ดีแทคจับมือกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้พิการ ภายใต้แนวคิด Go Beyond (Dis) abilities into possibilities together ใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การลดภาระค่าครองชีพด้วยแพ็กเกจค่าโทรค่าอินเทอร์เน็ตที่รองรับการใช้ชีวิตของคนพิการและผู้ดูแล, โครงการเน็ตทำกินติดอาวุธดิจิทัลเพื่อกลุ่มอาชีพคนพิการ และเปิดดีแทค คอลเซ็นเตอร์ภาษามือ เพื่อบริการคนพิการทางการได้ยินและการพูด
ที่มาของโครงการดังกล่าวมาจากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ระบุว่า ปัจจุบัน มีคนพิการในประเทศไทยจำนวน 2,107,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565) คิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ แบ่งประเภทความพิการจะเห็นว่า ประเภทความพิการที่มากที่สุด ได้แก่
- ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 1,054,786 คน คิดเป็นร้อยละ 50.17
- ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 393,027 คน ร้อยละ 18.69
- ความพิการทางการมองเห็น จำนวน 187,546 คน ร้อยละ 8.92
นอกจากนี้ เมื่อมาดูตามช่วงอายุ จะพบว่า มีคนพิการที่อยู่ในช่วงวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) จำนวน 855,816 คน และเป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 1.16 ล้านคนอีกด้วย
ดิจิทัลกับคนพิการ
ประกอบกับปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล อินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ซึ่งโอกาสนี้คนพิการก็ควรได้รับเช่นกัน เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสร้างอาชีพ มีรายได้ และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนอย่างคนปกติ รวมทั้งจะส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างยั่งยืนและทำให้ผู้พิการดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าต่อไป
คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคตระหนักในภารกิจที่ต้องส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงโอกาสผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่อ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่ยึดถือว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและการใช้ประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ และเป็นการส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ดีแทคเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เราสามารถสร้างธุรกิจที่เติบโต ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนได้ผ่านความถนัดของเรา นั่นคือ การเชื่อมต่อ บริการดิจิทัลที่เป็นมิตรและเป็นธรรม และการติดอาวุธทักษะดิจิทัลที่ใช้ในการดำรงชีวิตและเพื่อปากท้อง”
รายงานของสหประชาชาติ เรื่อง Leveraging digital technologies for social inclusion 2021 ระบุว่า คนพิการเป็น 1 ใน 5 กลุ่มคนที่มีจำนวนมากของโลก และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล กอปรกับข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า ในจำนวนคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทางราชการไว้รวมทั้งสิ้น 2,107,005 คนนั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 3.18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ ประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นคนในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป และจำนวนมากถึง 81.45% ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มคนพิการอีกด้วย
การทำงานของดีแทคเกี่ยวกับคนพิการจึงเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ภายใต้แนวคิด Go Beyond (Dis) abilities into possibilities together เพื่อส่งเสริมศักยภาพคนพิการและผู้ดูแลผ่าน 3 โครงการ คือ
1. จัดทำแพ็กเกจดีทั่ว ดีถึง เพื่อผู้พิการและผู้ดูแล
เพื่อช่วยให้ผู้พิการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างต่อเนื่อง เพราะคนพิการทางการได้ยินต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็วและเสถียรในการใช้พูดคุยผ่านวิดีโอคอล แชทผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดียต่างๆ ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ซึ่งแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตนี้จะตอบสนองความต้องการและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก เช่น แพ็กเน็ต 4GB เต็มสปีด หลังจากนั้นสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ต่อเนื่องที่ความเร็ว 1 Mbps ในราคาเริ่มต้นเพียงเดือนละ 99 บาท หรือใช้อินเทอร์เน็ตไม่อั้นความเร็ว 4 Mbps ในราคาเพียง 249 บาท และอีกหลายแพ็กเกจให้เลือกใช้เน็ตในราคาที่คุ้มค่า พร้อมกันนี้ยังมอบข้อเสนอความคุ้มครองจากประกันภัยทุกประเภทจาก ดีแทค ดีชัวรันส์ ด้วยส่วนลดถึง 15%
