HomeBrand Move !!Sky ICT กับ 4 ความท้าทาย “ผู้บริโภคเปลี่ยน-เทคโนโลยีปรับ” รับมืออย่างไร

Sky ICT กับ 4 ความท้าทาย “ผู้บริโภคเปลี่ยน-เทคโนโลยีปรับ” รับมืออย่างไร

แชร์ :

sky ict ขยล
การเป็นบริษัทเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่เพียงเป็นที่ต้องการของหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่ต้องการทำ Digital Transformation เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก แต่ในมุมของการเป็นบริษัทเทคโนโลยีเอง ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผู้ที่ออกมาเปิดเผยถึงความท้าทายที่บริษัทเทคโนโลยีต้องเผชิญในงานสัมมนาออนไลน์ Unlock the Future ของ Brandbuffet ก็คือ คุณขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ที่กล่าวว่า “ประเทศไทยอยู่กับโควิดมาสองปีแล้ว เราเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า การใช้เวลาบนโมบายล์นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับตัวเลขอีคอมเมิร์ซที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่ามากถึง 4 ล้านล้านบาท”

ขณะที่ในมุมของพฤติกรรมผู้บริโภค สิ่งที่ผู้บริหารสกาย ไอซีอี มองลึกลงไปก็คือการพบว่า ผู้บริโภคมีความอัดอั้นในการอยู่บ้านไม่น้อย และนั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คุณขยลระบุว่ามีมากถึง 4 ด้าน

1. on-demand evolution การต่อกรกับ Covid-19 ของผู้บริโภค

สำหรับประเด็นความเปลี่ยนแปลงแรกที่คุณขยลแลกเปลี่ยนก็คือ พฤติกรรมที่เรียกว่า on-demand evolution

“การต้องอยู่แบบแยกตัว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า on-demand evolution หรือก็คือการอยู่บ้านแล้วกดสั่งสิ่งที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกเวลา ซึ่งผมมองว่า นี่เป็นคีย์เวิร์ดใหญ่ของการพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันไปแล้ว ผู้บริโภคทุกวันนี้ต้องการอะไรที่เร็วขึ้นเรื่อย ๆ มันกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วทั่วโลกว่าคนต้องการอะไร ต้องได้แบบทันที บางประเทศถึงกับออกแอปที่สั่งของได้ภายใน 60 วินาที”

แต่ภายใต้ความสะดวกรวดเร็วที่ผู้บริโภคได้รับ คุณขยลเผยด้วยว่า ระบบหลังบ้านไม่ได้จบแค่นั้น เพราะยังมีกระบวนการทำงานอีกหลายอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการชำระเงิน ระบบจัดส่งสินค้า ระบบประเมินความพึงพอใจ ฯลฯ ที่บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้องดูแลจนกว่าการให้บริการลูกค้าจะเสร็จสิ้น

cashless society

2. Cashless Society เกิดขึ้นจริง

“digitalization เป็นสิ่งที่เราพูดกันมาแล้วหลายปี แต่ปีนี้เป็นปีที่เห็นได้ชัดเจน ว่าเป็นเมนสตรีมแล้ว”

ใคร ๆ ก็เข้าถึงดิจิทัล ความจริงข้อนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในมุมของสกายไอซีที พวกเขามองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะ Covid-19 ต่างออกไปจากแคมเปญการตลาดที่เคยโด่งดังเมื่อ 2 – 3 ปีก่อนของกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น คนละครึ่ง ซึ่งทำให้วันนี้ ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหน ก็สามารถจ่ายเงินโดยใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกง่ายดาย

“ตอนนี้เราเห็นภาพคนทั่วไปใช้แอปในการจ่ายเงิน แม้แต่ตลาดสด ก็สามารถใช้มือถือจ่ายเงินแทนได้ ทำให้เราเห็นว่า วันนี้มันทรานสฟอร์มเรียบร้อยแล้วเป็น cashless society เรียบร้อยแล้ว” คุณขยลกล่าว

