ในอดีตธุรกิจของ “บีเจซี” (BJC) อยู่ในธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) คือ ผลิตสินค้าและบริการ ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค, เวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์, บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และธุรกิจกลางน้ำ (Midstream) ดำเนินการด้านโลจิสติกส์ และเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ ทำให้ที่ผ่านมามีฐานลูกค้าใหญ่อยู่ในกลุ่ม B2B
แม้จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ และมีระบบกระจายสินค้าแข็งแกร่ง แต่ “บีเจซี” มองว่ายังขาดอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะทำให้กลุ่มบีเจซีครบวงจร นั่นคือ “ธุรกิจปลายน้ำ” (Downstream) ด้วยการมีเครือข่ายค้าปลีกค้าส่ง (Retail & Wholesale) ของตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่ง Data ผู้บริโภคในทำความเข้าใจทั้งพฤติกรรม ความชอบ ไลฟ์สไตล์ของผู้คน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจต้นน้ำ
ในช่วงปี 2557 – 2559 ถือเป็น “จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่” อีกครั้งสำหรับบีเจซี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ขยายมายัง “ธุรกิจปลายน้ำ” หลังจากก่อนหน้านี้เกิดจุดเปลี่ยนใหญ่มาแล้ว ทั้งในปี 2518 บีเจซีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปี 2544 กลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี คอร์ปอเรชั่นได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบีเจซี
โดยเฉพาะในปี 2559 ถือเป็นก้าวสำคัญในการลุยธุรกิจ Modern Trade ของกลุ่มบีเจซี เพราะมี 2 ความเคลื่อนไหวใหญ่คือ
– ซื้อกิจการเชนค้าส่งในเวียดนาม “Metro Cash & Carry Vietnam” และในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “MM Mega Market Vietnam”
– ซื้อกิจการเชนค้าปลีก “บิ๊กซี”
“จากเดิมบีเจซีเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว ขายให้กับลูกค้ารูปแบบ B2B เช่น เราผลิตทิชชู่, ขวดแก้ว ในอดีตเราไม่รู้เลยว่าขวดแก้วของเรา ทิชชู่ของเรา มีใครเป็นผู้บริโภค ผู้บริโภคอยู่ส่วนไหนของประเทศ เพราะเมื่อเราส่งสินค้าเข้า Modern Trade แล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นลูกค้าที่มาซื้อสินค้าที่บีเจซีผลิต ดังนั้นเพื่อเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค เราจึงขยายไปยังธุรกิจ Downstream มากขึ้น” คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เล่าถึงการทำธุรกิจปลายน้ำ
ถึงปัจจุบัน กลุ่มบีเจซี บิ๊กซีมีเครือข่ายค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียนเกือบ 2,000 สาขา อย่างไรก็ตามในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ปัจจุบันเป็นยุคของแพลตฟอร์ม (Platform Era)
ดังนั้นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้กลุ่มบีเจซี บิ๊กซีเติบโตไปข้างหน้า จึงต้องปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” ตามยุทธศาสตร์ในระยะเวลา 5 ปีนี้ (ปี 2565 – 2569) ของบีเจซี บิ๊กซี จะใช้งบลงทุน 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี
ครอบคลุมทั้งการสร้างแพลตฟอร์มค้าปลีกค้าส่ง ทั้ง Physical Store และ Online Store ที่จะผสานกันเป็น O2O หรือ Omni-channel และแพลตฟอร์มของพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า และผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์, แพลตฟอร์มระบบ Customer Data, แพลตฟอร์ม Supplier Management และ แพลตฟอร์มการพัฒนาสินค้า-บริการ เพื่อผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายยอดขาย 270,000 ล้านบาทภายในปี 2569 ซึ่งยอดขายนี้ยังไม่รวม MM Mega Market เวียดนาม ถ้ารวมจะอยู่ที่กว่า 300,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันบิ๊กซี มีธุรกรรมระหว่างเรา กับผู้ซื้อเกือบ 1 ล้านธุรกรรมต่อวัน ถ้าเรามี Incentive ให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น โปรแกรม Big Point ทำให้มีการทำธุรกรรมมากขึ้น เพราะธุรกิจแพลตฟอร์ม ยิ่งทำให้ผู้ซื้อมีการปฏิสัมพันธ์มากขึ้นเท่าไร จะยิ่งทำให้แพลตฟอร์มนี้มีมูลค่ามากขึ้น
การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจนี้ ไม่ใช่เราเปลี่ยนขึ้นมาเอง เราศึกษาบริษัทขนาดใหญ่ของโลก เช่น Apple จากเดิมขายคอมพิวเตอร์, มือถือ ต่อมาทำแพลตฟอร์ม สร้าง App Store คนมาซื้อบริการต่างๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่ Apple จะขายแต่ iPhone, iPad ก็มาสร้างแพลตฟอร์มให้คนมาใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของตนเอง
บีเจซี บิ๊กซี เราจะดำเนินการลักษณะนี้เช่นกัน โดยเรามองว่า ทั้งสินค้าและบริการ ความสัมพันธ์กับคู่ค้า จะนำไป ขยายในภูมิภาคอาเซียน และเชื่อมกับตลาดโลกได้อย่างไร…”
เปิดขุมกำลัง “บีเจซี บิ๊กซี”
1. ปัจจุบัน “บีเจซี” มี 21 ฐานการผลิต
– ไทย 12 ฐานการผลิต ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรม
– เวียดนาม ทั้งเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ 6 ฐานการผลิต
– มาเลเซีย 2 ฐานการผลิต โดย 1 ฐานการผลิต เป็นการร่วมทุน และอีก 1 ฐานการผลิตเป็นของบีเจซีเอง
– กัมพูชา 1 ฐานการผลิต
2. เครือข่ายค้าปลีกค้าส่งในอาเซียนเกือบ 2,000 สาขา เช่น
– ไทยกว่า 1,560 สาขา
– เวียดนาม 25 สาขา
– ลาว 57 สาขา
– กัมพูชา 2 สาขา
3. ครอบคลุมร้านค้าดั้งเดิมกว่า 236,000 ร้านทั่วอาเซียน
โครงสร้างค้าปลีกในอาเซียน ส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบดั้งเดิมเป็นหลัก อย่างในประเทศไทยมีร้านค้าปลีกดั้งเดิมกว่า 400,000 ร้านค้า ในจำนวนนี้ บีเจซีครอบคลุมกว่า 100,000 ร้านค้า ขณะที่เวียดนาม มีร้านค้าดั้งเดิมกว่า 800,000 ร้านค้า ซึ่งบีเจซีสามารถครอบคลุมประมาณ 120,000 ร้านค้า
รวมแล้วปัจจุบัน บีเจซี กระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกดั้งเดิมกว่า 236,000 ร้าน โดยทั้งในไทยและเวียดนาม ยังมีโอกาสอีกมาก แต่การขยายช่องทางจำหน่ายร้านค้าดั้งเดิม บีเจซีมองว่าต้องนำเทคโนโลยี ระบบ และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่บริษัทมี มาพัฒนาเสริมให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกดั้งเดิม
4. Distribution Center 20 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 500,000 ตารางเมตร เดิมทีการออกแบบ DC จะใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ และมีระบบ Automation แต่ต่อไปบีเจซีจะปรับการออกแบบ DC ให้มีขนาดเล็กลง และเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น เพื่อกระจายสินค้าและบริการต่างๆ เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากขึ้น
5. หน่วยรถ ปัจจุบันมีกว่า 2,200 คันในอาเซียน
6. มีเครือข่ายกระจายสินค้ารายย่อยกว่า 170 ราย (Small Retail Distribution Network) โดยมีหน่วยรถนำสินค้าขยายเข้าไปยังพื้นที่เล็ก – ร้านขนาดเล็กๆ ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้
7. มีสำนักงานตัวแทนบริษัท 2 แห่งในจีน และเมียนมาร์
สร้าง “BJC Platform” ขับเคลื่อนการเติบโตธุรกิจ
ภายใต้ยุทธศาสตร์ของ “บีเจซี บิ๊กซี” คือ ปรับแนวความคิด หรือโมเดลธุรกิจไปสู่ “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” ครอบคลุม 4 แพลตฟอร์มหลักคือ
1. ASEAN Trading Platform การซื้อขายในอาเซียน ผ่านเครือข่ายค้าปลีกค้าส่งของบีเจซี ประกอบด้วย
Physical Store
– บิ๊กซี มีหลาย Store Format และเปิดสาขาทั้งในไทย , กัมพูชา, ลาว โดยตั้งเป้าสาขาในปี 2569 ดังนี้
- ประเทศไทย : บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เพิ่มเป็น 160 สาขา จากปัจจุบัน 153 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา จากปัจจุบัน 1,352 สาขา, บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา จากปัจจุบัน 59 สาขา
ทั้งนี้ “บีเจซี” มีแผนปรับโฉม “บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็น Store Format ขนาดใหญ่ ให้เป็น “Big C Place” นำเสนอประสบการณ์การช้อปปิ้ง และการพักผ่อนที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
“เมื่อ 30 ปีก่อน ธุรกิจบิ๊กซี มีไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นบริการหลัก และมีพื้นที่เช่าที่เปิดให้ร้านค้ามาเช่า เป็นบริการเสริม แต่วันนี้สิ่งที่เราออกจากกรอบคือ พื้นที่เช่าสำคัญไม่น้อยกว่าพื้นที่ขายสินค้าในบิ๊กซี เราจึงเปลี่ยนจากบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ มาเป็น “Big C Place” เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่ช้อปปิ้ง
เพราะปัจจุบันเราไม่ได้แข่งแค่การทำโปรโมชั่น เพื่อขายของถูก หรือของคุ้มค่าให้กับลูกค้า แต่เรากำลังแย่งเวลา แย่งกระเป๋าเงินของลูกค้า และแย่งการพิจารณาของลูกค้าว่าจะไปที่ไหน
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแนวคิดจากบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็น “Big C Place” เริ่มรีโนเวทสาขาแรกที่รัชดา “Big C Place Ratchada” จะได้เห็นโฉมใหม่ภายในปีนี้
ภายใน Big C Place มีทั้งบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต มีพื้นที่อาหารสดเพิ่มขึ้น และออกแบบพื้นที่เช่าใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มร้านอาหารชื่อดัง ตอบสนองความต้องการทั้งของครอบครัวและคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัย เพิ่มพื้นที่ Co-working Space และ Relax Zone เพื่อทำให้เป็นจุดหมายของคนรุ่นใหม่ และออกแบบบรรยากาศโดยรวมให้น่าเดินมากขึ้น”
- กัมพูชา : ขยายบิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เพิ่มเป็น 6 สาขา จากปัจจุบัน 1 สาขา
- สปป.ลาว : ขยายบิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต 2 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 245 สาขา จากปัจจุบัน 57 สาขา
- เวียดนาม : ขยาย MM เพิ่มเป็น 113 สาขา จากปัจจุบัน 25 สาขา
– MM Mega Market เปิดในเวียดนาม ปัจจุบันมี 22 สาขา
