“dtac beyond” ถือเป็นกลยุทธ์รับปี 2022 ที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง ดีแทคที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยต่อจากนี้ ไม่เพียงผู้ใช้งานทุกค่ายทุกเครือข่าย จะสามารถใช้บริการ และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ดี ๆ บน dtac app ได้เช่นเดียวกับลูกค้าปัจจุบันของทางค่ายแล้ว แต่จะมีการพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มที่ยังมี Pain Point จากการใช้บริการดิจิทัลในทุกวันนี้ด้วย
“ใช้ได้ทุกค่าย” การพลิกกลยุทธ์ “สิทธิประโยชน์” ระดับ 360 องศา
เป็นที่ทราบกันดีว่า แนวคิดเรื่องการคัดสรรสิทธิประโยชน์เจ๋ง ๆ มามอบให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการมือถือของแต่ละค่ายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คุ้นเคยมานาน แต่ในวันที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้คนจำนวนมากต้องปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ตนเองสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจได้นั้น ดีแทคพบว่า การให้สิทธิประโยชน์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็น The Must หรือสิ่งจำเป็นในชีวิตไปแล้ว และภายใต้ความจำเป็นนั้น ดีแทคก็พบด้วยว่า ยังมีผู้บริโภคอีกมากที่พบกับ Pain Point จากโลกดิจิทัลด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2021 ที่ผ่านมา ทางแบรนด์จึงมีการทรานสฟอร์มบริการขององค์กรไปสู่ “ดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้กลยุทธ์ Fast Forward Digital และพบว่า ทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานของทางค่ายเพิ่มขึ้น 7 แสนรายอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านคน (ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2021)
สิ่งนั้นได้ถูกต่อยอดจนนำไปสู่กลยุทธ์ของปี 2022 ในชื่อ dtac beyond ที่ คุณฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด ดีแทค ได้เผยเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
dtac Beyond เป็นมากกว่า “ผู้ให้บริการโทรคมนาคม”
“เราพบว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตของการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน การใช้จ่ายด้วยเงินสกุลดิจิทัลก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการมาถึงของเทคโนโลยี Metaverse ฯลฯ ที่นำไปสู่ความคาดหวังใหม่ ๆ ของผู้บริโภคที่มากกว่าเดิม” คุณฮาว ริเร็นกล่าวพร้อมบอกต่อไปด้วยว่า คนไทยมีการใช้ Data เพิ่มขึ้น โดยตอนนี้ คนไทยใช้งาน Data เฉลี่ย 27GB ต่อเดือน หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 20% ต่อปี ซึ่งการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าโลกดิจิทัลได้เข้าถึงวิถีชีวิตของคนไทยในระดับพื้นฐาน (Foundation) แล้วนั่นเอง
“จากนี้ไปเทคโนโลยีดิจิทัลจึงไม่ใช่ออปชันอีกแล้ว แต่เป็น The Must หรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน ดีแทคมองเห็นในจุดนี้ และต้องการเข้ามาช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคนั้นง่ายขึ้น”
กลยุทธ์ของดีแทคคือสิ่งที่คุณฮาว ริเร็นเรียกว่า “Accelerate digital” ผ่านเครื่องมือสำคัญอย่าง dtac app ซึ่งเมื่อผนวกกับวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแล้ว ดีแทคเผยว่า “สามารถเพิ่มผู้ใช้งานดิจิทัลกลุ่มพรีเพด (Digital Prepaid Users) ได้ถึง 49% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020)
