สถาณการณ์โควิด-19 ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการทำธุรกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2564 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะถดถอยหนักจากโควิด-19 ที่ระบาดหนักมาตั้งแต่ปี 2563 แม้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง จนมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่าง “โอไมครอน” ก็เกิดขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง คำถามคือ เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร? Brand Buffet สรุปมุมมองจาก KKP Research โดย เกียรตินาคินภัทร เพื่อให้ธุรกิจได้เห็นภาพชัดขึ้น และสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมั่นใจ
KKP Research มอง ปี ’65 เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ในปี 2565 เป็นปีที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก เพราะมีหลายปัจจัยที่ยังคาดไม่ได้ โดยเฉพาะโควิด-19 แต่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยมี 3 แนวโน้มสำคัญที่น่าจับตามอง คือ
1.โควิด-19 จะเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น หรือจาก Pandemic สู่ Endemic ซึ่งทำให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากสัดส่วนของการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ช่วยลดความรุนแรงของโรค โดยจะเห็นหลายประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง เช่น สหรั
สำหรับประเทศไทย แนวโน้มผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงในทิศทางเดียวกัน แม้การระบาดของโอไมครอนอาจมาเร็วและแรง ส่งผลให้น่าจะกระทบในระยะสั้นๆ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จะไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหายไป โดยเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
2.สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลง และอัตราดอกเบี้ยโลกเป็นขาขึ้น หลังจากเจอแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูง โดยในสหรัฐฯ เงินเฟ้อแตะที่ระดับ 7% ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องผ่อนเท้าจากคันเร่ง มาแตะเบรค ลดการอัดฉีดสภาพคล่อง และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดจะทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง หลังจากปรับลงมาที่ 0% ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ทำให้ปีนี้จะเห็นอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 1.75% และในปีหน้ามีโอกาสจะปรับอีก 4 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
3.แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ โดยคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะโตในระดับ 3.9% โดยเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนมาจาก 2 ตัว คือ 1.การกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ภายในประเทศ คือการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ สิ่งสำคัญต้องไม่เกิดมาตรการเข้มที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และโอไมครอนเป็นเวฟสุดท้าย และ 2.จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยเชื่อว่าถ้าโอไมครอนเป็นเวฟสุดท้าย นักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับสู่ภาวะปกติในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าจะเข้ามาประมาณ 5.8 ล้านคน
“GDP ไทยในปี 2563 ติดลบประมาณ 6% ปีที่แล้วกลับมาขยายตัวได้ 1% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอีก 5% ส่วนปีนี้คาดว่าจะโตได้ 3.9% แสดงว่าการฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงและมีความไม่แน่นอนอีกมาก โดยภาคที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การเงิน และเกษตรเริ่มดีขึ้น แต่ภาคบริการและการท่องเที่ยว ระดับของเศรษฐกิจยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด”
จับตา “โควิด–เศรษฐกิจจีน–เงินเฟ้อ” ฉุดแสงสว่างเศรษฐกิจไทย
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น แต่ยังมี 3 ความเสี่ยงที่ธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งโรคโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ รวมถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จากปัญหาอสังหาริมทรัพย์และการควบคุมวิกฤตโควิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อโลกที่ไม่ได้ปรับลดลง ทำให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อาจจะเผชิญปัญหา Stagflation โดยจะเห็นอัตราเงินเฟ้อขยับเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1 อาจจะเห็นเงินเฟ้อขยับขึ้นไปเกิน 3% ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ดีขึ้นมาก ความเสี่ยงสำคัญคือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายในเรื่องของพลังงานและอาหารอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป จึงต้องระมัดระวัง” ดร.พิพัฒน์ ย้ำ