– MM Food Service ต่อยอดจากเวียดนาม พัฒนาเป็นค้าส่งสินค้าอาหารสด สำหรับเจาะกลุ่มลูกค้า HoReCa ปัจจุบันเปิดในไทย 2 สาขา ซึ่งการพัฒนาธุรกิจค้าส่ง MM ทั้งเวียดนาม และไทยสร้างบนแพลตฟอร์มระบบเดียวกัน เพื่อทำให้เชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบเดียวกัน ดังนั้นข้อมูลการพัฒนาสินค้า Private Label และฐานข้อมูลลูกค้าจะถูกจัดเก็บบนแพลตฟอร์มเดียวกัน
– ธุรกิจร้านค้า “โดนใจ” บีเจซีริเริ่มในไทย เพื่อสนับสนุนร้านค้า ผู้ประกอบการ โชห่วย ร้านค้ารายย่อยกว่า 498 ราย (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 65) ให้ดำเนินธุรกิจได้และมีรูปแบบที่ทันสมัย แต่ยังคงความเป็นเจ้าของร้านค้าของผู้ประกอบการนั้น
ร้านค้าที่เข้าร่วมในร้านโดนใจ จะสั่งซื้อสินค้าผ่านบิ๊กซี และมีทีมงานบิ๊กซีสาขาใหญ่ต่างๆ เข้าไปช่วยดูแลร้านค้า โดยภายในปี 2569 ตั้งเป้าขยายร้านโดนใจหลักหลายหมื่นร้านค้า และบีเจซียังได้ขยายโมเดลร้านโดนใจไปยังเวียดนาม เพราะเล็งเห็นโอกาสตลาดค้าปลีกดั้งเดิมที่นั่นเป็นตลาดใหญ่ มีมากกว่า 800,000 ร้านค้าทั่วประเทศ
เหตุผลที่ “บีเจซี บิ๊กซี” พัฒนาโมเดลร้านโดนใจ
1. ทำให้ Product Assortment ของบิ๊กซีแต่ละสาขา แต่ละโลเคชั่น สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ของชุมชนต่างๆ เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านค้าโดนใจ ดำเนินการผ่านบิ๊กซี
2. ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกดั้งเดิมในชุมชน และท้องถิ่นต่างๆ
3. ได้ Local Insights ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการศึกษาและทำความเข้าใจ Insights และความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น
4. เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในเครือบีเจซี ได้เจอผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์สินค้าท้องถิ่นคุณภาพดี และเป็นที่ต้องการของคนในชุมชน เพื่อต่อยอดความร่วมมือต่อไปในอนาคต เช่น จับมือเป็นพันธมิตรผลิตสินค้า Private Label ให้กับเชนค้าปลีกค้าส่งของบีเจซี หรือนำสินค้าท้องถิ่นมาวางจำหน่าย
5. ขยายการใช้ Loyalty Program ในวงกว้างขึ้น เช่น โปรแกรม Big Point 1 แต้ม 1 บาท สามารถขยายมาใช้กับร้านโดนใจ
นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีกในเครือบีเจซี ยังมีร้านขายยาเพรียว (Pure), เอเชีย บุ๊ค (Asia Book) และร้านกาแฟวาวี
ขณะที่ช่องทางออนไลน์ และ Omni-channel ได้พัฒนา Big C Shopping Online, Big C Call Chat & Shop, Social Commerce เช่น LINE Facebook, แพลตฟอร์มออนไลน์ของเอเชีย บุ๊ค และเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชัน “Big C App”
โดยปัจจุบันยอดขายอีคอมเมิร์ซของบิ๊กซีอยู่ที่ 3% ตั้งเป้าอีก 5 ปีข้างหน้า ผลักดันยอดขายอีคอมเมิร์ซให้เกิน 10% ของยอดขายรวม
2. Customer Data Platform (CDP)
เพราะฐานข้อมูลลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกับกลุ่มบีเจซี บิ๊กซีมีหลายกลุ่มธุรกิจ และอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บีเจซีได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Customer Data รวบรวมฐานข้อมูลลูกค้าทั้งหมด ทั้ง B2C และ B2B ทั้งในไทย และอาเซียนมาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อจะได้เห็นพฤติกรรมลูกค้า และธุรกรรมต่างๆ ของลูกค้าแต่ละคนในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น ข้อมูลฐานสมาชิกบิ๊กซีกว่า 17 – 20 ล้านคน, กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์
ภายใต้ Customer Data Platform ประกอบด้วย 4 ด้านหลักคือ
– Marketing Automation ทำการตลาดกับลูกค้าอย่างอัตโนมัติ และสามารถทำ Personalized Marketing เป็นรายบุคคลได้
– Promotion Simulation ออกแบบโปรโมชั่นของสมาชิกให้แตกต่างกัน เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า – Campaign Analytics and Reporting วิเคราะห์การทำแคมเปญ และกิจกรรมต่างๆ
– Campaign Management บริหารจัดการแคมเปญให้บรรลุตามกลยุทธ์ขององค์กร
3. Supplier Data Platform
ปัจจุบันบิ๊กซีมีคู่ค้าซัพพลายเออร์กว่า 3,000 ราย และบีเจซีมีคู่ค้ากว่า 8,000 ราย สิ่งที่ “บีเจซี บิ๊กซี” กำลังทำคือ การเก็บข้อมูลของผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ที่เอาสินค้ามาขายให้กับเครือข่ายบีเจซี บิ๊กซี เข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน หรือที่เรียกว่าการทำ “Supplier Data Platform” เช่น ฐานข้อมูลว่าซัพพลายเออร์แต่ละราย ทำธุรกิจอะไร ขายสินค้าประเภทไหน ซึ่งฐานข้อมูลซัพพลายเออร์เหล่านี้ จะถูกเชื่อมโยมกับฐานข้อมูลลูกค้า (Customer Data)
เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งทางบีเจซี บิ๊กซี และผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ ในการคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า นำไปสู่การวางแผนการผลิตสินค้า เพื่อผลิตและวางจำหน่ายสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และเพียงพอกับความต้องการ
เช่น บีเจซี บิ๊กซี ไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรเอง แต่ใช้วิธีจับมือกับเกษตรกรทั่วประเทศ ทั้งเนื้อสัตว์, ผัก, ผลไม้ ดังนั้นการทำ Supplier Data Platform และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับ Customer Data ทำให้บีเจซี บิ๊กซี สามารถประมาณการณ์การผลิตให้กับผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ได้รับรู้ว่า ปริมาณวัตถุดิบที่บีเจซี บิ๊กซีจะรับซื้ออยู่ที่เท่าไร และช่วงนี้เน้นสินค้าประเภทอะไร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เกษตรกร นำไปวางแผนการผลิต และขายผ่านช่องทางต่างๆ ของบีเจซี บิ๊กซี
4. Product and Service Development Platform
กลยุทธ์ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการของบีเจซี บิ๊กซี โฟกัสสินค้า “Private Label” หรือแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค, ฮาร์ดไลน์, แฟชั่น, ของใช้ในครัวเรือน ฯลฯ เพื่อขายผ่านเครือข่ายค้าปลีกค้าส่งของบีเจซี บิ๊กซี ทั้ง Physical Store, Omni-channel ปัจจุบันมี 3 แบรนด์หลักคือ
– We are fresh เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารสด เช่น ผัก, ผลไม้, เบเกอรี่
– Besico ครอบคลุมสินค้าฮาร์ดไลน์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, เสื้อผ้า และของใช้ในครัวเรือน
– Big C Happy Price Pro สินค้าอุปโภคบริโภค ราคาคุ้มค่า เช่น สินค้า Commodity Product ทั้งหลาย, ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์