ไม่เพียงเท่านั้น การใช้ dtac reward coins ที่เกิดขึ้นผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวยังมากถึง 10,000 ล้านคอยน์ด้วย (สถิติในปี 2021) ซึ่งในตัวเลขดังกล่าว พบว่าเป็นการเติบโตถึง 5 เท่าจากกลุ่มพรีเพด ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ใช้งาน dtac app ในปัจจุบัน (Monthly Active Users) ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2022 อยู่ที่ 7.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ประมาณ 6 แสนคน (ปี 2021 มีผู้ใช้งาน 6.7 ล้านคน)
dtac beyond สู่ 3 บริการใหม่ใน dtac app
การส่งต่อกลยุทธ์ dtac beyond มาสู่ dtac app เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยจะพบว่า dtac app เวอร์ชันใหม่นั้นมีบริการใหม่เพิ่มเข้ามาภายใต้ 3 หมวดหลัก ด้วยกัน นั่นคือ dtac Safe , dtac Gaming sim, Pay Via dtac
dtac Safe ปลดล็อกความกังวล “ภัยออนไลน์”
ข้อมูลจาก Thaicert ที่ระบุว่า ในปี 2021 คนไทยเผชิญภัยคุกคามทางไซเบอร์มากถึง 2,250 รายการ โดยผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ เพียงจังหวัดเดียว มีการติดมัลแวร์กว่า 700,000 ไอพี* สะท้อนให้เห็นว่า การใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของคนไทยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้มาพร้อมทักษะในการใช้งานอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้งานเผชิญกับความเสี่ยงได้ตลอดเวลา
dtac Safe จึงเป็นบริการเสริมสำหรับช่วยป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ ให้ ไม่ว่าจะเป็น มัลแวร์, ไวรัส, ฟิชชิ่ง, แรนซัมแวร์ (ransomware), Botnets (โปรแกรมซึ่งเขียนโดยมิจฉาชีพโดยโจมตีเป็นเครือข่ายด้วยโปรแกรมที่ซับซ้อนและมีรูปแบบที่หลากหลาย) รวมถึงการคุมคามในลักษณะ Command & Control ซึ่งดำเนินการโดยไวรัสที่ออกคำสั่งไปยังอุปกรณ์ที่ติดไวรัสเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยการทำงานของ dtac Safe เป็นการทำงานผ่านระบบคลาวด์ (Cloud-based security) ภายใต้มาตรฐานยุโรป จึงมีความปลอดภัยสูงกว่า
ทั้งนี้ ลูกค้าดีแทคที่ใช้บริการ dtac Safe จะได้รับการแจ้งเตือนและป้องกันการเข้าใช้งานเว็บไซต์ทันที หากตรวจพบการเข้าถึงเว็บไซต์หรือลิงค์ที่คาดว่ามีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามฐานข้อมูลในระบบ พร้อมการอัพเดทระบบอัตโนมัติ (ปัจจุบัน ลูกค้าดีแทค สามารถสมัครใช้บริการ dtac Safe ได้ผ่าน dtac app โดยสามารถทดลองใช้ฟรี 2 เดือนแรก เดือนถัดไปจ่ายเพียงเดือนละ 29 บาท)
dtac Gaming Sim – Gaming Nation สองโปรดักท์จับตลาดพันล้าน
ส่วนการเจาะตลาดเกมอาจเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะคุณฮาว ริเร็น เผยว่า เกมเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายสูงมากกว่า 1,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และมีคนไทยเล่นมากกว่า 32 ล้านคน ซึ่งกลุ่มผู้เล่นก็หลากหลาย ตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้สูงอายุเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเปิดตัว dtac Gaming Sim ซิมเติมเงินสำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วพิเศษสำหรับการเล่นเกมด้วย โดย dtac Gaming Sim จะมีการจัดเลนพิเศษ (ใช้เทคโนโลยี Hyperlane) ที่จัดลำดับการใช้งานเครือข่าย ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเป็นลำดับสูงสุด ทำให้สามารถเล่นเกมได้แม้อยู่ในพื้นที่แออัด ไม่เกิดการ Lack เวลาเล่น
ที่สำคัญ dtac Gaming Sim ยังมาพร้อมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น โบนัสเงินคืน 50% ในการชำระค่าบริการเติมเกม ซื้อแอป หรือซื้อสติ๊กเกอร์ผ่านเบอร์ดีแทค และโค้ดส่วนลดสำหรับการเติบเกมบน Gaming Nation ในทุก ๆ เดือนอีกด้วย
