เราต่างทราบกันดีว่า จุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ บนโลกนี้ เกิดขึ้นจากกการคิดและการลงมือ แต่เพราะอะไรที่ทำให้รีรอหรือลังเลที่จะลงมือทำ หรือหากทำก็ทำแบบครึ่ง ๆ กลางๆ นั่นหมายความว่าการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย หากขาดแรงบันดาลใจและไฟฝัน น่ายินดีที่ “กลุ่มเซ็นทรัล” (Central Group) จุดประกายให้คนในสังคมเชื่อมั่นใน “พลังของการทำ” ผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) ที่นำเสนอคุณค่าในการลงมือทำร่วมกันผ่านภาพยนตร์โฆษณา “วงจรชีวิตของการทำ” ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หรือน้อยนิด ก็ล้วนแล้วแต่น่าชื่นชมและควรค่าแก่การสนับสนุนด้วยกันทั้งสิ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ทุกคนลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ดีงามด้วยความตั้งใจ และทำให้สุดฝีมือ ก็จะก่อเกิดเป็นพลังแห่งการสร้างคุณค่าร่วมกัน
ด้วยแนวคิดในการขับเคลื่อน การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน “เซ็นทรัล ทำ” จึงขออาสา “ทำ” และชวนทุกคนลงมือทำ เพื่อวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ เพื่อคนข้าง ๆ เพื่อคนข้างหลัง ให้เป็นวงจรชีวิตของการทำที่ไม่มีวันสิ้นสุด ที่ก่อให้เกิดทั้งรอยยิ้ม ความสุข ความสัมพันธ์อันใกล้ชิด และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน Brand Buffet พาไปเจาะลึกโฆษณาชุดนี้
สำหรับภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์โดย ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีและผู้เขียนบทภาพยนตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการสร้างคุณค่าร่วมกัน และพลังของการลงมือทำ โดยจะเห็นว่ามีการเล่นคำว่า “ทำ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องใครก็ตาม ทำให้ชวนติดตามตลอด 2 นาทีกว่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าให้เกิดขึ้น โดยต้องการถ่ายทอดเรื่องจริงของบุคคลและชุมชนต่าง ๆ ที่ “เซ็นทรัล ทำ” ร่วมสนับสนุนและดำเนินโครงการด้วยกันมาจริง ๆ เพื่อสื่อสารให้คนดูทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ เกิดแรงบันดาลใจในการลงมือทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ธรรมชาติของชาวบ้านและคนในชุมชนต่าง ๆ ที่ปรากฎในภาพยนตร์โฆษณาของ “เซ็นทรัล ทำ” ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แท้จริง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำผ่านสีหน้า แววตา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ที่อบอวลไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน หมดยุคของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ เงินทอง หรือทำกิจกรรมเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วจบไป.. แต่นี่คือยุคของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Values: CSV) ระหว่างธุรกิจและสังคม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เน้นถึงความตั้งใจจริงในการการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นและสังคมอย่างต่อเนื่องแบบระยะยาว (Long-term Thinking)
คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “เซ็นทรัล ทำ – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” คือ เจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ของกลุ่มเซ็นทรัล ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างคุณค่าร่วมกัน โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภายในองค์กร (ผู้บริหารและพนักงาน) สู่ภายนอกองค์กร (ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ด้วยการชวนทุกคนมาร่วมมือกัน ‘ทำ’ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน โดย “เซ็นทรัล ทำ”ดำเนินงานตามแนวทางสากลสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้การขับเคลื่อนตามแนวทางต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง ดังนี้
1. ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย เซ็นทรัล ทำ เชื่อว่าทุกคนควรมีกิน ปากท้องต้องไม่หิว ดังนั้นการช่วยให้ชุมชนเพิ่มรายได้จากอาชีพที่ถนัดอยู่แล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่การรับซื้อสินค้ามาจำหน่าย เพราะยังรวมถึงการช่วยพัฒนาสินค้าและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วยเพื่อให้สามารถจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่นกัน
2. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส อย่างเท่าเทียม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม เช่น จ้างงานคนพิการทำงานคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันมีลูกจ้าง คนพิการมากถึง 631 คน ขณะที่เด็กนักเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดกระบี่ซึ่งทำโครงการพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ก็มีกำไรมากถึง 80,000 บาทต่อปี รวมถึงยังได้เรียนรู้เรื่องการตรงต่อเวลาในการให้อาหารไก่ และปลูกจิตสำนึกในการรักสัตว์อีกด้วย
3. พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มเซ็นทรัลตระหนักดีว่า Manpower เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงสนับสนุนให้บุคลากรพัฒนาขีดความสามารถและทักษะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการ Upskill (เพิ่มเติมทักษะเดิมให้ดีขึ้น ด้วยทักษะและองค์ความรู้ใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต) และ Reskill (สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด) รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรมี Work-life balance ที่ดีด้วย
4. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ในขณะที่ประเทศไทยประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 นั้น ทางกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ ก็ได้ตอบสนองต่อทิศทางดังกล่าวอย่างแข็งขัน ด้วยการนำหลัก Circular Economy และ Waste Management มาใช้ โดยสามารถรวบรวมขยะได้ราว 4,000-5,000 ตันต่อปี และลดพลาสติกจากการไม่ให้ถุงพลาสติกไปได้ถึง 5,000 ตัน ในปี 2564 และสำหรับปี 2565 นี้ ตั้งเป้าลดพลาสติกให้ได้อย่างน้อย 6,500 ตัน
5. ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการบริหารจัดการขยะส่วนเกินตั้งแต่ต้นทาง วางแผนการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ แปรรูปอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ ตลอดจนบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด โดยปี 2564 ที่ผ่านมา เซ็นทรัล ทำ บริจาคอาหารให้กลุ่มเปราะบางรวม 1 ล้านมื้อ
6. ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยส่งเสริม Renewable Energy ทั้งในการทำธุรกิจและบริการลูกค้า ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและโดยรอบศูนย์การค้า รวมถึงปลูกป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ชุมชนต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการของ “เซ็นทรัล ทำ” ใช้พลังงานหมุนเวียนด้วย เช่น โรงเรียนเทศบาล 1 วัดละไม ที่เกาะสมุย จากปกติที่เสียค่าแก๊สเดือนละ 3,000-4,000 บาท เมื่อหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน ก็ไม่ได้จ่ายค่าแก๊สอีกเลย มิหนำซ้ำยังประหยัดน้ำในการล้างภาชนะมากขึ้น เนื่องจากไม่ทำให้หม้อหรือกระทะดำ เป็นต้น
นับถึงปัจจุบัน “เซ็นทรัล ทำ” ดำเนินการแล้วมากกว่า 100 โครงการ โดยมีโครงการเด่น ๆ อาทิ โครงการจริงใจ Farmers’ Market ส่งเสริมเกษตรกรในท้องถิ่นทั่วทุกภาคของประเทศไทย ด้วยของดีของเด็ดของขึ้นชื่อทั้งในพื้นที่และของขึ้นชื่อจากจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นสินค้าสดใหม่ คัดสรรคุณภาพมาอย่างดี ส่งตรงจากชาวไร่ชาวสวน เพื่อจำหน่ายในตลาดจริงใจ Farmers’ Market 27 สาขา และคาดว่าสิ้นปี 2565 นี้จะเพิ่มเป็น 33 สาขา รวมถึงสร้างรายได้ให้เกษตรกรชุมชนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท, โครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ รวมถึงสร้างเส้นทางอาหารปลอดภัยและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนช่วยพัฒนาซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพด้วยรถห้องเย็นสำหรับลำเลียงพืชผักเพื่อคงความสดใหม่ และล่าสุดที่นี่ยังเตรียมต่อยอดเปิดโฮมสเตย์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ครบวงจร
โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ทำการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และส่งเสริมผ้านาหมื่นศรีที่สืบสานตำนานเอกลักษณ์แห่งการทอผ้าที่มากว่าร่วม 200 ปี ให้กลายเป็นสินค้าชุมชน และเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป และโครงการ Journey to Zero – สมุยโมเดล ใช้การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอย โดยรณรงค์ลดและคัดแยกขยะจากต้นทาง ทำให้ในปีที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ลงหลุมฝังกลบได้ถึง 47 ตัน เป็นต้น
“เซ็นทรัล ทำ ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เราเข้าไปช่วยสนับสนุน นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเข้าไปส่งเสริมการทำงานของชุมชน เป็นที่ปรึกษาช่วยเติมเต็มความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน และช่วยต่อยอดให้คุณค่าและสิ่งที่งาม ๆ ต่าง ๆ ที่พวกเขามีอยู่แล้ว งอกงามและเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้มากขึ้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในชุมชนมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น”
ที่สำคัญ “เซ็นทรัล ทำ” ซึ่งเป็น CSV ที่โดดเด่นของกลุ่มเซ็นทรัล ยังวัดผลได้ชัดเจนอีกด้วย โดยผลการดำเนินงานในปี 2564 พบว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก สามารถพัฒนาชุมชนใน 44 จังหวัด ชุมชนต่าง ๆ สร้างรายได้ต่อปี ด้วยการรับซื้อสินค้าทางการเกษตร มากกว่า 1,500 ล้านบาท พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนกว่า 500,000 คน ให้การสนับสนุนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวไปแล้วกว่า 2,000 ไร่ และลดปริมาณขยะอาหารมากกว่า 1,600 ตัน
นอกจากนี้ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการสร้างคุณค่าร่วมกัน และพลังของการลงมือทำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นในสังคม เซ็นทรัล ทำ จึงนำเสนอภาพยนตร์โฆษณา “วงจรชีวิตของการทำ” ผลงานสร้างสรรค์โดย ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีและผู้เขียนบทภาพยนตร์ โดยต้องการถ่ายทอดเรื่องจริงของบุคคลและชุมชนต่าง ๆ ที่ “เซ็นทรัล ทำ” ร่วมดำเนินโครงการด้วยกันมา เพื่อสื่อสารให้คนดูทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ เกิดแรงบันดาลใจในการลงมือทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ “เซ็นทรัล ทำ”