“บีเจซี บิ๊กซี ตั้งเป้าภายใน 5 ปีนี้ ยอดขาย Private Label จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 10,000 กว่าล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับพอร์ตโฟลิโอกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของบีเจซี ที่มียอดขายกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว จะผลักดันให้ “บีเจซี บิ๊กซี” กลายเป็น 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 5 ของผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า FMCG รายใหญ่ที่สุดในไทย”
ยุคแห่ง Collaboration
โมเดลการลงทุนของธุรกิจสมัยใหม่นับจากนี้ ไม่ใช่แค่การทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างสิ่งปลูกสร้างของตัวเอง หรือลงทุนเองทั้ง 100% เท่านั้น แต่อีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้น คือ “Collaboration” หรือการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ ไม่ว่าจะรายเล็ก กลาง หรือใหญ่ ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ร่วมทุน, เข้าถือหุ้น เพื่อลดต้นทุนในส่วนการผลิต แล้วนำไปใช้กับการพัฒนาส่วนอื่น เช่น เทคโนโลยี
อย่าง “บีเจซี บิ๊กซี” เดิมทีเน้นมีโรงงานผลิตของตัวเอง แต่เมื่อเปลี่ยนแนวคิดแพลตฟอร์ม ประกอบกับปั้นสินค้า Private Label มากขึ้น ทำให้ต่อจากนี้ใช้วิธีจับมือกับคู่ค้า ทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งฐานการผลิตเอง
“ปัจจุบันฐานการผลิตของบีเจซี บิ๊กซี มีทั้งในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ยังเหลือเมียนมา, จีนตอนใต้ และเพิ่มฐานมาเลเซีย แต่โมเดลใหม่ของเรา ไม่จำเป็นต้องตั้งฐานการผลิตเองทั้งหมด เราใช้วิธีจับมือกับคู่ค้า เช่น การผลิต Private Label ของบีเจซี บิ๊กซี ที่เราตั้งเป้ายอดขาย 50,000 ล้านบาทภายในปี 2569 เราไม่ได้ผลิตเองทั้งหมด อาจถือหุ้นบางส่วนกับผู้ผลิตที่เป็นคู่ค้าเรา ทั้งในไทย และอาเซียน โดยอาจถือหุ้น 25 – 50% แล้วนำสินค้าที่ผลิตนั้น ขายผ่านแพลตฟอร์มช่องทางค้าปลีกค้าส่งของบีเจซี บิ๊กซี
โมเดลนี้ ทุกคนได้ Win-Win โดยเรามี Demand การผลิตไปให้กับคู่ค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้บีเจซี บิ๊กซี ลดการลงทุน CAPEX ที่ใช้สร้างโรงงาน ต้องซื้อที่ และสร้างฐานการผลิตเองทั้งหมด ทำให้เงินลงทุนส่วน CAPEX ของบีเจซีที่จะใช้ใน 5 ปีข้างหน้า ถูกผันจากการลงทุนการผลิตสินค้า หรือโรงงาน ไปใช้ลงทุนปรับแพลตฟอร์มมากขึ้น ปรับปรุงร้านค้าของเรา เพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น
ประกอบกับเราลงทุน Customer Data Platform และ Supplier Data Platform ทำให้เรารู้ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศที่บริษัททำตลาด เห็นรายละเอียดของซัพพลายเออร์แต่ละเจ้า นำข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์ใช้ผลิตสินค้า ทำการตลาด และจำหน่ายสินค้า เป็นการเปลี่ยนแนวความคิด และเปลี่ยนการใช้เงินลงทุนของบริษัทไปปรับแพลตฟอร์มบีเจซี บิ๊กซี ให้แข็งแรงขึ้น” คุณอัศวิน สรุปทิ้งท้ายถึงการปรับโมเดลธุรกิจสู่ยุคแพลตฟอร์ม
- อ่านเพิ่มเติม : ไม่ใช่แค่บิ๊กซี! จับตาอาณาจักรค้าปลีกค้าส่ง “BJC” ลุยเปิด “MM Food Service – ร้านโดนใจ เจาะโชห่วย – ร้านยาสิริฟาร์มา”
- อ่านเพิ่มเติม : บิ๊กซีรุกค้าปลีก-ค้าส่ง ลดราคา-เติมร้านค้า ดึงผู้บริโภค และโชห่วยอยู่ในระบบนิเวศธุรกิจ