ในปี 2564 เป็นปีที่เห็นความเคลื่อนไหวองค์กรใหญ่ ลงทุนบริษัทขนาดกลาง – เล็ก และสตาร์ทอัพมากมาย ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเข้าถือหุ้น, ซื้อกิจการ รวมไปถึงร่วมทุน เพราะการทำธุรกิจทุกวันนี้เป็นยุค Collaboration ดังนั้นเพื่อขยายธุรกิจได้เร็ว และสร้างการเติบโตมากขึ้น การจับมือกันจึงเป็นกลยุทธ์ Short cut ที่ทำให้ทั้งสองฝ่าย Win-Win
หนึ่งในองค์กรใหญ่ที่นอกจากสร้างการเติบโตแบบ Organic Growth แล้ว ยังให้ความสำคัญกับ Inorganic Growth ด้วยการลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพ และมีวิสัยทัศน์สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)” หรือ “OR”
มาดูกันว่าในรอบปีที่ผ่านมา “OR” ลงทุนในบริษัท – สตาร์ทอัพอะไรบ้าง และทิศทางการลงทุนในธุรกิจไลฟ์สไตล์จากนี้ “OR” เตรียมขยาย Ecosystem ให้มากกว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไปสู่ธุรกิจ Health & Wellness, ท่องเที่ยว และ Digital Platform เพื่อพัฒนาเป็นโมเดล O2O เชื่อมต่อระหว่าง Physical Platform เช่น สถานีบริการ, ร้านสาขาธุรกิจไลฟ์สไตล์ในเครือ เข้ากับ Digital Platform ซึ่งจะทำให้เห็นยุทธศาสตร์เสริมความแข็งแกร่ง Portfolio กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil
จากธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม สู่การลงทุนใน Tech Startup
หากย้อนเส้นทางการลงทุนของ “OR” ปี 2564 มีตั้งแต่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, สตาร์ทอัพ, องค์กรใหญ่ และธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของ Mobility โดยมี 2 องค์ประกอบหลักที่ OR ใช้ในการพิจารณาคือ
1. ธุรกิจ หรือการลงทุนนั้นๆ ต้องสามารถ Synergy กับกลุ่ม OR ทั้ง Physical Platform เช่น สถานีบริการน้ำมัน PTT Station, ร้าน Café Amazon รวมทั้ง Digital Platform และ Loyalty Program “Blue Card” มีฐานสมาชิก 7.5 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็น Active Member 60 – 65%
2. ข้อตกลงเจรจาการลงทุน และการขยายผลต่อเนื่องหลังจากจับมือกันแล้ว
มาดูกันว่าในรอบปี 2564 OR ลงทุนในธุรกิจใดบ้าง ?
– ถือหุ้น 20% ใน “บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด” เจ้าของร้านอาหารโอ้กะจู๋ ด้วยเงินลงทุน 500 ล้านบาท โดยต่อยอดให้โอ้กะจู๋ เปิดสาขาใน PTT Station และพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบ Grab & Go เช่น แซนด์วิช วางจำหน่ายในร้าน Café Amazon
– ลงทุนใน “Flash Express” ต่อยอดสู่การให้บริการจุดรับส่งพัสดุของ Flash Express ภายในร้าน Café Amazon บางสาขา, ใช้ Distribution Center ร่วมกับ OR และมีแผนต่อยอดธุรกิจรูปแบบ O2O
– ร่วมทุนกับ “Bluebik” ตั้งบริษัท “Orbit Digital” มีสัดส่วนการถือหุ้น OR 40% และ Bluebik 60% เพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
– เปิตตัวธุรกิจใหม่ “Care4Car” (Care for Car) เพื่อให้บริการ O2O Maintenance ที่เชื่อมต่อกับศูนย์ให้บริการด้านรถยนต์ “Fit Auto” ของ OR โดยลูกค้าสามารถเลือกอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถที่ต้องการ และเลือกวัน-เวลา-สาขาของ Fit Auto ที่สะดวกมาใช้บริการผ่าน Care4Car
– ร่วมทุนกับ “BAFS” จัดตั้ง “บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด” หรือ GAA ให้บริการระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของ EEC
