ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ “อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณา” ต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิดระบาดหนักและยาวนาน ที่ทำให้ทุกคนต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นกว่าเดิม จนเปลี่ยนวิถีในการชีวิตและพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคไปจากเดิม การปรับตัวให้ไวและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับธุรกิจ
ดังนั้น เพื่อเตรียมรับมือกับปี 2022 ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน Brand Buffet จัดเสวนาประจำปี “Unlock The Future 2022 : Creating The Business Knock-Out Variant ปลดล็อคอนาคตสู่โลกการตลาดยุคใหม่” โดย คุณรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ได้เผยแนวโน้มพฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภค รวมถึงเม็ดเงินโฆษณาในประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นปีนี้ เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณา เข้าใจพฤติกรรมและสามารถวางกลยุทธ์การตลาด พิชิตใจผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วได้อยู่หมัด
1.“เวลา” คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากขึ้น
เมื่อคนต้อง Work From Home และกักตัวอยู่บ้านมากกว่าเดิม ทำให้ผู้บริโภคกลับมาเห็นคุณค่าของเรื่องเวลามากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้และการจัดการเวลา จากการสำรวจคนไทยในปี 2021 พบว่า 51% ให้ความสำคัญต่อการใช้เวลามากกว่าการหาเงิน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีเพียง 46% ขณะที่ 92% ต้องการใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน และ 33% มองว่ามีเวลาไปเดินช้อปปิ้งน้อยลง
สำหรับการใช้เวลากับสื่อ วันนี้คนไทยใช้เวลากับสื่อมากขึ้น โดยรวมประมาณ 9.30 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นใช้เวลากับสื่อทีวี 4 ชั่วโมงต่อวัน อินเทอร์เน็ต 3.45 ชั่วโมงต่อวัน และสื่อวิทยุ 1.30 ชั่วโมงต่อวัน
แม้สื่อทีวีเป็นสื่อที่คนไทยใช้เวลามากที่สุดถึง 85% แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการรับชมทีวีก็เปลี่ยนไป โดยดูคอนเทนต์สดตามผังรายการทีวี (Live TV) ลดลง แต่ชมรายการทีวีย้อนหลัง (Time-shift TV) และรับชมแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยชอบทดลองสินค้าใหม่ และเปิดรับสิ่งใหม่มากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 12-34 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปเปิดรับคอนเทนต์ LGBT เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่แบรนด์จะสร้างสรรค์คอนเทนต์เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น
2.ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการเสพสื่อมากขึ้น
จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปชมรายการย้อนหลังและดูผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สื่อ OTT ในไทยมีการเติบโตเป็นอย่างมาก จากการสำรวจพบว่า ในปี 2017 คนไทยดูรายการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม OTT อยู่ที่ 10.02% เพิ่มเป็น 52.29% ในปี 2021 เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะสื่อต้องการเพิ่มคอนเทนต์ให้หลากหลาย เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคสามารถรับชมสิ่งที่สนใจได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ นีลเส็นยังพบด้วยว่า การดูข่าวของคนไทยเปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้บริโภคดูผ่านช่องสถานี วันนี้ผู้บริโภคดูข่าวผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยเฉพาะ TikTok คนไทยใช้เป็นช่องทางเสพข่าวสารมากขึ้น ขณะที่สำนักข่าวต่างๆ ก็ใช้ TikTok เพื่อเข้าถึงผู้ชมมากขึ้น โดยพบว่าแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ #TikTok News
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ผู้บริโภคยังหันมา Generation Content ด้วยตนเองได้ ทำให้คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มต่างๆ มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น TikTok ใน South East Asia ที่มียูสเซอร์ 240 ล้านยูสเซอร์ และมีวิดีโออัพโหลดเป็นจำนวนมาก ส่วนยูทูบมียูทูบเบอร์ที่มี Subscribe กว่า 1 แสน มากกว่า 7,000 Channel ที่สำคัญ อินฟลูเอนเซอร์ เริ่มเข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจของคนไทยมากขึ้น โดยพบว่า มากกว่า 51% คนมีการเสิร์ชสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์พูดถึงในคลิปต่างๆ มากกว่า 56% พิจารณาที่จะซื้อของหลังจากที่อินฟลูเอนเซอร์มีการบอก และมากกว่า 40% อยากจะตามอินฟลูเอนเซอร์เพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นใหม่ในตลาด
แม้ว่าคอนเทนต์และแพลตฟอร์มมีความหลากหลายให้ผู้ชมได้เลือกชม แต่เมื่อดูความถี่ในการรับชมทีวี จากการสำรวจของนีลเส็นพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนดูทีวีทุกวันน้อยลง จาก 51% ในปี 2020 และ 53% ในปี 2019 เป็น 48% ในปี 2021 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้คนจะดูทีวีน้อยลง แต่ ทีวี อินเทอร์เน็ต และ Out of Home ยังคงเป็นสื่อหลักที่คนไทยเสพ และคนไทยส่วนใหญ่ยังใช้เวลาไปกับการดูทีวีเพิ่มขึ้น จาก 4.07 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 4.10 ชั่วโมงต่อวัน
ดังนั้น สื่อทีวียังคงจำเป็นสำหรับผู้บริโภค เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการใช้จากเดิม จากการดูทีวีตามผังรายการเป็นการเปิดทีวีเพื่อดูวิดีโอสตรีมมิ่ง เล่นเกม หรือแม้กระทั่งต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้สื่อและแบรนด์สามารถทำโฆษณากับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
3.แพลตฟอร์มมีการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
จากทางเลือกสื่อที่มีมากขึ้น และพฤติกรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ทีวีซึ่งเป็นสื่อหลักที่ผู้บริโภคเสพมากที่สุดต้องปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยจะเห็นว่า สื่อมีการปรับตัวเป็นช่องทางการขายให้กับสินค้าและแบรนด์มากขึ้น ส่วนโซเชียลมีเดียก็เปลี่ยนเป็นช่องทางการขายให้กับสินค้าเช่นกัน
โดยพบว่า “เฟซบุ๊ก” เป็นช่องทางที่คนไทยเข้าไปดูเพื่อซื้อสินค้าอย่างมาก ตามด้วยอินสตราแกรม และทวิตเตอร์ โดยคนไทยซื้อสินค้าผ่านโซเชียล 3-5 ครั้งต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 23% ขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ 14% ส่งผลให้ Live Commerce มาแรงมาก ซึ่งไม่ใช่แค่บุคคลมาไลฟ์สดขายสินค้าเท่านั้น แต่เชนร้านค้าต่างๆ ยังหันมาไลฟ์ขายของเป็นจำนวนมาก
4.เม็ดเงินโฆษณาเริ่มกลับมาเติบโต
นับตั้งแต่เจอโควิด-19 ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดลงตลอด ในปี 2020 ลดลงประมาณ 13% และในปี 2021 ลดลง 1% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ได้กระทบกับทุกอุตสาหกรรรม มีหลายอุสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว และมีการใช้เม็ดเงินโฆษณามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ค้าปลีก เครื่องดื่ม และอาหาร โดยพบว่า มีการใช้เงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 12% และทีวีเพิ่มขึ้น 1%
เพราะเป็นสื่อที่ผู้บริโภคเชื่อถือ จากการสำรวจพบว่ามากกว่า 67% เชื่อข้อมูลและโฆษณาจากทีวี และ 43% พิจารณาที่จะซื้อสินค้าหลังเห็นโฆษณาผ่านทีวี ขณะที่ 56% เชื่อข้อมูลและโฆษณาจากสื่ออินเทอร์เน็ต และ 38% พิจารณาที่จะซื้อสินค้าหลังเห็นโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ เม็ดเงินโฆษณาที่สินค้าใช้ใน สื่อทีวี สื่อดิจิทัล และ Out of Home ยังให้ผลตอบแทน (Return on Investment) กลับมามากกว่า 1.2 เท่า หมายความว่า หากลงทุนลงสื่อทีวีเป็นเงิน 1 ล้านบาท ผลตอบแทนในระยะยาวที่ได้กลับมาจะมากกว่า 1.2 ล้านบาท ในขณะที่การทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ยังคงเป็นสิ่งที่แบรนด์ให้ความสนใจ เพราะสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายในระยะสั้นได้ แต่แบรนด์ต้องบาลานซ์และวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมเพราะอาจมีผลในระยะยาวได้