังออกมายืนยันว่าจะคุ้มครองผู้เอาประกันภัยโควิดทุกประเภทจนกว่าจะสิ้นระยะเวลาคุ้มครอง
– คำสั่งห้ามบอกเลิกกรมธรรม์เจอจ่ายจบ เป็นเรื่องใหญ่ที่สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวจำนวนมาก ประชาชนรับรู้ข้อมูลว่ามีการออกคำสั่งนี้มาคุ้มครองจากกรณีที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ออกประกาศบอกเลิกกรมธรรม์เป็นรายแรก
– ผู้ฟ้องคดี (บริษัทประกันภัย) ได้ชี้แจงว่าจากข่าวที่ลงเรื่องคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน เพราะเกรงว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต
– ดังนั้นกรณีนี้หากผู้ฟ้อง (บริษัทประกันภัย) รับรู้ว่ามีคำสั่งห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ขณะที่กฎหมายระบุให้ฟ้องคดีได้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ประกาศคำสั่ง จึงเป็นข้อมูลที่ศาลจะพิจารณาหลักฐานต่างๆ ต่อไปว่าจะรับฟ้องคดีได้หรือไม่ โดยจะมีการนัดฟังคำสั่งอีกครั้ง
– ถ้าศาลรับคดีไว้พิจารณา ก็จะมีการนัดไต่สวนคำขอของผู้ฟ้องคดี (บริษัทประกัน) 2 ข้อ คือ 1.ขอให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน เรื่องห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ เจอจ่ายจบ 2.ระหว่างพิจารณาคดี ได้ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้คำสั่งนายทะเบียน เรื่องห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ เจอจ่ายจบ มีผลบังคับใช้
– หากศาลรับฟ้องและไต่สวนแล้ว มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมาด้วย ก็จะส่งผลกระทบกับ 10 ล้านคนที่ถือกรมธรรม์เจอจ่ายจบ เพราะระหว่างพิจารณาคดี บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ศาลบอกว่าจะพิจารณาโดยเร็ว
“การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ คือ การที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยมอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันภัยที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้ ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ฯในช่วงสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกันภัย จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าว