ศึกธุรกิจโลจิสติกส์แข่งขันหั่นราคากันเดือด ซ้ำด้วยปัจจัยต้นทุนพุ่ง ทำให้ผลประกอบการปี 2564 Kerry Express กำไรร่วงแรง ลดลงไปเกือบ 100% เหลือ 47 ล้านบาท แม้ยอดจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้น 30%
เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX สรุปผลประกอบการปี 2564 มีรายได้ 18,818 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากปี 2563 ส่วนยอดจัดส่งพัสดุด่วนเติบโต 30% โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าประเภทจัดส่งราคาประหยัดเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด
ขณะที่ต้นทุนขายและการให้บริการอยู่ที่ 17,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 จากการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจขนส่งด่วน และการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการจัดส่งเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องบุคลากร ยานพาหนะ อุปกรณ์ และการจัดหาจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุสำรอง ศูนย์กระจายสินค้าสำรอง และจุดบริการต่างๆ คาดว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะลดลงเมื่อโควิดคลี่คลายในไตรมาส 2 ปี 2565
สรุปปี 2564 Kerry มีกำไรสุทธิ 47 ล้านบาท ลดลง 96.7% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 1,405 ล้านบาท
ช่วงปลายปี 2564 Kerry ได้เปิดตัว “โมเดลตัวแทนจำหน่าย” (Reseller Model) ผ่านพันธมิตรตัวแทนประเภท 4PL (fourth-party logistics) ด้วยการรับรองและนำเสนอบริการแบบประหยัดภายใต้ชื่อ Orange Express เพื่อขยายตลาดเข้าสู่ชุมชนและเพิ่มยอดจัดส่งพัสดุ ทำให้ ณ สิ้นปี 2564 Kerry มีจุดให้บริการทั้งสิ้น 26,174 สาขาทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 64% เพื่อสร้างการเติบโตของยอดจัดส่งพัสดุและฐานลูกค้า ปี 2564 Kerry มีจำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย เติบโต 32%
กลยุทธ์ของ Kerry ในการสร้างการเติบโตและและรายได้ใหม่ ได้จับมือเป็นพันธมิตรขยายบริการกับธุรกิจต่าง ๆ
– จับมือกับ “เบทาโกร” ลงทุนธุรกิจขนส่งสินค้าด้วยแพลตฟอร์มควบคุมอุณหภูมิ (Cold Delivery Platform) แบรนด์ Kerry Cool
– ร่วมทุนกับ Central Retail หรือ CRC จัดตั้งบริษัทลงทุนในธุรกิจขนส่งด้วยแพลตฟอร์ม Less-than-truckload (LTL) แบรนด์ Kerry XL จัดส่งของชิ้นใหญ่ คาดว่าธุรกิจนี้จะทำให้ Kerry เติบโตได้ 20% ในระยะกลางถึงยาว
– ร่วมมือกับ Grab Thailand ให้บริการเข้ารับพัสดุหน้าบ้าน (Instant Pick-up) และเข้ารับพัสดุรายชั่วโมง (Express Pick-up)
– นอกจากนี้ยังมองหาการทำดีลควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้อีโคซิสเต็มของ Kerry และบริการอื่นๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน