เวลานี้หลายธุรกิจกำลังเผชิญโจทย์ใหญ่รอบด้าน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น, ราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น, การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ตลอดจนการขาดแคลนแรงงาน ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในทำกำไรของธุรกิจ
“Starbucks Corp.” (สตาร์บัคส์) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าวเช่นกัน หลังจาก Starbucks ปรับขึ้นราคาสินค้าเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว และมกราคมปีนี้ ล่าสุดมีแผนปรับขึ้นราคาอีกในปี 2022 เพื่อชดเชยกับเงินเฟ้อ และต้นทุนต่างๆ ที่สูงขึ้น
ตามรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2022 (สิ้นสุด ณ 2 มกราคม 2022) พบว่า
– กำไรต่อหุ้น 72 เซ็นต์ เทียบกับนักวิเคราะห์ Refinitiv คาดการณ์ไว้ที่ 80 เซ็นต์
– รายได้ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 19% เทียบกับนักวิเคราะห์ Refinitiv คาดการณ์ไว้ที่ 7.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
– กำไรสุทธิ 815.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31%
– ยอดขายโดยรวมในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 18% และยอดขายโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 13% ได้แรงหนุนจากยอดใช้จ่ายต่อบิลสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้ได้ปรับราคาขึ้น และการเพิ่มขึ้นของสมาชิก Starbucks Rewards
นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลวันหยุด ผู้บริโภคมาที่ร้านเพื่อซื้อ Starbucks Gift Card โดยในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคใช้จ่ายโดยรวมมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเติมเงินเข้ามาใน Gift Card
– ยอดขายจากสาขาเดิม (Same-store Sales) นอกสหรัฐฯ ลดลง 3% เป็นผลมาจากยอดขายซบเซาของ Starbucks ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 โดยในไตรมาส 1/2022 ยอดขายสาขาเดิมในจีนลดลง 14% เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ของรัฐบาลจีน
“การแพร่ระบาดโอไมครอน ต้นทุนเงินเฟ้อ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งของซัพพลายเออร์เจ้าประจำ ทำให้เราหันไปหาซัพพลายเออร์ที่มีต้นทุนสูงกว่า เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้า โดยเราคาดว่าการหยุดชะงักของระบบซัพพลายเชน (Supply Chain Disruption) จะยังเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ประกอบกับการขาดแคลนพนักงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งบริษัทยังมีต้นทุนพนักงานที่สูงขึ้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้าน COVID-19 ของพนักงาน และค่าใช้จ่ายฝึกอบรมจากการว่าจ้างพนักงานใหม่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้เป็นผลให้ Starbucks กำลังวางแผนปรับขึ้นราคา หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม และมกราคมที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว” Kevin Johnson, CEO Starbucks เล่าถึงสิ่งที่กำลังเผชิญซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการวางแผนขึ้นราคา
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว Starbucks ประกาศเพิ่มงบประมาณด้านพนักงานเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับใช้เป็นค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับพนักงาน (ใน Starbucks เรียกว่าพาร์ทเนอร์) ซึ่งเป็นงบที่มากกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มงบครั้งนี้ยังรวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงพนักงาน Starbucks ในสหรัฐฯ จากค่าแรงโดยเฉลี่ย 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง
ค่าแรงและจำนวนพนักงาน ทั้งบาริสต้า และพนักงานอื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันการตั้งสหภาพแรงงาน โดยปัจจุบันมี Starbucks เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้แล้ว นอกจากนี้ Starbucks อีกกว่า 40 สาขาใน 17 รัฐ กำลังหาทางโหวตลงคะแนนในการตั้งสหภาพแรงงาน
Photo Credit : Starbucks