HomeBrand Move !!AWC ตั้งองค์กรร่วมทุน 16,500 ล้าน จับมือกลุ่มสถาบันไทย-ต่างประเทศ เข้าลงทุน ‘ธุรกิจโรงแรม’

AWC ตั้งองค์กรร่วมทุน 16,500 ล้าน จับมือกลุ่มสถาบันไทย-ต่างประเทศ เข้าลงทุน ‘ธุรกิจโรงแรม’

ปี 64 พลิกกำไร 861 ล้าน เพิ่มขึ้น 192.5%

แชร์ :

wallapa CEO AWC

คุณวัลลภา ไตรโสรัส

บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ธุรกิจในเครือทีซีซีกรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่บริหารโดยคุณวัลลภา ไตรโสรัส (บุตรสาว) ยังเดินหน้าเข้าซื้อกิจการและลงทุนธุรกิจโรงแรม ในเมืองท่องเที่ยวเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอต่อเนื่อง เพราะเห็นโอกาสการเติบโตแม้เผชิญกับสถานการณ์โควิดมาแล้ว 2 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจากธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด -19 มีผู้ประกอบการจำนวนมากไปต่อไม่ไหว ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563  คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC ได้เคยบอกว่าช่วงนั้นมีผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งโรงแรมและสำนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มาเสนอขายกิจการกว่า 100 โครงการ และมีราว 30% ที่น่าสนใจ

ผู้ประกอบการที่มาเสนอขายส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3-5 ดาว ทั้งแบรนด์โรงแรมไทยและโครงการที่บริหารโดยเชนต่างประเทศ (คนไทยเป็นเจ้าของพร็อพเพอร์ตี้) โรงแรมที่มาเสนอขายมูลค่าหลัก 100 ล้านบาท ถึง 10,000 ล้านบาท ในทำเลหลักๆ อย่าง กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่

ส่วนของ AWC มีความสนใจลงทุนในธุรกิจโรงแรม ขณะนั้นจึงได้ศึกษาการจัดตั้งกองทุน ที่เรียกว่า Opportunity Fund เพื่อเข้าไปซื้อกิจการหรือร่วมทุน โดยคุยกับนักลงทุนไว้หลายราย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระดับโลกที่เข้าลงทุนใน AWC อยู่แล้ว Private Fund ทั้งไทยและต่างประเทศ ในเอเชีย ยุโรป สหรัฐฯ รวมทั้งธนาคารในประเทศและต่างประเทศที่จะมาร่วมกันจัดตั้งกองทุนเบื้องต้นเป็นกองทุนหลักหมื่นล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจโรงแรม

AWC ตั้งองค์กรร่วมทุน 16,500 ล้านลงทุนโรงแรม

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติอนุมัติให้ AWC ดำเนินการจัดตั้งองค์กรการร่วมทุน (Investment Vehicle) เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมสูงสุดประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16,500 ล้านบาท โดย AWC จะเข้าร่วมลงทุนประมาณ 15-60% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด และส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะเป็นการร่วมลงทุนจากผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แผนการลงทุนดังกล่าวเพื่อเป็นการวางรากฐานในการสร้างแหล่งรายได้แหล่งใหม่ให้ AWC โดยมาจากค่าธรรมเนียมในการพัฒนาและบริหารโครงการที่จะได้รับจากองค์กรการร่วมทุน (Investment Vehicle) ด้วยศักยภาพของกลุ่ม AWC และความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย พัฒนาชุมชนโดยรอบ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ AWC กำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงสร้างและสัดส่วนการเข้าลงทุนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น หากมีรายละเอียดเพิ่มจะแจ้งความคืบหน้าผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ในช่วงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 AWC ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวและลงทุนโครงการใหม่ ไม่ว่าจะเป็น

– ซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา สูง 14 ชั้น อยู่ติดถนนเลียบหาดจอมเทียน มีห้องพัก 287 ห้อง มูลค่า 550 ล้านบาท ใช้งบประมาณปรับปรุง 1,288 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุน 1,838 ล้านบาท

– ซื้อโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ (D2CM) ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก จากบริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ด้วยงบลงทุน 435 ล้านบาท

– เช่าที่ดินริมน้ำ “ล้ง 1919” จาก บริษัท หวั่งหลี จำกัด เป็นเวลา 64 ปีเศษ ด้วยงบลงทุน 3,436 ล้านบาท สร้างเป็น “The Integrated Wellness Destination” บริหารโดย The Ritz Carlton Hotel

The Lhong 1919 AWC

ซื้อหุ้น 4 บริษัท จาก”เจ้าสัวเจริญ” ลงทุน 3 โครงการ 4,498 ล้าน

นอกจากนี้บอร์ด AWC ได้อนุมัติการใช้สิทธิในการซื้อหรือพัฒนาทรัพย์สิน (Right to Purchase or Develop) ตามสัญญาให้สิทธิระหว่าง AWC กับ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี (ผู้ให้สิทธิ) ฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2562 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 13 สิงหาคม 2562

โดยการซื้อหุ้นเพื่อเข้าลงทุนใน 4 บริษัท จากผู้ถือหุ้นเดิม  (คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี) ประกอบด้วย บริษัท โฮเทลส์ เวิลด์ 9 จำกัด, บริษัท วาไรตี้ แอสเซ็ท 1 จำกัด, บริษัท รีเทล เวิลด์ 5 จำกัด และ บริษัท อิมม์ โฮเต็ล เจริญกรุง จำกัด  รายละเอียดดังนี้

