สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยชั้นนำ สำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลต่อเนื่องจากเป็นปีที่ 10 นับจากเริ่มต้นในปี 2012 มูลค่าอยู่ที่ 2,783 ล้านบาท จบปี 2021 มีมูลค่า 24,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 เท่า ตลอด 10 ปีนี้เติบโตเฉลี่ย 27.5%
หากย้อนไปในช่วงเริ่มต้นของโฆษณาดิจิทัล สื่อที่เติบโตสูง คือ เฟซบุ๊ก ยูทูบ มาในช่วงโควิดปี 2020-2021 สื่อออนไลน์วิดีโอ เป็นดาวเด่นเติบโต 150% และดาวรุ่งพุ่งแรงยกให้ TikTok เติบโต 654%
ตลอดช่วง 2 ปี โควิดเม็ดเงินโฆษณาสื่อเก่า “ติดลบ” แต่โฆษณาสื่อดิจิทัลไม่กระทบ บทสรุปในปี 2021 โฆษณาสื่อดิจิทัลอยู่ที่ 24,766 ล้านบาท เติบโต 18% (สูงกว่าคาดการณ์ที่ 8%) มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้าย และการใช้เงินเพิ่มขึ้นของกลุ่มอีคอมเมิร์ซ
โฆษณาดิจิทัล ปี 2022 โต 9%
ปี 2022 DAAT คาดการณ์เม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลยังเติบโตได้ 9% ด้วยมูลค่า 27,040 ล้านบาท การประเมินตัวเลขเติบโตเป็นหลักเดียว จากปกติเติบโตสองหลัก มาจากปีนี้มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูงกระทบต้นทุนการผลิต ภาวะเงินเฟ้อ การเติบโตเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งสถานการณ์โควิดที่ยังไม่แน่นอน ทำให้สินค้าและแบรนด์ชะลอใช้เม็ดเงินในช่วงต้นปีเพื่อรอดูทิศทาง แต่สื่อดิจิทัลก็ยังเป็นตัวเลือกการใช้เม็ดเงินในอันดับต้นๆ
การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล มีปัจจัยหลัก ได้แก่ พฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้เวลากับออนไลน์มากขึ้น แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาด เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้สื่อดิจิทัลเป็นสื่อที่คุ้มค่าการลงทุนและมีประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างการรับรู้แบรนด์ไปถึงปิดการขาย
“เฟซบุ๊ก” ยังครองแชมป์โกยเม็ดเงินสูงสุด
หากดูการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลรายสื่อ ในปี 2022 DAAT ยกให้ “เฟซบุ๊ก” ยังเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้สื่อสารกับผู้บริโภค และครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของสื่อดิจิทัล แต่มีแนวโน้มเติบโตลดลง โดยสรุปงบโฆษณาปี 2022 รายสื่อดังนี้
1. Facebook มูลค่า 8,106 ล้านบาท สัดส่วน 30%
2. YouTube มูลค่า 4,690 ล้านบาท สัดส่วน 17%
3. Online Video มูลค่า 2,591 ล้านบาท สัดส่วน 10%
4. Social มูลค่า 2,323 ล้านบาท สัดส่วน 9%
5. Creative (ผลิตคอนเทนต์) มูลค่า 2,049 ล้านบาท สัดส่วน 8%
6. Display มูลค่า 2,034 ล้านบาท สัดส่วน 8%
7. Search มูลค่า 1,807 ล้านบาท สัดส่วน 7%
8. LINE มูลค่า 1,546 ล้านบาท สัดส่วน 6%
9. TikTok มูลค่า 455 ล้านบาท สัดส่วน 2%
10. Affiliated Marketing มูลค่า 416 ล้านบาท สัดส่วน 2%
11. Others มูลค่า 364 ล้านบาท สัดส่วน 1%
12. Twitter มูลค่า 264 ล้านบาท สัดส่วน 1%
13. E-Commerce มูลค่า 242 ล้านบาท สัดส่วน 1%
พบว่า Online Video เติบโตสูงมาก จากที่เคยอยู่ในอันดับ 8 สามารถขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ในปี 2021 ถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในปีนี้และเติบโตอีกกว่า 45% มาจากพฤติกรรมคนไทย ชอบดูวิดีโอมากกว่าภาพนิ่ง โดยเฉพาะการดูรีวิวหรือข้อมูลของสินค้าราคาแพง เช่น รถยนต์ ต่อไปเทคโนโลยี AR และ VR จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ยังมาจากการเติบโตของแพลตฟอร์ม OTT ของฝั่งผู้ประกอบการไทย อย่าง CH3 Plus ของ ช่อง 3, Bugaboo ช่อง 7 แอพพลิเคชั่น ช่องวัน ทำให้มีการใช้มีการใช้โฆษณาวิดีโอออนไลน์มากขึ้น
