เทรนด์การเสิร์ช “Work From Hotel” เพิ่ม 1600% ชี้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยน ไม่เพียงทำงานจากนอกออฟฟิศเพิ่มขึ้น แต่ยังเบื่อบ้าน และอยากเปลี่ยนสถานที่ทำงานมากขึ้นด้วย
นอกจากการออกมาเปิดเผยรายงาน Year in Search เพื่อบอกเล่าพฤติกรรมการเสิร์ชของผู้บริโภคชาวไทยเป็นประจำทุกปีแล้ว ในปี 2021 ที่ผ่านมา ทาง Google ยังมีการเผยอินไซต์ของคนไทยในการใช้เสิร์ชเอนจินผ่านข้อมูลของ Year in Search 2021 เพิ่มเติมด้วย โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2021 การเสิร์ชในหัวข้อ “Work From Hotel” เพิ่มขึ้นถึง 1600% และผู้บริหาร Google ประเทศไทยเผยด้วยว่า เป็นเทรนด์ที่พบในไทยประเทศเดียว
คุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย เผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า เทรนด์การเสิร์ชในหัวข้อ Work From Hotel ที่เพิ่มขึ้น 1600% นี้สะท้อนหลายอย่างเกี่ยวกับผู้บริโภคชาวไทย นั่นคือ ผู้บริโภคไม่อยากทำงานในบ้านแล้ว และในขณะเดียวกัน ก็มีโรงแรมจำนวนมากที่ทำโปรโมชันให้มา Work From Hotel จึงเกิดการเติบโตของคำค้นหาดังกล่าวขึ้นมา
“ตอนแรกเราคิดว่าคนคงยังเสิร์ชหาพวกจอมอนิเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ดอยู่ แต่ปรากฏว่า เราไม่เห็นเทรนด์นั้นอีกแล้วในปี 2021 ซึ่งอาจแปลได้ว่าคนคงซื้อเมาส์ คีย์บอร์ดกันไปหมดแล้ว เราก็เลยมองในมุมอื่น ๆ เพิ่มเติม จึงพบว่าการเสิร์ช Work From Hotel เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
ผู้บริหาร Google เผยต่อไปด้วยว่า “ด้วยความที่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ใหญ่มากของประเทศไทย เมื่อลูกค้ากลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไม่ได้ โรงแรมจึงต้องปรับตัวทำการตลาดแนวใหม่ และกลายเป็นเทรนด์ที่เริ่มแพร่หลายในปีที่ผ่านมา”
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีเทรนด์นี้จนเป็นที่น่าสังเกตนั้น คุณศารณีย์เผยว่า อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศเหล่านั้นไม่ได้ใหญ่โตเหมือนประเทศไทย และอาจไม่ได้ส่งเสริมให้มีการ Work From Hotel ก็เป็นได้
“เราพบว่าตอนนี้ผู้บริโภคไม่ได้เข้าออฟฟิศทุกวันแล้ว และไม่ได้อยากทำงานที่บ้านแล้ว เขาอยากทำงานนอกสถานที่ แบรนด์ที่ต้องการมีตัวตนอาจต้องหาทางเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เขาอยากไปให้ได้ เช่น อาจจะเป็นการพาร์ทเนอร์ชิปกับโรงแรม คาเฟ่ หรือ Co-Working Space ต่าง ๆ”
5 เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของคนไทยผ่านเสิร์ช
ทั้งนี้ ในรายงาน Year in Search 2021 ที่ผ่านมา ทาง Google ได้มีการนิยามความเปลี่ยนแปลงของคนไทยเอาไว้ 5 เทรนด์สำหรับแบรนด์และนักการตลาด ประกอบด้วย
1. โลกออนไลน์กลายเป็นกระแสหลัก
เทรนด์แรกที่ Google มองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงหลักของคนไทยคือการเข้าสู่ดิจิทัล โดยผู้ใช้งานดิจิทัลรายใหม่ (New digital consumers) ที่เพิ่มเข้ามาในปี 2021 นั้นมีถึง 9 ล้านคน และกว่า 67% มาจากจังหวัดอื่น ๆ นอกเขตกรุงเทพฯ ซึ่ง Digital Consumers นี้ ได้เพิ่มการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เห็นได้จาก การค้นหา “ขายอะไรออนไลน์” เพิ่มขึ้น 44% ควบคู่ไปกับการค้นหา “โค้ดลูกค้าใหม่” ที่เพิ่มขึ้น 50%
ส่วนเทศกาลแห่งการช็อปปิ้งได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นไม่ใช่แค่เฉพาะ 11.11 อีกต่อไป แต่การค้นหาแคมเปญเลขคู่อื่นๆ อย่าง “6.6+ 7.7+ 8.8” ก็เพิ่มขึ้นถึง 110% นอกจากนี้ นักช็อปยังมองหาการจัดส่งที่น่าเชื่อถือและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้การค้นหา “จัดส่งฟรี” ในไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึงกว่า 60% รวมไปถึงการค้นหา “หาหมอออนไลน์” ที่เพิ่มขึ้นถึง 122%
แนวทางการทำการตลาด: ในช่วงแรกหลายแบรนด์ปรับตัวเข้าหาโลกออนไลน์โดยการปรับกลยุทธ์การตลาดที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ ณ ขณะนี้ที่ตลาดออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการดำเนินการที่คล่องตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แค่เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
2. ทบทวนวิถีชีวิตที่ผ่านมา
