“โซเชียลมีเดีย” เป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารสำคัญสำหรับธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่ผ่านมา ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบากจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้โซเชียลมีเดียยิ่งมีความสำคัญ เพราะช่วยให้แบรนด์เชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง แล้วในปีที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียใดที่แบรนด์ต่างๆ นิยมมากที่สุด บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WISESIGHT เผยรายงานภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียของภาคธุรกิจกว่า 2,000 แบรนด์ชั้นนำ จาก 20 ภาคธุรกิจ โดยเก็บข้อมูลจาก 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube จาก 3 ล้านข้อความที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
10 ประเด็น โซเชียลมีเดียเชิงธุรกิจปี 2564
1.ภาพรวมการพูดถึงภาคธุรกิจบนโซเชียลมีเดีย แบรนด์ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวม 467 ล้านครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 24% และมีการโพสต์รวม 3 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่ใช้พื้นที่บน Facebook เป็นหลักเช่นเดิม คิดเป็นสัดส่วน 86% จากโพสต์ และ 82% จากเอ็นเกจเมนต์ รองลงมาคือ Instagram คิดเป็นสัดส่วน 10% จากโพสต์และ 11% จากเอ็นเกจเมนต์
2.ธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด คือ ธุรกิจร้านอาหาร รองลงมาคือ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่วนธุรกิจที่มีการโพสต์บ่อยที่สุดยังคงเป็นของห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์เช่นเดิม
3.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ยังครองอันดับ 1 ที่ทำเอ็นเกจเมนต์ได้สูงสุดบน Twitter เช่นเดิม อีกทั้งยังแซงธุรกิจร้านอาหารขึ้นมาเป็นอันดับ 1 บน Instagram ได้ด้วย
4.การใช้งานของแต่ละแพลตฟอร์มใกล้เคียงกับปี 2563 คือ แบรนด์เลือกใช้ Facebook มากที่สุด (99%) รองลงมาคือ Instagram (66%), YouTube (50%) และ Twitter (29%) ตามลำดับ
5.82% ของแบรนด์ มีบัญชีทางการมากกว่า 2 แพลตฟอร์ม โดยยังคงใช้ Facebook เป็นหลัก ส่วนแพลตฟอร์มที่เลือกใช้รองลงมาจะเลือกจากไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในธุรกิจนั้น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การท่องเที่ยว หรือช้อปปิ้ง จะใช้ Instagram ส่วนธุรกิจรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะใช้ YouTube
6.เอ็นเกจเมนต์บน Facebook และยอดเข้าชมบน YouTube ยังลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่โพสต์จาก Twitter และ Instagram ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะโดดขึ้นในช่วงกลางปีและปลายปีอย่างชัดเจนจากแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ
7.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมสูงสุดบน Facebook คือธุรกิจวัสดุก่อสร้าง รองลงมาคือ ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจเครื่องดื่มตามลำดับ แต่ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว มียอดเอ็นเกจเมนต์ลดลงจากปีที่แล้ว 25-35% ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว เกือบทุกกลุ่มธุรกิจต่างลดลงกันทั้งสิ้น
8.ขณะที่ Facebook ภาพรวมลดลง แต่ Twitter กลับมีเอ็นเกจเมนต์เพิ่มขึ้นในหลายธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเม้นต์รวมสูงสุดบน Twitter คือ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รองลงมาคือ ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจโทรคมนาคม ตามลำดับ
9.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมสูงสุดบน Instagram คือ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รองลงมาคือ ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจร้านอาหารตามลำดับ โดยส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมชิงรางวัล x ศิลปินหรือคู่จิ้นที่ได้รับความนิยม
10.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับยอดเข้าชมรวม (View) บน YouTube คือธุรกิจเครื่องดื่ม รองลงมาคือ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายตามลำดับ โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้ มาจากการนำเสนอโปรโมชัน และกิจกรรมชิงรางวัล ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่มียอดเข้าชมลดลง ยกเว้นธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจสกินแคร์, ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์สโตร์และธุรกิจการเงิน (สินเชื่อ)