หากเอ่ยถึง Pinterest สำหรับคนไทยอาจเป็นแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ใช้งานไม่มากนัก โดยข้อมูลจาก StatCounter เดือนมกราคม 2022 ระบุว่า ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในไทย ใช้ Pinterest อยู่ราว 7.33% ขณะที่การใช้งานแพลตฟอร์มดังอย่าง Facebook นั้นสูงกว่ามาก โดยอยู่ที่ 63.43%
หันไปมองตัวเลขในระดับโลก ระหว่าง Pinterest กับ Facebook ก็ยิ่งแตกต่าง โดยตัวเลขล่าสุดของปี 2021 ระบุว่า Pinterest มีผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users : MAU) อยู่ที่ 431 ล้านคน ขณะที่ Facebook มีผู้ใช้งานรายเดือนอยู่ที่ 2.91 พันล้านคน หรือมากกว่า Pinterest ราว 2.48 พันล้านคน
อย่างไรก็ดี ในการแถลงผลประกอบการที่ผ่านมา พบว่า ทั้งสองแพลตฟอร์มมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ “มีผู้ใช้งานลดลง” โดย Pinterest มีผู้ใช้งานรายเดือนลดลง 6% (YOY) ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกายังลดลงถึง 12% เหลือ 86 ล้านคนด้วย
ขณะที่ Facebook ตัวเลขผู้ใช้งานที่ลดลงคือ Daily Active Users ที่ลดลงจาก 1.93 พันล้านคนเหลือ 1.929 พันล้านคน ส่วนตัวเลข MAU นั้นยังคงทรงตัว ที่ 2.91 พันล้านคน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ มูลค่า Meta หายวับ 2 แสนล้านดอลล์ หลังตัวเลขผู้ใช้งาน Facebook “ลดลง” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ – Brand Buffet)
แต่น่าสนใจที่ Pinterest แม้จะมีผู้ใช้งานลดลง และถูกข่าวผลประกอบการของ Meta ฉุดมูลค่าหุ้นให้ดิ่งไปด้วยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ (บริษัทแถลงผลประกอบการวันเดียวกับ Meta) แต่เพียงวันเดียว หุ้นของ Pinterest ก็ยังสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้กลับมาอยู่ที่ 27.25 เหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้นมาจากเดิม 28%
ตรงกันข้ามกับ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ที่หุ้นตกฮวบถึง 26% คิดเป็นมูลค่าที่หายไปราว 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Meta กลายเป็นมหาเศรษฐีลำดับที่ 10 ของโลกไปในทันที (ก่อนแถลงผลประกอบการ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กอยู่ในอันดับที่ 7 ตามการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaire Index) และจนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ มูลค่าหุ้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาได้อย่างที่หวัง
อะไรทำให้สองบริษัทนี้เจอกับผลตอบรับที่แตกต่างกัน
คำตอบของคำถามนี้อาจมาจาก Ben Silbermann ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Pinterest ที่กล่าวในการแถลงผลประกอบการว่า ตัวเลขรายได้ของแพลตฟอร์มในปี 2021 นั้นไม่ธรรมดา เพราะทำได้ถึง 2,578 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือเป็นครั้งแรกของบริษัทที่ทำได้ในระดับดังกล่าว แถมยังเติบโตจากรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2020 ถึง 52% (ปี 2020 Pinterest ทำรายได้ไป 1,692 ล้านเหรียญสหรัฐ)
อย่างไรก็ดี หันไปมอง Meta ก็ต้องยอมรับว่ารายได้ของบริษัทนั้นเติบโตขึ้นเช่นกัน โดยไตรมาส 4 บริษัททำรายได้ไปถึง 33,671 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วในทุก category
เพียงแต่การเติบโตของ Meta คราวนี้ ไม่ได้ดึงดูดนักลงทุนอีกต่อไป ตรงข้ามกับ Pinterest ที่พวกเขาภูมิใจกับการเติบโตครั้งประวัติศาสตร์นี้มาก แถมยังเป็นครั้งแรกของ Pinterest ที่มีรายได้ทะลุ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วย
Pinterest กำลังโต “นอกสหรัฐอเมริกา”
แม้ว่ารายได้ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นรายได้หลักของบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่ตลาดนอกสหรัฐอเมริกาก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นที่จับตาของนักลงทุนเช่นกัน ซึ่ง Pinterest สามารถทำได้ดีในจุดนี้ ด้วยการทำรายได้เพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีถึง 199 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 61% (ปี 2020 ไตรมาส 4 บริษัททำรายได้จากตลาดนอกสหรัฐอเมริกาไป 123 ล้านเหรียญสหรัฐ)