นอกจากนี้ OR ยังได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการร่วมทุนครั้งนี้ คือ นำองค์ความรู้ที่ได้จาก Joint Venture ในด้านการให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยานแบบครบวงจร ไปต่อยอดลงทุนในต่างประเทศ
– ลงทุนในสตาร์ทอัพ ผ่าน 3 ช่องทางคือ
ช่องทางที่ 1 จับมือกองทุน 500 Startups หรือ 500 TukTuks ตั้ง “ORZON Ventures” โดย OR ถือหุ้น 99% และ 500 Startups ถือหุ้น 1% เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ และเติมเต็ม Business Ecosystem ของ OR ด้วยกองทุนมูลค่า 25 – 50 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับภายใน 5 ปีนี้
ช่องทางที่ 2 ร่วมลงทุนในกองทุน “ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I” ของกรุงศรีฟินโนเวต ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 300 ล้านบาท จากมูลค่ากองทุนขนาด 3,000 ล้านบาท เพื่อแสวงหาสตาร์ทอัพที่จะขยาย OR Ecosystem ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ช่องทางที่ 3 ตั้งหน่วยงานภายในองค์กร OR ชื่อว่า “ORion” ทำหน้าที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพ และนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางการสร้างความยั่งยืนของ OR
– จับมือกับ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ติดตั้งสถานี “EV Station PluZ” ครอบคลุมทั้งสยามสแควร์ และสามย่าน
– ถือหุ้น 25% ใน “บริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด” ผู้ให้บริการร้านอาหาร KOUEN เพื่อเติมเต็มพอร์ตฯ ธุรกิจอาหาร โดย synergy ให้ร้าน KOUEN และ ONO Sushi มาเปิดในสถานีบริการ PTT Station โดยในปี 2565 มีแผนขยาย ONO Sushi 10 แห่งใน PTT Station และขยาย KOUEN 6 สาขาใน PTT Station
– ถือหุ้น 25% ใน “บริษัท คามุ คามุ จำกัด” ผู้ให้บริการร้าน KAMU KAMU เพื่อเจาะตลาดกลาง – บน ขณะที่อีกแบรนด์ร้านเครื่องดื่มชาของ OR คือ Pearly Tea สำหรับทำตลาด Mass
“เราลงทุนในทุกบริษัท เราลงทุนตั้งแต่ 10% จนถึง 40 – 45% ขึ้นอยู่กับธุรกิจนั้นๆ ใน 2 ลักษณะคือ 1. สามารถไปกันได้กับการต่อยอด Synergy กลุ่ม OR ไหม และ 2. เจ้าของธุรกิจสะดวกใจให้ OR เข้าร่วมเจรจาลงทุนกันเท่าไร และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น นอกเหนือจากการขยายสาขา (Organic Growth) ทั้งในระเทศและต่างประเทศของผลิตภัณฑ์เดิมๆ หรือแบรนด์เดิมๆ ของเรา “OR” ยังได้เข้าไปลงทุน (Inorganic Growth) โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจ SME, สตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Corporate ด้วยเช่นกัน เราสนใจหาพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเติมเต็มการเติบโต” คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวถึงการสร้างการเติบโต
เตรียมลงทุนในธุรกิจ “Health & Wellness – ท่องเที่ยว” และพัฒนาแอปพลิเคชัน เข้าถึงผู้บริโภค 24 ชั่วโมง
ยุทธศาสตร์ของ OR ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil เพราะมี Margin สูงกว่าธุรกิจ Mobility และสามารถต่อยอดธุรกิจได้อีกมหาศาล เพื่อผลักดันกลุ่มธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้น
จะเห็นได้จากแผนลงทุนภายใน 5 ปี (2564 – 2569) ที่บอร์ดอนุมัติงบลงทุนรวมอยู่ที่ 93,500 ล้านบาท โดยทิศทางการลงทุนส่วน CAPEX เน้นกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์มากขึ้น
– Mobility 36.3%