“ยูทูบ” เป็นแพลตฟอร์มเบอร์สองที่ครองเม็ดเงินสูงสุด เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่มีผู้ใช้งาน 43 ล้านยูสเซอร์ ใช้เป็นสื่อแมสได้ไม่ต่างจากทีวี โดยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่มีงบประมาณมักใช้ทีวีและยูทูบคู่กันเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม แต่หากเป็นแบรนด์ที่มีงบประมาณจำกัด ก็จะใช้ยูทูบอย่างเดียว ซึ่งสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะให้เห็นโฆษณาได้
ขณะที่ TikTok แพลตฟอร์มมาแรงเติบโตก้าวกระโดดกว่า 654% ในปี 2021 คาดการณ์ว่าปีนี้เติบโตอีก 26% TikTok เติบโตสูงในช่วงโควิด จากคนไทยต้องการหาคอนเทนต์บันเทิงเสพในช่องล็อกดาวน์ และนิยมวิดีโอสั้นจึงใช้งานเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน TikTok มีแอคทีฟยูสเซอร์ ใกล้เคียงกับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ แบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นจึงเข้าไปทำการตลาดผ่าน TikTok มากขึ้น
ส่วน E-commerce และการตลาดแบบช่วยขาย (Affiliated Marketing) ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับเม็ดเงินสื่อดิจิทัล แต่คาดการณ์ว่าปี 2022 การเติบโตของ 2 กลุ่มนี้จะสูงมาก โดย E-commerce เพิ่มขึ้น 58% และ Affiliated Marketing 41% เป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และ KOLs เข้ามามีบทบาทเป็นเครื่องมือการตลาดช่วยกระตุ้นการขายในอีคอมเมิร์ซ
บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ และ KOLs ยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก เพราะแบรนด์ต่างๆ เห็นประโยชน์จากการเป็นเครื่องมือการตลาดสร้างการเข้าถึง (reach) เอนเกจเมนท์ และปิดยอดขายได้ การเติบโตมาจากทุกกลุ่มทั้งอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ นาโน-ไมโคร อินฟูลเอนเซอร์ รวมทั้ง เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีหลายแบรนด์ใช้เป็นแอมบาสเดอร์ ซึ่งสามารถต่อยอดสร้างการสื่อสารในโลก Metaverse ได้
5 อุตสาหกรรมทุ่มงบสื่อดิจิทัลสูงสุด
กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 5 อันดับแรก ที่มีเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลสูงสุด ยังคงเป็นกลุ่มเดิมดังนี้
1. ยานยนต์ มูลค่า 3,170 ล้านบาท
2. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,957 ล้านบาท
3. กลุ่มสื่อสาร มูลค่า 2,581 ล้านบาท
4. สกินแคร์ มูลค่า 2,162 ล้านบาท
5. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มูลค่า 1,657 ล้านบาท
กลุ่มยานยนต์ ยังเป็นเบอร์หนึ่งในงบโฆษณาดิจิทัลมาต่อเนื่อง เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหม่ รถยนต์ค่ายจีน เข้ามาแข่งขันทำตลาด ปีนี้มีแนวโน้มใช้มากขึ้น จากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถทั้งฝั่งจีน ญี่ปุ่น และยุโรป
ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ใช้เงินเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการเปิดตัวเครื่องดื่มกลุ่มสุขภาพผสมวิตามินหรือสมุนไพรกว่า 10 แบรนด์, เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำซึ่งเป็นผลมาจากภาษีน้ำตาล, น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาลลดลง การแข่งขันทำการตลาดน้ำดื่มและน้ำแร่ ที่กลายเป็นสินค้าจำเป็น มีหลายรูปแบบทั้งบรรจุภัณฑ์ขวด ถัง และบริการเดลิเวอรี่
