HomeBrand Move !!สรุปประมูลวิทยุครั้งแรกในรอบ 92 ปี ‘อสมท’กวาดไปสูงสุด GMM คว้า 106.5 กรีนเวฟ ส่วน RS ไม่เข้าชิงคลื่นฯ

สรุปประมูลวิทยุครั้งแรกในรอบ 92 ปี ‘อสมท’กวาดไปสูงสุด GMM คว้า 106.5 กรีนเวฟ ส่วน RS ไม่เข้าชิงคลื่นฯ

แชร์ :

nbtc radio coverนับจากกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2473 เมื่อมีการเปิด “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” ที่วังพญาไท ซึ่งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย มาถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 คือ สำนักงาน กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรกในรอบ 92 ปี


ย้อนรอยคลื่นวิทยุ 92 ปี

– ตลอดช่วง 92 ปี ของกิจการวิทยุกระจายเสียง หน่วยงานที่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุทั้ง FM และ AM ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คือหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ กรมตำรวจ กรมประชาสัมพันธ์ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ อสมท) รัฐวิสาหกิจต่างๆ และเปิดให้เอกชนเข้ามารับช่วงเช่าเวลาผลิตรายการ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

– หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 กำหนดให้จัดตั้งองค์กรอิสระ 2 องค์กร คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม

– ต่อมารัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 47 ให้จัดตั้งองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จนถึงปัจจุบัน

– เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ได้มี กสทช.ชุดแรก 11 คน มาทำหน้าที่ดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ ได้เปลี่ยนจากระบบสัมปทาน มาเป็นระบบ “ใบอนุญาต” โดยเริ่มมีการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2555 ในกลุ่มคลื่นความถี่โทรคมนาคม 3G ครั้งแรก ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2556 ประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล และท้ายสุดคลื่นวิทยุ

nbtc radio auction

ประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรก

1. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อน กสทช. ชุดปัจจุบันที่เหลืออยู่ 6 คน จะครบวาระ ได้จัดประมูลคลื่นวิทยุ FM “ประเภทธุรกิจ” ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 74 คลื่นความถี่ (แต่มีผู้ยื่นประมูล 71 คลื่นฯ) กำหนดราคาขั้นต่ำรวม 398 ล้านบาท (รวมทุกคลื่นฯ) แต่ละคลื่นฯ มีราคาขั้นต่ำแตกต่างกัน ในกรุงเทพฯ สูงสุด 54.83 ล้านบาท ส่วนภูมิภาคต่ำสุดเริ่มต้น 105,000 บาท การกำหนดราคาดูจากการครอบคลุมพื้นที่ของคลื่นฯ โดยวิทยุธุรกิจโฆษณาได้ 10-12 นาทีต่อชั่วโมง ผู้ชนะประมูลได้รับสิทธิใช้ใบอนุญาต 7 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

2. การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมาย นับตั้งแต่เกิด กสทช. ในปี 2554 ขณะนั้นได้ให้สิทธิหน่วยงานรัฐ ที่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ ใช้คลื่นฯ ต่ออีก 5 ปีก่อนส่งคืน กสทช. นำมาจัดสรรใหม่เป็นระบบใบอนุญาต ต่อมา มีคำสั่ง คสช. ในปี 2559 ให้หน่วยงานรัฐ ใช้คลื่นวิทยุได้ต่อไปอีก 5 ปี ก่อนส่งคืน กสทช. คือ ถึงวันที่ 3 เมษายน 2564 (หากไม่จัดประมูลวิทยุ ประเภทธุรกิจ ก็ต้องยุติออกอากาศทั้งหมด)

3. สำหรับคลื่นความถี่วิทยุ 71 คลื่นฯ ที่นำมาประมูล เป็นคลื่นที่ กสทช. ได้ผ่อนผันให้หน่วยงานเดิมใช้คลื่นจนครบกำหนดและส่งคืนให้ กสทช. นำมาประมูลวิทยุธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นคลื่นวิทยุ อสมท, กรมประชาสัมพันธ์ และ กสทช. (จากหน่วยงานรัฐทยอยคืนคลื่นฯ มาก่อน) แบ่งเป็นความถี่ในเขต

  • กรุงเทพฯและปริมณฑล 8 คลื่นฯ
  • ภาคเหนือ 16 คลื่นฯ
  • ภาคกลาง 6 คลื่นฯ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 คลื่นฯ
  • ภาคใต้ 20 คลื่นฯ

4. ส่วนคลื่นวิทยุ ที่ไม่ได้นำมาประมูล หน่วยงานเจ้าของคลื่นฯ ได้มีการยื่นขอเป็นสถานีวิทยุเพื่อสาธารณะและความมั่นคง ซึ่งกระจายในทุกจังหวัด เช่น คลื่นวิทยุฯของ กองทัพ กรมประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นฯ 5 ปี

5. การยื่นขอใบอนุญาตเป็นวิทยุสาธารณะและความมั่นคง เพื่อไม่ต้องนำคลื่นฯ มาประมูล กสทช. กำหนดเงื่อนไขต้องจัดผังรายการที่มีเนื้อหาสาธารณะและความมั่นคง สัดส่วน 70% ของเวลาออกอากาศ มีผู้ร่วมจัดรายการได้สัดส่วน 30% ของเวลาออกอากาศเท่านั้น (ไม่สามารถปล่อยเช่าเวลาทั้งสถานีเหมือนที่ผ่านมา) และหารายได้ตามความจำเป็น โฆษณาได้ 8-10 นาทีต่อชั่วโมง (ต่างจากคลื่นฯ วิทยุธุรกิจ โฆษณา 10-12 นาทีต่อชั่วโมง)

6. การประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรกในรอบ 92 ปี ยังเป็นการประมูลคลื่นวิทยุแอนาล็อก ไม่ใช่วิทยุดิจิทัล โดยเอกชนที่ชนะการประมูลจะได้ใบอนุญาตวิทยุประเภทธุรกิจ เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุเต็มรูปแบบครั้งแรก จากเดิมอยู่ในมือหน่วยงานรัฐ และเอกชนเป็นผู้เช่าเวลา

7. ในการประมูลครั้งนี้มีเอกชน 31 ราย ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูล คือ อสมท เข้าประมูล 55 คลื่นฯ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 6 คลื่นฯ และต่างจังหวัด 49 คลื่นฯ (จากเดิมมีทั้งหมด 60 คลื่นฯ), GMM Media 1 คลื่นฯ (ประมูลคลื่น 106.5 ซึ่งเดิมเช่าเวลาทำ กรีนเวฟ อยู่แล้ว) รวมทั้ง เอกชนที่ทำธุรกิจวิทยุและเช่าเวลาวิทยุของหน่วยงานรัฐอยู่เดิม

8. หลังจากประมูลวิทยุธุรกิจครั้งแรกในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นี้แล้ว หากมีหน่วยงานรัฐ คืนคลื่นฯ มาอีก กสทช. ก็จะนำมาประมูลในรอบต่อไป

9. ส่วนวิทยุชุมชนทั่วประเทศ 5,000 สถานี ขณะนี้ได้รับสิทธิใช้คลื่นวิทยุแบบทดลองออกอากาศจนถึง ปี 2567 หลังจากนั้นต้องอยู่ในระบบใบอนุญาตเช่นกัน ทั้งประเภทสาธารณะ ชุมชน และธุรกิจ (ประเภทธุรกิจ ต้องประมูลคลื่นฯ)

mcot radio bkk

ส่องราคาประมูลคลื่นวิทยุ

– สำหรับคลื่นวิทยุ FM ประเภทธุรกิจ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่นำมาประมูล 8 คลื่นฯ มีราคาเริ่มต้นสูงสุด โดยมีผู้ยื่นประมูลรายเดียว ดังนี้

