บราเดอร์ (brother) ประกาศความเป็นผู้นำในตลาดพรินเตอร์ปี 2021 โดยยังครองส่วนแบ่งสูงสุดใน 3 ตลาดหลัก จากสถานการณ์ Work & Learn From Home ที่ทำให้คนหันมาซื้อพรินเตอร์ไว้ใช้ในบ้านเพิ่มขึ้น ส่วนปีนี้ขอโตต่อ ตั้งเป้า 13% ในธุรกิจพรินเตอร์ และ 16% ในธุรกิจ Non-Print หลังพบว่าตลาดเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล – เครื่องเสียงคุณภาพสูง มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน และในภาวะวิกฤติ Covid-19 ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต, ปัญหาการปิดโรงงานเนื่องจากพนักงานติด Covid-19 ไปจนถึงปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ราคาแพงจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตามกำหนด โดยในปี 2021 ที่บราเดอร์ เผชิญความท้าทายดังกล่าว คุณธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า บราเดอร์ยังสามารถเป็นเบอร์หนึ่งใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ (อ้างอิงตัวเลขจาก GFK) นั่นคือ
- กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์ ครองส่วนแบ่งอยู่ที่ 37.1%
- กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชัน ครองส่วนแบ่ง 64.3%
- กลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชัน ครองส่วนแบ่ง 47.9%
นอกจากนั้น บราเดอร์ยังครองอันดับ 2 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์อยู่ที่ 19.5% และครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์แทงค์ ในสัดส่วน 20% ด้วย
“เครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล-เครื่องเสียง” ตลาดใหม่โอกาสโตสูง
เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเติบโตสูงในปีที่ผ่านมา คุณธีรวุธเผยว่า เป็นกลุ่มเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล (Brother GTX) ที่มีการเติบโตมากขึ้นถึง 28% โดยส่วนหนึ่งมาจากกระแสบนโลกออนไลน์ ที่อินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากต่างพิมพ์เสื้อแบบ customized เองออกมามากมาย
“กลุ่มที่ให้ความสนใจในเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัลหลัก ๆ มีสองกลุ่ม คือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ และกลุ่มผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการ Transformation ตัวเองมาสู่ธุรกิจใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น”
นอกจากนี้ บราเดอร์ยังพบการเติบโตในกลุ่มเครื่องเสียงคุณภาพสูง (BMB) ของทางแบรนด์ที่โตขึ้น 38% เช่นกัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคทำงานอยู่ที่บ้านกันมากขึ้น จึงมีการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สามารถรองรับความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี จากวิกฤติในปี 2021 ที่บริษัทเผชิญความท้าทายหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผลประกอบการปี 2021 บราเดอร์มียอดขายลดลง 3% เมื่อเทียบกับปี 2020 ส่วนสถานการณ์ในปี 2022 นี้ ทางบริษัทเผยว่า ปัญหา Supply Shortage มีแนวโน้มดีขึ้น และการระบาดของ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย จึงคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตไว้ที่ 14%
เปิดกลยุทธ์หลักบราเดอร์ “CSB 2024”
สำหรับกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตนั้น คุณณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า “3 ปีต่อจากนี้ บราเดอร์จะเดินหมากธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย
- Re-energizing Business การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต
- Sustainability การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคม (local community) และสิ่งแวดล้อม (environment) โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม (Good Governance)
- Driving DX หรือการขับเคลื่อนด้าน Digital Transformation (DX) โดยการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร
ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคุณณเอกได้กล่าวถึงรายละเอียดในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า
“กลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์เลเซอร์และสแกนเนอร์จะมุ่งเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจทที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากช่องทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ จะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์การทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานในสำนักงานและที่บ้าน”
“นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างเครื่องสกรีนดิจิทัล GTX ก็จะยังคงมุ่งทำตลาดสู่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่ต้องการริเริ่มและต่อยอดธุรกิจที่ตนเองมีให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch จะมุ่งการนำเสนอแบบโซลูชันใหม่เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ส่วนจักรเย็บผ้าจะเน้นกลุ่มจักรปัก เพื่อรองรับการเพิ่มตัวของการเปิดสถานศึกษาและรองรับกระแสนิยมด้านงาน DIY และพร้อมรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงและการปรับปรุงระบบเสียงของพื้นที่ประชุมด้วยกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง BMB”
เปิดตัวแชทบอทใหม่ Mr.Carer
ที่ผ่านมา บราเดอร์มีแชทบอทให้บริการแล้วหนึ่งตัวในชื่อ “น้องแคร์” ซึ่งจะเป็นแชทบอทสำหรับให้ข้อมูลทั่วไป เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และโปรโมชัน แต่ในปี 2022 นี้ คุณรัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า มีการพัฒนาแชทบอทตัวที่ 2 ชื่อ Mr. Carer โดยเน้นไปที่การซ่อมของศูนย์บริการแต่งตั้ง ไปจนถึงการสอบถามด้านเทคนิคการซ่อมต่าง ๆ ซึ่งจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์ และวางแผนขยายสู่กลุ่มธุรกิจ non-print ภายในปีนี้
ส่วนแชทบอทน้องแคร์ ก็มีการพัฒนาให้รองรับภาษาอังกฤษร่วมด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่เมษายน 2022 และจะเพิ่มช่องทางการติดต่อแชทบอทน้องแคร์ผ่าน Line OA ด้วยอีกทางหนึ่ง
ด้านคุณพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า “บราเดอร์ได้พัฒนา customer data platform ขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า พร้อมเพิ่มศักยภาพการให้บริการของศูนย์บริการต่าง ๆ สามารถรองรับความต้องการได้อย่างดียิ่งขึ้น ส่วนของพนักงาน บราเดอร์ ได้ปรับรูปแบบการมอบสวัสดิการให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน และให้ความสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป”