ปี 2564 เป็นปีที่หนักหนาสำหรับธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่เชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย ส่งผลให้ร้านอาหารหลายร้าน หลายเชนต้องทยอยปิดกิจการ โดยประเมินว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมอยู่ที่ 330,000 – 340,000 ล้านบาท ติดลบ 11%
ขณะที่ปี 2565 ประเมินกันว่าจะพลิกกลับมาเติบโตกว่า 10% โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารปีนี้จะอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19
ภาพที่ปรากฏในปีนี้ จึงเห็นทั้งเชนใหญ่ ที่มี Brand Portfolio มากมายเร่งเปิดสาขา และจุดให้บริการมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีผู้ประกอบการร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นมา ทดแทนรายเดิมที่ล้มหายไปจากตลาด รวมทั้งรายที่เคยปิดไป ก็ Reborn ได้อีก ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจร้านอาหารที่มี Barrier of Entry น้อย การเข้าสู่ธุรกิจนี้ไม่ยาก จึงมีร้านเกิดใหม่ และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งอยู่ตลอดเวลา แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีการแข่งขันสูง มีต้นทุน และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นความท้าทายในการนำพาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ปี 2565 “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” (Central Restaurants Group) หรือ “ซีอาร์จี (CRG)” ชูยุทธศาสตร์ “GREATER WE: ซีอาร์จีจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” เพื่อสร้าง New S-curve ด้วยแผน 4 กลยุทธ์ พร้อมทั้งตั้งเป้ารายได้ 12,100 ล้านบาท เติบโตเกือบ 30% จากปี 2564 มีรายได้ 9,370 ล้านบาท
บทสรุปปี 2564 เติบโตบนความท้าทายรอบด้าน!
ปี 2564 “CRG” ทำรายได้ 9,370 ล้านบาท และเปิดกว่า 200 จุด ทำให้โดยรวมแล้วมี 1,380 จุดขาย กลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์คือ
1. พัฒนาร้านรูปแบบใหม่ เพื่อสร้าง New S-curve Growth เช่น
– “มิสเตอร์ โดนัท” (Mister Donut) และ “อานตี้ แอนส์” (Auntie Anne’s) เปิดโมเดล “คอนเทนเนอร์” (Container) ในสถานีบริการน้ำมัน
– เปิดร้านรูปแบบ “Hybrid Cloud” รวมแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือ CRG ได้แก่ คัทสึยะ, เปปเปอร์ ลันช์ และโยชิโนยะ มาไว้ในร้านเดียว เพื่อขยายสาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ต และสถานีบริการน้ำมัน
– เปิด “เคเอฟซี” (KFC) ขนาดเล็กลง และพัฒนารูปแบบ “Shop House” คือ แปลงอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวในย่านชุมชนเป็นร้านเคเอฟซี เพื่อเป็น Network สาขาเข้าถึงชุมชนมากขึ้น
– พัฒนาโมเดล Shop in Shop ด้วยการผนึกกำลังแบรนด์ในเครือ ทั้ง อาริกาโตะ (Arigato) แบรนด์กาแฟและเครื่องดื่มชงสด เปิดในร้านมิสเตอร์โดนัท และเปิดในร้านเคเอฟซี
ทั้งนี้ในปี 2564 CRG มีร้านอาหารทั้งสิ้น 17 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ , อาริกาโตะ และส้มตำนัว มีสาขาให้บริการจำนวน 1,380 สาขา ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ ธ.ค. 2564)
2. ผลักดันธุรกิจ Delivery และ Omnichannel สร้างยอดขายกว่า 3,000 ล้านบาท เติบโต 40%
3. รุกเปิด Cloud Kitchen (คลาวด์คิทเช่น) ในปี 2564 เปิดให้บริการ 11 จุด พร้อมทั้งจับมือกับ Grab เปิดให้บริการ GrabKitchen by Everyfoood เพื่อให้บริการร้านอาหารคอนเซ็ปต์ Virtual Brand คือ ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน และขายเฉพาะช่องทาง Delivery อย่างปัจจุบันมี 3 แบรนด์ SME ที่มาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้คือ โจว ข้าวต้มแห้ง, คลั่งกะเพรา, บุกชน ข้าวมันไก่เกาหลี (Bukchon) และล่าสุดแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือ “โอโตยะ” (OOTOYA) แตกแบรนด์ใหม่ “คาโคมิ” (Kakomi) เป็นเมนูเบนโตะ และอาหารทานเล่น ให้บริการรูปแบบ Delivery โดยเฉพาะ