1. ความถี่ 95.0 MHz ราคาขั้นต่ำ 50.09 ล้านบาท (ลูกทุ่งมหานคร) อสมท ยื่นประมูล
2. ความถี่ 96.5 MHz ราคาขั้นต่ำ 49.95 ล้านบาท (คลื่นความคิด) อสมท ยื่นประมูล
3. ความถี่ 98.5 MHz ราคาขั้นต่ำ 39.83 ล้านบาท  ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง ยื่นประมูล
4. ความถี่ 99.0 MHz ราคาขั้นต่ำ 49.64 ล้านบาท (Active Radio) อสมท ยื่นประมูล
5. ความถี่ 100.5 MHz ราคาขั้นต่ำ 49.62 ล้านบาท (News Network) อสมท ยื่นประมูล
6. ความถี่ 105.5 MHz ราคาขั้นต่ำ 36.38 ล้านบาท อสมท ยื่นประมูล
7. ความถี่ 106.5 MHz ราคาขั้นต่ำ 54.83 ล้านบาท (Green Wave) GMM Media ยื่นประมูล
8. ความถี่ 107.0 MHz ราคาขั้นต่ำ 48.29 ล้านบาท ( MET107) อสมท ยื่นประมูล

– สรุปการประมูลคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 8 คลื่นฯ ที่มีผู้ยื่นประมูลรายเดียว ได้เคาะประมูลเพิ่มราคารายละ 1 ครั้ง และเป็นผู้ชนะประมูลในกลุ่มนี้ คือ อสมท ทั้งหมด 6 คลื่นฯ, GMM Media 1 คลื่นฯ และ บริษัทลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง (ผู้ประกอบวิทยุชุมชนเดิม) 1 คลื่นฯ

– ส่วนคลื่นความถี่ 97.5 MHz (Mellow) เดิมเป็นคลื่นฯ อสมท แต่ อสมท ไม่ได้ยื่นประมูลคลื่นฯนี้ และไม่มีผู้ยื่นประมูล

– ส่วนเอกชนที่ทำธุรกิจวิทยุอยู่ในปัจจุบันและไม่ได้เข้าร่วมประมูลวิทยุในครั้งนี้ เช่น RS ของ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ที่เช่าหน้าปัดคลื่น FM 93.0 ทำคลื่น Cool Fahrenheit (คลื่นฯ ของทหารเรือ) การที่เอกชนที่ทำคลื่นวิทยุในปัจจุบัน ไม่ร่วมประมูล ส่วนหนึ่งมาจาก หน่วยงานรัฐเจ้าของคลื่นฯ เองไม่ได้คืนคลื่นฯ มาให้ กสทช. และได้ยื่นขอใบอนุญาตเป็นวิทยุสาธารณะและความมั่นคงแทน หากเป็นแบบนี้ก็ไม่สามารถปล่อยเช่าทั้งสถานีได้อีกต่อไป

– ที่ผ่านมาฝั่งเอกชนผู้ประกอบการวิทยุ ก็ได้ปรับตัวจากเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ด้วยการขยายช่องทางฟังวิทยุผ่าน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ และแพลตฟอร์ม มิวสิคสตรีมมิ่ง นอกจากระบบแอนาล็อกบนหน้าปัด FM ทำให้มีฐานผู้ฟังจากดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยไม่เข้าประมูลคลื่นวิทยุ ที่ต้องมีต้นทุนค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่

NBTC Radio cover

ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.

ตจว.แข่งกันเดือดชิงคลื่นฯ

– สำหรับการประมูลวิทยุครั้งนี้ ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวว่าคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯและปริมณฑล กำหนดราคาเริ่มต้นสูงทำให้มีผู้ยื่นเสนอราคารายเดียวและทุกรายกลายเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด (บอร์ด กสทช. จะรับรองการเป็นผู้ชนะประมูลในวันพุธ 23 กุมภาพันธ์) ทำให้ราคาประมูลวิทยุในกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากราคาเริ่มต้นมากนัก โดยคลื่นฯ ที่เสนอราคาสูงสุด คือ 106.5 (กรีนเวฟ) ของ GMM Media ประมูลไปด้วยราคา 55.33 ล้านบาท

– ส่วนการประมูลคลื่นวิทยุในต่างจังหวัด บางพื้นที่มีผู้ประมูลมากกว่า 1 ราย เนื่องจากราคาเริ่มต้นไม่สูง  ทำให้บางพื้นที่มีการแข่งขันเสนอราคากันสูง เช่น จังหวัดชลบุรี ราคาเริ่มต้น 2.64 ล้านบาท ประมูลจบที่ 19 ล้านบาท ,  จังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มต้น 9.42 แสนบาท จบประมูลไปที่ 28 ล้านบาท

“การแข่งขันประมูลคลื่นวิทยุในต่างจังหวัด มองว่าท้องถิ่นยังเห็นโอกาสจากการทำสื่อวิทยุ ที่เดิมไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของคลื่นฯมาก่อน” 

– การประมูลวิทยุวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จำนวน 71 คลื่นฯ รวมราคาเริ่มต้น 398 ล้านบาท  รวมเม็ดเงินประมูล 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากราคาเริ่มต้น

– สรุป อสมท ประมูลได้ 47 คลื่นฯ  บริษัทลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง  ประมูลได้ 13 คลื่นฯ  บริษัทเจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จำกัด 3 คลื่นฯ, บริษัทดินดิน จำกัด 2 คลื่นฯ, บริษัท นานา เอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด 1 คลื่นฯ, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย 1 คลื่นฯ, หจก.สุภัคพร กรุ๊ป 1 คลื่นฯ, หจก.พีระยา มีเดีย กรุ๊ป 1 คลื่นฯ และบริษัทสตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ 1 คลื่นฯ

– การประมูลวิทยุครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ เอกชน ผู้ประกอบการรายเดิมทั้งรายใหญ่ รายเล็ก มีโอกาสเข้าร่วมประมูล เพราะในพื้นที่ต่างจังหวัดราคาเริ่มต้นหลักแสนบาทต่อคลื่นฯ โดยผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้รับใบอนุญาตวิทยุธุรกิจเป็นครั้งแรก อายุใบอนุญาต 7 ปี  จากเดิมที่คลื่นวิทยุอยู่ในมือหน่วยงานรัฐทั้งหมด

เม็ดเงินโฆษณาวิทยุถดถอย

เมื่อสำรวจเม็ดเงินโฆษณาสื่อวิทยุตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา “นีลเส็น” รายงานตัวเลข “ลดลง” ต่อเนื่อง

– ปี 2557 มูลค่า 5,600 ล้านบาท
– ปี 2558 มูลค่า 5,675 ล้านบาท
– ปี 2559 มูลค่า 5,263 ล้านบาท
– ปี 2560 มูลค่า 4,476 ล้านบาท
– ปี 2561 มูลค่า 4,802 ล้านบาท
– ปี 2562 มูลค่า 4,741 ล้านบาท
– ปี 2563 มูลค่า 3,602 ล้านบาท
– ปี 2564 มูลค่า 3,261 ล้านบาท

ปัจจุบันการขายโฆษณาวิทยุ FM ในกรุงเทพฯ เฉลี่ยราคาสปอตละ 1,500-2,500 บาท ส่วนต่างจังหวัดนาทีละ 150 -500 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความนิยมของสถานี

แม้ กสทช. จัดประมูลคลื่นวิทยุธุรกิจครั้งแรกด้วยราคาเริ่มต้นไม่สูง หากคำนวณจากราคาประมูลของวิทยุในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีต้นทุนค่าใบอนุญาต 7 ปี เฉลี่ยปีละ 7-9 ล้านบาท (เดือนละ 5-7 แสนบาท) และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเดือนละ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับ 5-10 ปีก่อน ที่ค่าเช่าคลื่นวิทยุอยู่ที่ 1-3 ล้านบาทต่อเดือน

แต่ในยุคที่เม็ดเงินโฆษณาวิทยุลดลงเรื่อยๆ และผู้บริโภคมีช่องทางการเสพสื่อมากขึ้น จึงทำให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลไม่มากนัก โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งมีทางเลือกจากการทำวิทยุบนแพลตฟอร์มออนไลน์


แชร์ :

You may also like