1. การเข้าลงทุนในบริษัท โฮเทลส์ เวิลด์ 9 จำกัด โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดจำนวน 200,000 หุ้น หรือ 100% รวมมูลค่า 438 ล้านบาท นอกจากนี้ต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงการอีกประมาณ 1,536 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 1,978 ล้านบาท

โฮเทลส์ เวิลด์ 9 เป็นเจ้าของโครการ ดิ อิมพีเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล รีสอร์ท ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ขนาดพื้นที่  22-1-48 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดินและโรงแรม 5 ชั้น จำนวนห้องพัก 73 ห้อง  AWC จะพัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์โรงแรมระดับลักชัวรี เปิดประมาณไตรมาส 3 ใน ปี 2568 เน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง มีห้องพัก จำนวน 97 ห้อง

2. การเข้าลงทุนในบริษัท วาไรตี้ แอสเซ็ท 1 จำกัด และบริษัท รีเทล เวิลด์ 5 จำกัด โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด 500,000 หุ้น หรือ 100%  รวมมูลค่า 647 ล้านบาท นอกจากนี้ต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงการอีกประมาณ 983 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 1,637 ล้านบาท

ทั้ง 2 บริษัทเป็นเจ้าของโครงการทรงวาด ตั้งอยู่บนถนนทรงวาด สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ มีที่ดินจำนวน 2 แปลง ขนาดพื้นที่ 2-0-20.8 ไร่ และขนาดที่ดิน 0-3-69.8 ไร่

โดย AWC วางแผนพัฒนาโครงการทรงวาด ภายใต้แบรนด์โรงแรมระดับลักชัวรี จำนวน 89 ห้อง พร้อมจุดขายมีร้านอาหารและพลูบาร์ระดับหรู ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ตรงข้ามโครงการ ล้ง 1919 ที่ AWC ได้เข้าทำสัญญาเช่าที่ดินเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยโครงการทรงวาดจะเชื่อมต่อกันทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนการเดินทางวิถีแห่งสายน้ำ (The River Journey) และสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชิงสุขภาพระดับโลก คาดเปิดดำเนินการไตรมาส 1 ใน ปี 2569

3. การเข้าลงทุนในบริษัท อิมม์ โฮเต็ล เจริญกรุง จำกัด โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดจำนวน 5,000,000 หุ้น หรือ 100%  รวมมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท นอกจากนี้ต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงการอีกประมาณ 579 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 882 ล้านบาท

อิมม์ โฮเต็ล เจริญกรุง เป็นเจ้าของ “โครงการสวอน” ตั้งอยู่ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง บางรัก กรุงเทพฯ ขนาดที่ดิน 0-2-97 ไร่ อาคาร 4 ชั้น เดิมมีห้องพักจำนวน 67 ห้อง อยู่ใกล้กับโครงการอีเอซีและโอพีเพลส ที่ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 เป็นทรัพย์สินที่ AWC ถือครองอยู่แล้วในปัจจุบัน การเข้าซื้อโครงการสวอน จึงเป็นการสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาโรงแรมเพื่อเพิ่มจำนวนห้องพักและสัดส่วนของโรงแรมระดับลักชัวรี เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากที่ดินปัจจุบัน

คาดว่าจะเปิดดำเนินโครงการภายใต้แบรนด์โรงแรมระดับลักชัวรี จำนวน 69 ห้อง ประมาณไตรมาส 4 ใน ปี 2568 เน้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้แนวคิดการเดินทางผ่านกาลเวลาจากศิลปะคลาสสิกมาสู่ความร่วมสมัย

การซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 บริษัท ใน 3 โครงการดังกล่าว AWC มองว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มเงินลงทุนและสร้างคุณค่าให้แก่ชุมชนโดยรอบระยะยาว สร้างศักยภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดินปัจจุบัน เพิ่มจำนวนห้องพักและพอร์ตโฟลิโอกลุ่มลักชัวรี โดยจะใช้เงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงินประมาณ 4,498 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติวงเงินกู้แล้ว

ปี 64 AWC พลิกกำไร

สำหรับผลประกอบการ AWC ในปี 2564 มีรายได้ 8,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.2% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาครัฐได้ประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ และนโยบายเปิดประเทศ โดยมีกำไรสุทธิ 861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 192.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 931 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากโควิดหลายระลอก

– กลุ่มธุรกิจโรงแรมปี 2564 มีรายได้ 1,919 ล้านบาท ลดลง 35.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าจากผลกระทบโควิด

– กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ รายได้ปี 2564 ตามงบเท่ากับ 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราการเช่าพื้นที่ของธุรกิจอาคารสำนักงานทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง และได้รับกำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้น

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 AWC มีทรัพย์สินมูลค่า 138,897 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 59,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,325 ล้านบาท หรือ 7.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563

แผนธุรกิจ ปี 2565 เตรียมเปิดโรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ และ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการสำคัญเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวร่วมกับพันธมิตรระดับโลกที่จะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ระดับ Global Landmark เพื่อช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวของโลก เช่น โครงการเวิ้งนาครเขษม โครงการอควาทีค เดอะบีชฟรอนท์ พัทยา

เตรียมเปิดตัวโครงการ “The Integrated Wellness Destination” ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาฟื้นประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาภายใต้แนวคิด “The River Journey” เชื่อมต่อโครงการริมน้ำต่างๆ ของ AWC ด้วยการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ริมสายน้ำที่สำคัญของประเทศไทย

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ AWC ได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.01076 บาท รวมเป็นเงิน 344 ล้านบาท หากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 29 เมษายน 2565 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565


แชร์ :

You may also like