โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) เตรียมพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับรถยนต์ของตัวเองแล้ว โดยจะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถควบคุมฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นฐานและฟังก์ชันล้ำ ๆ เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและติดตั้งลงในรถยนต์ของทางค่ายในปี 2025
โตโยต้าตั้งชื่อระบบปฏิบัติการดังกล่าวว่า Arene และมีแผนจะติดตั้งลงในรถยนต์ของทางค่ายในปี 2025 นอกจากนั้น ทางบริษัทยังมีแผนพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับค่ายซูบารุ (Subaru) และทำรายได้จากการขายไลเซนต์ให้กับให้กับบริษัท – สตาร์ทอัพที่สนใจพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า – รถอัจฉริยะไร้คนขับด้วย
ส่วนความสามารถของ Arene นั้น มีตั้งแต่ความสามารถพื้นฐาน เช่น การควบคุมพวงมาลัย เบรก และคันเร่งของรถได้ การให้ข้อมูลด้านสภาพจราจร ฯลฯ โดยตัวระบบสามารถอัปเดทได้ผ่านออนไลน์ ไม่ต่างจากการอัปเดทซอฟต์แวร์ของสมาร์ทโฟนที่เราคุ้นเคย
นอกจากนี้ โตโยต้าเผยว่า จะเปิดให้นักพัฒนาจากภายนอกเข้ามาร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับยานยนต์อัจฉริยะด้วย ซึ่งจะทำให้ Arene เป็นแพลตฟอร์มที่มีแอปพลิเคชัน – บริการที่หลากหลายให้บริการ และนำไปสู่การมี Data ที่มากขึ้น ซึ่งโตโยต้าสามารถนำไปพัฒนาบริการใหม่ ๆ ได้อีกต่อ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่โตโยต้าที่มองเห็นโอกาสนี้ เพราะค่ายคู่แข่งอย่าง Volkswagen, Daimler และ General Motors ก็กำลังมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน โดย Volkswagen มีแผนพัฒนาระบบปฏิบัติการชื่อ vw.os ขณะที่ Daimler ก็กำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการชื่อ MB.OS เพื่อใช้ในรถยนต์ของทางค่ายให้ทันปี 2024 เช่นกัน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า รูปแบบที่ค่ายรถยนต์ระดับโลกกำลังมุ่งไปนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทิศทาง จากเดิมที่เน้นในเรื่องฮาร์ดแวร์ไปสู่การใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีบริษัทวิจัย Lux Research คาดการณ์ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิสก์และซอฟต์แวร์จะกลายเป็นต้นทุนหลักในการพัฒนารถยนต์ (50% ของต้นทุนทั้งหมด) ภายในปี 2030
สำหรับโตโยต้า นอกจากการประกาศว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการให้กับรถยนต์ของตนเองแล้ว ทางบริษัทก็มีแผนจะเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ให้มากขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนแค่ 20% ของพนักงานเป็น 40 – 50% ด้วย แต่ไม่มีการเผยให้ทราบว่าบริษัทจะลงทุนในเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าไร