4. Joint Venture – M&A ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม เสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอ
นับตั้งแต่ปี 2562 “CRG” ให้ความสำคัญกับโมเดลร่วมทุน (Joint Venture) และควบรวมกิจการ (Merge & Acquisition) เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง Brand Portfolio โดยปัจจุบันมี 3 แบรนด์คือ สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory), บราวน์ คาเฟ่ (Brown Café) และ ส้มตำนัว (Somtam Nua) รวมงบลงทุนทั้ง 3 แบรนด์กว่า 400 ล้านบาท
5. ปรับปรุงเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานหลังบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้เชื่อมต่อกับระบบ The 1 ได้ดีขึ้น
6. บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการควบคุมต้นทุนพนักงาน, ต้นทุนขาย และต้นทุนค่าเช่าสถานที่
กางแผน 4 กลยุทธ์ปี 2565 ลุยขยาย “KFC ตึกแถว” และเตรียมควบรวมกิจการ/ร่วมทุน 2 ดีล
ปี 2565 “CRG” วางยุทธศาสตร์ “GREATER WE: ซีอาร์จีจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” โดยตั้งเป้าพัฒนาการเติบโตธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบ “New S Curve” ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย
1. การขยายสาขาและสร้าง ecosystem รองรับการเติบโต
การขยายร้านอาหารแบรนด์ต่าง ๆ เพิ่มเติม รองรับความต้องการและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มสดใส ฟื้นตัวขึ้น จากปัจจัยบวกประชาชนชาวไทยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ผู้บริโภคออกมาทำงาน ใช้ชีวิต ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ นอกบ้านมากขึ้น เช่น การช้อปปิ้งที่ศูนย์การค้า รับประทานอาหารที่ร้าน เป็นต้น
“มีหลายปัจจัยที่จะทำให้เรายิ่งใหญ่กว่าเดิมเหมือนก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และต้องการออกจากบ้านมาพบปะกัน ใช้ชีวิตนอกบ้าน มารับประทานอาหารที่ร้าน หรือ Dine-in มากขึ้น ที่สำคัญ 2 ปีที่ผ่านมา มีมุมมองว่าธุรกิจเซ็กเตอร์ต่าง ๆ หากผ่านวิกฤตได้จะแข็งแกร่งขึ้น ซึ่ง CRG เป็นหนึ่งในองค์กรที่ผ่านช่วงเวลาดังกล่าว GREATER WE คือ การก้าวไปข้างหน้าเชิงรุกจากนี้ เราจึงเชื่อมั่นว่าจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี (CRG)” เล่าถึงยุทธศาสตร์ธุรกิจปีนี้
“CRG” จึงเดินหน้าปูพรมขยายสาขาร้านอาหารในทำเลศักยภาพใหม่ ๆ ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 200 สาขา (จากปี 2564 มี 1,380 สาขาทั่วประเทศ) ด้วยงบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท และงบรีโนเวทสาขากว่า 100 ล้านบาท
การเปิดสาขาใหม่ ครอบคลุมหลากหลายรูปแบบ และโลเคชั่น ทั้ง Mall กับ Non-Mall
– ทำเลในห้างค้าปลีก ศูนย์การค้าต่างๆ (Mall)
– ไฮเปอร์มาร์เก็ต
– ทำเลนอกห้างที่มีศักยภาพ
– ร้าน Stand Alone ในปั๊มน้ำมัน (Non-Mall) และโมเดล Shop House เป็นการนำอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวมาพัฒนาเป็นร้านในย่านชุมชน
ขณะเดียวกันจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับเทคโนโลยีมาใช้ในร้านอาหารมากขึ้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภค จากปีที่แล้วได้นำระบบ POS มาเพิ่มประสิทธิภาพการขายสินค้า สร้างอีโคซิสเทมให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง เพื่อต่อยอดการขยายร้านอาหารในปี 2565
2. สร้างโมเดลร้านรูปแบบใหม่ และปรับโฉมสาขา
ปี 2565 CRG มองโอกาสการเติบโตของธุรกิจใหม่ จึงได้สร้างโมเดลร้านรูปแบบใหม่ พร้อมกับปรับโฉมสาขา ไม่ว่าจะเป็น
– สร้างโมเดลร้านแบบ Shop in Shop ผนึกกำลังแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว อย่างแบรนด์ “มิสเตอร์ โดนัท” ที่มีการปรับตัวหลายด้าน เช่น ผนึกเครื่องดื่มอาริกาโตะให้บริการลูกค้า, เคเอฟซี x อาริกาโตะ จำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มชงสดของอาริกาโตะในร้านเคเอฟซี