ส่วนถ้าเป็นเกมเมอร์จากค่ายอื่นก็สามารถเข้ามาสนุกกับเกมส์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม Gaming Nation ได้อย่างไม่จำกัดเช่นกัน โดยแพลตฟอร์ม Gaming Nation ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับบริษัทผู้พัฒนาเกมส์ อาทิ Bytedance, Netmarble, Pearl Abyss ฯลฯ นั่นเอง
Pay Via dtac รวมทุกอย่างในบิลเดียว จ่ายได้ไม่ง้อบัตรเครดิต
ฟีเจอร์สุดท้ายที่เพิ่มเข้ามาในดีแทคแอปสำหรับลูกค้าดีแทค ก็คือ Pay Via dtac ที่บริษัทพบว่า อาจไม่ใช่ทุกคนที่สะดวกใช้บัตรเดบิท – เครดิตในการชำระสินค้า – บริการออนไลน์เสมอไป โดยเฉพาะลูกค้าในต่างจังหวัด
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่มีบัตรเดบิท – เครดิตสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์เหล่านั้นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ดีแทคจึงเพิ่มตัวเลือกอย่าง Pay Via dtac เข้ามาให้อีกหนึ่งช่องทาง โดยค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการจะถูกรวมเข้าไปในบิลดีแทคเลย (ใช้การยืนยันด้วยรหัส OTP แบบใช้ครั้งเดียวเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต)
ปัจจุบัน มีแบรนด์ที่เข้าร่วมกับ Pay Via dtac แล้วหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น JOOX, LINE, Viu, WeTV, Spotify, iQiYi, เกม Call of Duty, เกม RoV และเกม Free Fire
ลูกค้าเครือข่ายอื่น ทำอะไรได้บ้างบน dtac app
ส่วนผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าดีแทคก็มีดีลดี ๆ รออยู่เช่นกัน อาทิ การเติมเกมผ่าน Gaming Nation ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และการซื้อประกันผ่าน ดีแทค ดีชัวรันส์ (โดยทั้งสองฟีเจอร์จะมีเมนูปรากฏให้เห็นเด่นชัด หรือไม่ก็เข้าไปที่แท็บชื่อ “บียอนด์” ของแอปก็ได้)
ในส่วนของ ดีแทค ดีชัวรันส์ ต้องบอกว่า ฟีเจอร์ที่ลูกค้าค่ายอื่นมองเห็นนั้น ไม่ต่างจากผู้ใช้งานดีแทคมองเห็นแต่อย่างใด โดยเมื่อคลิกเข้าไปจะมีประกันมากมายหลายหมวดหมู่ให้เลือก เช่น ประกันอุบัติเหตุ, ประกันไวรัสโคโรนา, ประกันโรคร้ายแรง, ประกันสุขภาพ, ประกันภัยรถยนต์, ประกันการเดินทาง, ประกันสัตว์เลี้ยง, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ฯลฯ (มี พ.ร.บ.รถยนต์และรถจักรยานยนต์ขายด้วย)
แน่นอนว่า การจัดหมวดหมู่ของประกันแบบนี้ทำให้ผู้ใช้งานสะดวก และเลือกได้ง่ายกว่า และเมื่อคลิกเข้าไปยังหมวดหมู่ของประกันแต่ละประเภท ผู้ใช้งานยังเลือกแบรนด์ที่ต้องการ และนำไปเปรียบเทียบราคา – สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกับแบรนด์อื่น ๆ ได้ด้วย (สูงสุด 3 แบรนด์)
เหตุที่ดีแทคเปิดให้ผู้ใช้บริการจากทุกค่ายสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณฮาว ริเร็นเผยว่า คนไทยซื้อประกันภัยเพียง 5% ของอัตราส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศฮ่องกง ที่มีอัตราส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP ที่ 20% หรืออังกฤษ – สหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 12%
แอปใหม่รองรับ 4 ภาษา “ใคร ๆ ก็ใช้ได้” ของจริง
สุดท้ายที่การสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่ไม่จำกัดเฉพาะคนไทย โดยใน dtac app เวอร์ชันใหม่นี้ รองรับถึง 4 ภาษา ได้แก่ ไทย, อังกฤษ, พม่า และกัมพูชา ซึ่งแน่นอนว่าบริการนี้จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการ – สิทธิประโยชน์ได้ไม่แตกต่างกัน และทำให้ dtac app โฉมใหม่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ครบ จบในแอปเดียว