หัวข้อด้านบนมาจากการที่ Google มองว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2021 ทำให้ผู้คนหันมาทบทวนวิถีชีวิตของตัวเองกันใหม่ เห็นได้จากปี 2021 ผู้คนเลิกตกแต่งสถานที่ทำงาน แต่หันมาเลือกสถานที่ทำงานแทน โดยการค้นหา “work from hotel” (การทำงานจากโรงแรม) เพิ่มขึ้นถึง 1,600% แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในวิถีชีวิตแบบผสมผสาน
นอกจากนั้นสำหรับการปรับมุมมองใหม่ด้านการเงินนั้น ผู้คนแสวงหาวิธีศึกษาหาความรู้ด้านการเงิน และสนใจในการลงทุนรูปแบบใหม่จากการค้นหา “cryptocurrency” ซึ่งเพิ่มขึ้น 263% รวมไปถึงใส่ใจในการดูแลตัวเองและผู้คนรอบข้างผ่านการค้นหา “Vitamin D” ที่เพิ่มขึ้น 87%
แนวทางการทำการตลาด: เมื่อผู้บริโภคเริ่มทบทวนทางเลือกต่างๆ กันใหม่ ธุรกิจก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีสื่อสารคุณค่าที่ตนนำเสนอ ให้แก่ทั้งผู้บริโภคและพนักงานของตนเอง
3. ห่างไกล ไม่ห่างกัน ด้วยเทคโนโลยี
สำหรับประเทศไทย Google พบว่า คนหาวิธีใหม่ ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ เห็นได้จากการค้นหา “คำอวยพรวันครบรอบ” สูงขึ้นถึง 210% และการค้นหา “ส่งของขวัญ” เพิ่มขึ้น 69% นอกจากนี้ เทคโนโลยียังทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้หลากหลายวิธี ทำให้มีการค้นหา “เล่มเกมออนไลน์กับแฟน” เพิ่มขึ้น 250% ควบคู่ไปกับการค้นหา “สั่งให้เพื่อน” เพิ่มขึ้นถึง 100%
แนวทางการทำการตลาด: แบรนด์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์จะพลาดโอกาสสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับลูกค้า ที่ทั้งแบรนด์และลูกค้าจะได้รับประโยชน์และเติบโตไปพร้อมกันผ่านความสัมพันธ์นี้
4. ใส่ใจกับการค้นหาความจริง
จากรายงานปีนี้ นอกจากผู้บริโภคจะเพิ่มความระมัดระวังและความรอบคอบในการตัดสินใจมากขึ้นแล้ว ผู้บริโภคยังมุ่งเน้นการเสาะหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากขึ้นด้วย โดยผู้บริโภคเลือกใช้ Search เป็นตัวช่วยในทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาค่านิยมของแบรนด์ และยืนยันความน่าเชื่อถือของแบรนด์ที่เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง ป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพ และปกป้องความเป็นส่วนตัว ที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคด้วยการค้นหาเกี่ยวกับ “ข่าวปลอม” ที่เพิ่มขึ้นถึง 200% และการค้นหา “ข้อมูลส่วนบุคคล” เพิ่มขึ้น 143% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ผู้บริโภคเองก็ต้องการความมั่นใจมากขึ้น ทำให้การค้นหา “เชื่อถือได้ไหม” มีตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 72%
แนวทางการทำการตลาด: ความเชื่อใจเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของแบรนด์ ลูกค้าคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดแบรนด์ควรดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสและจริงใจ
5. พบความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบัน ผู้คนต่างพึ่งพาและต้องการเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่แล้วหรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่ จึงเกิดเทรนด์ของผู้บริโภคในการเอาชนะอุปสรรคที่เผชิญอยู่ เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสถียรในราคาที่เป็นมิตร จากการค้นหา “เน็ตฟรี” ที่เพิ่มขึ้น 35% ควบคู่มากับการค้นหา “5G” ที่พุ่งสูงถึง 235%
นอกจากนี้ ยังมีความต้องการการสนับสนุนทางการเงิน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้มีผู้คนเป็นจำนวนมากต้องกลายเป็นคนว่างงานและหันมาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินสดมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การค้นหา “สินเชื่อเงินด่วน” เพิ่มขึ้น 59% รวมทั้งการค้นหา “หางานใกล้ฉัน” ก็สูงขึ้นถึง 125% ด้วย
แนวทางการทำการตลาด: การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่ใช่แค่การส่งเสริมความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความเสมอภาคด้วย หากแบรนด์ต้องการเข้าถึงลูกค้า แบรนด์จำเป็นต้องทำมากกว่าแค่การสะท้อนสังคม โดยจะต้องลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย
ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานฉบับเต็มได้ที่ g.co/YearInSearchThailand