– การเปิดร้าน Stand Alone ขยายสาขาเจาะสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ คอนเทนเนอร์ สโตร์ (Container Store), เดลโก้ (Delco store)
– ปรับลดขนาดร้าน ทำให้ช่วยลดต้นทุนการลงทุนสร้างร้าน ด้วยการปรับพื้นที่ Dine-in ลง และเน้น Take Away, Delivery มากขึ้น เช่น แบรนด์คัทสึยะ, โยชิโนยะ หรือแม้แต่เคเอฟซี จากเดิมมีขนาดโดยเฉลี่ย 300 ตารางเมตร ปรับลดเหลือ 200 ตารางเมตร
เช่น การเปิดสาขาเคเอฟซี โมเดล Shop House ที่นำอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวมาทำเป็นร้านเคเอฟซี เพื่อเข้าถึงชุมชนมากขึ้น หลังจากปีที่แล้วเปิด 1 สาขาที่อินทามระ แผนการขยายสาขาเคเอฟซีรูปแบบนี้ในปี 2565 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา หากได้รับการตอบรับที่ดี คาดว่าจะขยายสาขารูปแบบ Shop House มากขึ้น
3. เร่งเครื่องบริการ Delivery และขยาย Cloud Kitchen
แม้ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านแล้ว แต่พฤติกรรมการสั่ง Food Delivery ยังคงอยู่ต่อไป ทว่าอาจจะไม่ได้เติบโตหวือหวาเหมือนช่วงล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้
หลังจากปีที่แล้ว “CRG” สร้างการเติบโตช่องทาง Delivery มากถึง 3,000 ล้านบาท ในปี 2565 ตั้งยอดขายช่องทางนี้อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท
ขณะเดียวกันเตรียมขยาย Cloud Kitchen จาก 11 จุด เพิ่มเป็น 20 จุด ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด ซึ่งนอกจากแบรนด์ในเครือ CRG แล้ว ยังเปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย มาเปิดร้านบน Cloud Kitchen ของ CRG เพื่มเติมเต็มความครบวงจรของประเภทอาหาร และทำให้บริการ Cloud Kitchen ของ CRG เข้าไปอยู่ทุกโอกาสการบริโภคของลูกค้ามากขึ้น
4. ผนึกพันธมิตร เพิ่มโอกาสลงทุน M&A และ Joint Venture
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการดำเนินธุรกิจร้านอาหารปี 2565 “CRG” เปิดกว้างกลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตรร้านอาหาร 2 มิติ ได้แก่
– การซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) รวมถึงการร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้ประกอบการร้านอาหาร SME ที่มีศักยภาพมาขยายธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งทั้ง 2 ฝ่ายสร้างการเติบโตไปด้วยกัน หรือเกิด Win-Win strategy โดย CRG มีจุดแข็งช่วยเสริมแกร่งพันธมิตร เช่น มี Ecosystem รองรับ มีระบบหลังบ้านต่าง ๆ ช่วยสร้างประโยชน์ และ Synergy ด้านต้นทุน เอื้อให้การขยับขยายธุรกิจมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยปีนี้วางงบสำหรับทำ M&A และ Joint Venture ประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าภายในปีนี้ จะสามารถปิดดีลได้ 1 – 2 ดีล
– การดึงพันธมิตรมาขยายร้านอาหารรูปแบบแฟรนไชส์ ต่อยอดจากมิสเตอร์ โดนัท และอร่อยดี ไปสู่แบรนด์อื่น ๆ ในเครือเพิ่มเติม เช่น เปปเปอร์ ลันช์
นอกจากนี้ ภายใต้วิกฤต COVID-19 “CRG” ยังคงเดินหน้าผลักดัน “สลัดแฟคทอรี่” สร้างความสำเร็จขยายร้านไม่ต่ำกว่า 10 สาขา พัฒนาร้านรูปแบบใหม่เจาะสถานีบริการน้ำมัน เปิดในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ออกสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat : RTE) สร้างการเติบโต
“เรามองการเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีไอเดีย คอนเซ็ปต์ร้านดี แล้วต้องการขยายธุรกิจ ซึ่ง CRG มีจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการได้ ทั้งในรูปแบบที่มาร่วมอยู่ใน Cloud Kitchen ของเรา
ขณะเดียวกันวิกฤต COVID–19 ที่ผ่านมา กระทบธุรกิจร้านอาหาร บางรายบาดเจ็บสาหัส จึงมีทั้งต้องการทำธุรกิจต่อและอยากเลิกกิจการ เราจึงมองหาผู้ร่วมลงทุนและการซื้อกิจการ เพราะมองว่าการอยู่ร่วมกันดีกว่าอยู่คนเดียว จึงจะเห็นเราทำ M&A มากขึ้น เพราะรายย่อยเก่ง มีความสามารถ มีความถนัดหลายด้าน และเราพร้อมช่วยขยายสาขา การรวมพลังกันจึงไม่มีทางที่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่เติบโตมากกว่านั้นได้”