– Lifestyle 21.8%
– OR Innovation 20.4%
– Global 14.2%
– อื่นๆ 7.3%
รวมทั้งจะปรับพอร์ตฯ EBITDA ธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil จาก 20.6% เป็น 39% ขณะที่ธุรกิจ Mobility จากเดิม 75% ปรับเป็น 45% และธุรกิจ Global จาก 3.6% เพิ่มขึ้นเป็น 15%
ภายใต้ธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่จะขยายให้ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของผู้บริโภค โดยธุรกิจที่ให้ความสนใจขณะนี้ คือ ธุรกิจ “Health & Wellness” ซึ่งเป็นไปตามทิศทางทั่วโลกที่องค์กรต่างๆ เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น
อย่างการตั้ง “ORZON Ventures” เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะมาเติมเต็มธุรกิจไลฟ์สไตล์ให้กับ OR เช่น ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Health & Wellness, การท่องเที่ยว และด้านดิจิทัล เพื่อ Diversify พอร์ตฯ ธุรกิจไปมากกว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งผลลัพธ์เมื่อปีที่แล้ว ได้สตาร์ทอัพมา 5 ดีลที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล และธุรกิจท่องเที่ยว
นอกจากนี้ OR ยังได้ใช้ Network ที่ตนเองมีคือ “Orbit Digital” บริษัทร่วมทุนกับ Bluebik มาพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล “แอปพลิเคชัน” ด้วยแนวคิด All in one App คือ รวมไลฟ์สไตล์ไว้ในแอปฯ เดียว เพื่อเป็น One Stop Solutions ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ 24 ชั่วโมง และสร้างประสบการณ์ได้แบบ Personalization
“ธุรกิจที่ OR ลงทุนนั้น ต้องตั้งต้นจากความต้องการของลูกค้าก่อนเสมอ และสร้าง Synergy ทำให้ทั้ง OR และพาร์ทเนอร์เติบโตไปด้วย โดยการลงทุนนั้นต้องช่วยดึง Traffic มายัง PTT Station ซึ่งเป็น Physical Platform และผสานกับ Digital Platform เพื่อให้เป็นโมเดล O2O
ในส่วนของ Digital Platform เร็วๆ นี้เราจะมีแอปพลิเคชัน เพื่อเป็น All in one ให้กับผู้บริโภคตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง และรวมไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการของการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมาอยู่ในแอปฯ เดียว เพื่อทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้น
การพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ เราได้ Orbit Digital พาร์ทเนอร์ของเรา เป็นผู้พัฒนา โดยเฟสการพัฒนาจะเริ่มเดือนมีนาคมนี้ และมีกำหนดการเปิดตัวช่วงปลายปีนี้” ผู้บริหาร OR สรุปทิ้งท้ายถึงแผนการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์
สำหรับผลประกอบการปี 2564 ของ OR
– มีรายได้ขายและบริการ 511,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% จากปีก่อน
– มีกำไรสุทธิ 11,474 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,683 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.5%
– EBITDA 20,335 ล้านบาท
– จำนวนสถานีบริการ PTT Station 2,439 สาขา แบ่งเป็นในไทยกว่า 2,083 สาขา และต่างประเทศ 356 สาขา
– จำนวนสาขา Café Amazon 3,931 สาขา แบ่งเป็นในไทย 3,628 สาขา และต่างประเทศ 303 สาขา
– จำนวนแก้วที่ขาย 314 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 294 ล้านแก้ว การเพิ่มขึ้นมาจากจำนวนสาขาที่เปิดเพิ่ม
- อ่านเพิ่มเติม : OR โชว์ผลงานปี 64 โกยกำไร 11,474 ล้าน เพิ่มขึ้น 30% ประกาศแผน 5 ปี ลงทุน 93,462 ล้าน