นอกจากนี้แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านโฆษณา ได้ใช้ประโยชน์จากโปรดักท์อื่นๆ เช่น เบียร์ แอลกอฮอล์ 0% โซดา น้ำดื่ม เครื่องดื่มคาร์บอเนต มาโฆษณาสร้างแบรนด์ เพื่อทำให้เกิดการจดจำแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปด้วย รวมทั้งทำการตลาดผ่านสปอนเซอร์ อีเวนท์ ทำกิจกรรมแจกของที่ระลึกในเทศกาลต่างๆ เช่น กระติกน้ำแข็ง กระเป๋าเก็บความเย็น เสื้อ และโฆษณา CSR
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มีการทำตลาดสินค้ากลุ่มใหม่น้ำตาลต่ำ รวมทั้งใช้สื่อดิจิทัลสื่อสารแบรนด์และจบด้วยอีคอมเมิร์ซ ครบวงจรการขายบนแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าดูแลสุขภาพ
อีกกลุ่มธุรกิจที่ใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น คือ “ค้าปลีก” จากผลกระทบจากโควิดมีช่วงต้องปิดห้าง ปิดร้านค้า จึงต้องปรับตัวเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์ เช่นเดียวกับ เอสเอ็มอี ที่มีการเปิดหน้าร้านผ่านโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์มากขึ้น ส่วนร้านอาหาร ก็ต้องหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จึงต้องมีการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อแนะนำร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ก็พัฒนาช่องทางออนไลน์เพื่อขายสินค้า ทั้งเฟซบุ๊กไลฟ์, Line มีการทำโปรโมชั่นผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น
อุตสาหกรรมที่ใช้งบสื่อดิจิทัลเติบโตสูงสุด คือ กลุ่มวิตามินและอาหารเสริม จากเดิมอยู่อันดับ 19 ในปี 2020 ขึ้นมาอยู่เป็นอันดับ 8 ในปี 2021 นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจออนไลน์ หรือ E-Commerce ก็เติบโตจากปี 2021 กว่า 100%
คุณภารุจ ดาวราย อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ในฐานะรักษาการนายกสมาคมฯ ได้ให้ความเห็นว่า ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่โลกทั้งโลกปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับโควิดได้มากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นของภาคธุรกิจ หรือทัศนคติของผู้คนที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การใช้เงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลพลิกตัวกลับมามีอัตราการเติบโตที่ตัวเลขสองหลักได้อีกครั้ง
พฤติกรรมการใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์กลายเป็นพฤติกรรมปกติในชีวิตของผู้คน ประกอบกับการตลาดสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องการไปจบที่ Transaction ยิ่งทำให้สื่อโฆษณาออนไลน์ที่สามารถติดตามผลลัพธ์ได้และส่งผู้บริโภคไปยังช่องทางการขายบนอีคอมเมิร์ซได้กลายมาเป็นโฟกัสหลักของนักการตลาดสมัยนี้ที่มองเรื่อง Effectiveness
แต่สิ่งที่น่าสนใจจากนี้คือปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามในยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศ จะส่งผลกระทบกับการตลาดและโฆษณาขนาดไหน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่โฆษณาดิจิทัลจะเติบโตต่อไปได้
สำหรับงานวิจัยของ DAAT และ คันทาร์ (ประเทศไทย) ได้เก็บข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาตามความเป็นจริงบนสื่อดิจิทัลประจำปี 2021 จาก 42 เอเยนซี่พันธมิตร โดยแแบ่งเป็น 59 ประเภทอุตสาหกรรม และ 16 ประเภทสื่อดิจิทัล และทำการคาดการณ์การใช้เม็ดเงินสำหรับปี 2022
อ่านเพิ่มเติม