นอกจากนี้ CRG ยังได้ผนึกกับแพลตฟอร์มเดอะวัน (The1) ของกลุ่มเซ็นทรัล จะเป็นจิ๊กซอว์ทำให้ CRG ได้เก็บข้อมูลลูกค้า (Big Data) ได้รู้จัก เรียนรู้ ทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึกทั้งความชื่นชอบแบรนด์ การรับประทานอาหารแต่ละสัปดาห์เป็นอย่างไร เพื่อนำไปต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และทำลอยัลตี้ โปรแกรมต่าง ๆ ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) กระตุ้นการบริโภคแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้ง 17 แบรนด์มากขึ้น”
ธุรกิจร้านอาหารปี 2565 กลับมาฟื้นตัว
สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2565 มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น จากปัจจัยผู้บริโภคมีความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน รับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เห็นการฟื้นตัวโตกว่า 10% จากปี 2564 ซึ่งมีตลาดมูลค่ามากกว่า 340,000 ล้านบาท ติดลบ 11%
อย่างไรก็ตามสัญญาณบวกธุรกิจร้านอาหารกลับมาเติบโตอีกครั้ง สิ่งที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจร้านอาหารจะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติ เช่น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ ๆ จะเกิดเพิ่มขึ้น
คุณณัฐ วิเคราะห์ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ว่า จากทิศทางธุรกิจร้านอาหารคาดว่าปี 2565 ตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะพลิกกลับเติบโตและมีสีสัน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของผู้ให้บริการรายใหญ่ซึ่งถูกชะลอมาจากปี 2563 และการเร่งขยายพอร์ตอาหารให้ครอบคลุมประเภทอาหารมากยิ่งขึ้น
“แม้ทิศทางธุรกิจร้านอาหารจะดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญโจทย์ทางธุรกิจที่สำคัญ อาทิ ต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองโรค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ น่าจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ รายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน การขยายธุรกิจเพื่อให้ได้ scale จะช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรอง และลดต้นทุนได้
ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ผสมผสานระหว่างช่องทางการขายและการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้จากหลากหลายช่องทาง รวมถึงการสร้างประสบการณ์ (Experience) ในการรับประทานอาหารที่ร้านให้ดีกว่าและพัฒนาให้มีความแตกต่างจากการสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน
สำหรับ “CRG” ยังคงมีสต็อกเก่าที่สั่งไว้ก่อนหน้านี้ และถ้าสต็อกเก่าหมด ต้องสั่งวัตถุดิบเข้ามาใหม่ ในขณะที่ราคาวัตถุดิบยังคงสูงขึ้น เราต้อง sourcing วัตถุดิบจากแหล่งอื่น เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ดีกว่า ราคาวัตถุดิบเหมาะสม โดยที่วัตถุดิบยังต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ
ดังนั้นในช่วงนี้ เราพยายามตรึงราคาค่าอาหารให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายต้องยอมรับว่า เมื่อต้นทุนวัตถุดิบยังคงปรับขึ้น เราคงต้องมีการปรับราคาเช่นกัน โดยจะพยายามปรับราคาให้ช้าที่สุด และน้อยที่สุด” คุณณัฐ สรุปทิ้งท้ายถึงความท้าทายของธุรกิจร้านอาหารในปี 2565
- อ่านเพิ่มเติม : สำรวจตลาดร้านอาหารปี ‘64 “CRG” ชู 5 กลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ “สาขาโมเดลใหม่ – ทำ M&A – ขายแฟรนไชส์”
- อ่านเพิ่มเติม : เส้นทาง ‘Brown Café’ จาก SME ชานมไข่มุก ปั้นธุรกิจอย่างไรให้ ‘เซ็นทรัล’ ร่วมทุน และแผนลงทุนจากนี้
- อ่านเพิ่มเติม : 4 กลยุทธ์ “KFC” เพิ่มโอกาสการขาย “เช้ายันดึก” และสร้างการเติบโตที่มากกว่า “ไก่ทอด”