หรือหากคิดเป็นตัวเลขตลอดทั้งปี ก็ต้องบอกว่า Pinterest เติบโตในตลาดโลกได้อย่างน่าสนใจ เพราะบริษัททำเงินไปได้ทั้งสิ้น 562 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตจากปี 2020 ถึง 110%
เน้นเข้าถึงนักช้อป – คนรุ่นใหม่
Ben Silbermann ซีอีโอของ Pinterest บอกด้วยว่า เป้าหมายของปี 2022 ก็คือการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น โดยหากมองตัวเลขผู้ใช้งานที่บริษัทเปิดเผยออกมาล่าสุดของ Pinterest (30 มิถุนายน 2021) ก็ต้องบอกว่าไม่ได้น้อยหน้าใคร เพราะกลุ่มผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปีนั้นมีสัดส่วนถึง 32% ของผู้ใช้งานทั้งหมดของแพลตฟอร์ม
ส่วนกลุ่ม 30 – 49 ปีนั้น มีสัดส่วนที่ 34% และกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ 50 – 64 ปี โดยครองส่วนแบ่งที่ 38% ซึ่งการมีคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้งานราว 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานทั้งหมดจึงทำให้ Pinterest ยังน่าสนใจในมุมของนักลงทุน
ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจาก Omnicore ระบุว่า 89% ของผู้ใช้ Pinterest เข้ามาในแพลตฟอร์มเพื่อหาแรงบันดาลใจในการซื้อของ รองลงมาคือเข้า Pinterest เพื่อหาแรงบันดาลใจในการทำโปรเจ็คใหม่ ๆ (85%) แถม 34% ของผู้ใช้งาน Pinterest มีรายได้เฉลี่ย 50,000 – 74,999 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย และด้วยอินเทอร์เฟสของ Pinterest การพาลูกค้าไปที่หน้าเว็บของแบรนด์ค่อนข้างสะดวกพอสมควร เพราะมีปุ่มให้กดกันอย่างชัดเจน
ไม่เพียงเท่านั้น Ben Silbermann ยังมีแผนจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้ผู้ใช้งานได้นำเสนอคอนเทนต์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (ที่นำไปสู่การซื้อสินค้า) มากขึ้นด้วย ขณะที่เป้าหมายของ Meta นั้นต่างออกไป เพราะ Meta ประกาศตัวว่าจะก้าวสู่ Metaverse และใช้เงินไปกับวิสัยทัศน์ใหม่นี้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา (ผ่าน Reality Labs)
แม้จะเป็นม้านอกสายตา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงอาจสะท้อนได้ว่า Pinterest ก็มีจุดแข็งของตัวเองที่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติ Meta หุ้นร่วงได้อย่างสวยงาม
Snap ก็ฟื้นตัวเร็ว
นอกจาก Pinterest แล้ว อีกหนึ่งค่ายที่ถูกปรากฏการณ์หุ้น Meta ดึงจนร่วงไปด้วยก็คือ Snap เจ้าของแพลตฟอร์ม Snapchat แต่เพียงวันเดียว หุ้นของ Snap ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างสวยงามเช่นกัน
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Snapchat ไม่ได้เจอสถานการณ์ตัวเลขผู้ใช้งานลดลงเหมือน Pinterest และ Meta หากแต่เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจุบันผู้ใช้งานแบบ Daily Active Users ของ Snapchat เพิ่มขึ้นเป็น 319 ล้านคนแล้ว
นอกจากนั้นตัวเลขรายได้ของ Snap ก็ทำได้ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหนือกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วย และหากเข้าไปในเว็บไซต์ของ Snap ก็จะพบคำนิยามใหม่ของพวกเขาที่บอกว่าตัวเองนั้นเป็น Camera Company ไม่ใช่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เราเคยรู้จักแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า ถึงจะเป็นแพลตฟอร์มเล็ก ๆ แต่ถ้ามีจุดเด่น – มีเส้นทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ความหวั่นไหวของนักลงทุนที่เกิดขึ้นกับผู้เล่นรายใหญ่ที่กำลังพลาดท่าเสียทีอย่าง Meta ก็ไม่อาจทำอันตรายกับบริษัทได้ หรือหากทำได้ ก็คงไม่นานนัก
**ส่วน Twitter อีกหนึ่งบริษัทที่ถูกหุ้น Meta ดึงจนหุ้นร่วงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จะแถลงผลประกอบการไตรมาส 4 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้