3. Health conscious คือสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

เพราะการระบาดของ Covid-19 ทำให้ผู้คนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือความอัดอั้น ที่ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง ญาติมิตรเหมือนก่อน ซึ่งเมื่อรัฐบาลเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย ให้ผู้คนออกมาเจอกันได้ ก็พบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ตรวจ Covid-19 อย่าง ATK ที่ขายดีมาก และทุกคนยอมตรวจ เพราะอยากไปพบปะสังสรรค์

4. โลกเวอร์ชวลจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการทำงานอาจเป็นภาพที่ต่างออกจากไปจากการพบปะสังสรรค์ เพราะการทำงานจากที่บ้าน หรือที่ไหน ๆ ในโลกโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็กำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจเช่นกัน และนั่นทำให้คุณขยลมองว่า โลกของการทำงานแบบเสมือนจริง จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

“วันนี้คนพูดถึงเมต้าเวิร์สกัน ผมมองว่า เมต้าเวิร์สเป็นเรื่องใหญ่ ที่เข้ามากระตุ้นอีโคซิสเต็มของโลกให้ใหญ่ขึ้นได้อีก และทั้งสี่เรื่องนี้จะเข้ามา เปลี่ยนเทรนด์ด้านพฤติกรรมในประเทศไทยอย่างแน่อน”

การเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อม web 3.0

VR Technology

นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันก็คือเรื่องของเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทจากนี้ไป เป็นสิ่งที่เรียกว่า web 3.0 ที่มีอีโคซิสเต็มส์แตกต่างจาก web 2.0 ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันในทุก ๆ ด้าน ซึ่งคุณขยล เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “เราอาจอธิบายส่วนประกอบของ web 2.0 โดยแยกย่อยออกได้เป็น 3 ด้าน นั่นคืออินเทอร์เฟสของ web 2.0 ที่เป็นอุปกรณ์โมบายล์ ฐานข้อมูลก็เป็นคลาวด์ และการทำงานที่ทำผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ”

“แต่เมื่อเป็น web 3.0 อินเทอร์เฟสจะเปลี่ยนเป็นแว่น AR/VR ส่วนฐานข้อมูลก็จะเป็นการใช้บล็อกเชนแทน และสุดท้ายคือส่วนของการทำงานที่จะเปลี่ยนไปใช้ AI มากขึ้น” พร้อมยกตัวอย่างการใช้ AI ของทาง Sky ICT ในการพัฒนาโปรดักท์ต่าง ๆ เช่น การตรวจจับและสแกนใบหน้า, การตรวจสอบการเข้าออกของผู้คน, การทำ e-KYC (ใช้ AI เปรียบเทียบรูปบนบัตรประชาชนกับภาพถ่ายใบหน้าเพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่) หรือกรณีของคอลล์เซ็นเตอร์ที่ดังมาก ๆ ในเรื่องการฉ้อโกงประชาชนนั้น คุณขยลมองว่า หากมีการนำ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบอย่างเป็นทางการก็จะช่วยลดปัญหาลงไปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การจะเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่นั้น คุณขยลมองว่า ต้องอาศัยทั้งจินตนาการและการลงมือทำ

“สิ่งแรกที่ต้องมีคือ Imagination ต้องมาก่อน องค์กรมีจินตนาการนั้นไหม และมีความทะเยอทะยานที่จะไปถึง Imagination นั้นหรือเปล่า เพราะ Turning Point จะเกิดจากจินตนาการก่อนเสมอ จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามี Aspiration ว่าจะทำให้จินตนาการนั้นสำเร็จหรือเปล่า นี่คือหัวข้อใหญ่ที่เราคุยกันในทีม”

“เทคโนโลยีเกิดขึ้นแล้ว บล็อกเชนเกิดขึ้นแล้ว ความพร้อมด้านเทคโนโลยีนั้นมีแล้ว แต่จินตนาการและความทะเยอทะยานที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงมีในองค์กรแล้วหรือยัง อันนี้จึงเป็นสิ่งที่เราอยากฝากให้คิด รวมถึงการมองว่า เราจะ Grooming คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกันในองค์กรอย่างไรให้สามารถทำงานร่วมกับรุ่นพี่ ๆ ได้ด้วย” คุณขยลกล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like