2. โครงการเน็ตทำกิน เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัลให้ผู้พิการ
ดีแทคเล็งเห็นว่า ยังมีช่องว่างของผู้พิการที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลและยังขาดทักษะในการนำดิจิทัลมาช่วยประกอบอาชีพ ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ดังนั้นดีแทคจึงร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการเรียนการสอน เน็ตทำกิน ในลักษณะการอบรมเฉพาะกลุ่ม ในรูปแบบของการลงพื้นที่ในชุมชนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนพิการ ตั้งแต่ กลุ่มผู้พิการทางสายตา กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการด้านร่างกายอื่น ๆ โดยจะเริ่มอบรม 21 กลุ่มอาชีพในศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ที่ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดูแล เช่น กลุ่มอาชีพสมาคมคนพิการ จังหวัดสมุทรสาคร หัตถกรรมหัวโขนบ้านลัมโภทรกลุ่มเบญจรงค์ สมาคมสตรีพิการพระนครศรีอยุธยาทำไข่เข็มใบเตย ชมรมอุตรดิตถ์จิตแจ่มใส ทำผ้าไหม ผ้าทอผ้าซิ่น ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน ทำกระเป๋าสาน ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดพัทลุง ทำข้าวซ้อมมือสังข์หยดพัทลุง สมาคมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไทย ทำจักรสาน เป็นต้น
นอกจากกลุ่มอาชีพดังกล่าว ดีแทคเน็ตทำกินจะจัดอบรมเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ดีแทคคาดหวังว่า ผู้รับการฝึกทักษะดิจิทัลจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 15% และมีคุณภาพชีวิตและความสามารถในการเข้าถึงโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น
3. เปิดดีแทค คอลเซ็นเตอร์ภาษามือ เพื่อคนพิการทางการได้ยิน
วันนี้ ดีแทคเปิดคอลล์เซ็นเตอร์ที่ให้บริการโดยคนพิการทางการได้ยิน เพื่อคนพิการทางการได้ยิน ผ่านการใช้ภาษามือ โดยบริการดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำการใช้งานบริการของดีแทคเอง รวมไปถึง การเปิดรับลูกค้าคนพิการทางการได้ยินจากทุกเครือข่าย ที่ต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือในการใช้งานแอปพลิเคชั่นและฟังก์ชั่นการใช้งานมือถือ
คอลเซ็นเตอร์เพื่อคนพิการทางการได้ยินนี้เป็นความร่วมมือระหว่างดีแทคและสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ที่จะฝึกอบรบคนพิการทางการได้ยินให้มีความพร้อมทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของดีแทค และมีการติดตั้งระบบการจัดการคอลเซ็นเตอร์เต็มรูปแบบ โดยผู้ต้องการใช้บริการสามารถเพิ่มเพื่อนทางไลน์ดีแทค คอลเซ็นเตอร์ ด้วยฟังก์ชั่นวิดีโอ คอลล์ เพิ่มเป็นเพื่อนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 ให้บริการในวันจันทร์ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 17.00 น.
คอลเซ็นเตอร์นี้ยังให้บริการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้พิการที่ใช้มือถือกับทุกโอเปอเรเตอร์ เช่น เบอร์โทรฉุกเฉิน ข้อมูลสายด่วนบริการต่างๆ ในอนาคตดีแทคจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุม เพื่อช่วยเติมเต็ม ให้ผู้พิการได้ใช้ดิจิทัลมาช่วยให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น
คุณวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มีความยินดี ที่ดีแทคให้ความสำคัญกับนโยบายในการส่งเสริมศักยภาพคนพิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล ในการค้าขายออนไลน์ รวมถึงการจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือในการประกาศรับสมัคร คัดเลือกพนักงานคนพิการทางการได้ยินซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ดีแทคกำหนด อำนวยความสะดวกสถานที่ของสมาคมฯ ล่ามภาษามือสำหรับการอบรมพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ทำให้คนพิการทางการได้ยินได้ทำงานที่มีคุณค่า เปิดโอกาสและสนับสนุนคนพิการทางการได้ยิน ให้เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือองค์กร และ สังคม โดยคอลเซ็นเตอร์แห่งนี้ได้จัดตั้งสำนักงานอยู่ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศ ที่พร้อมเปิดให้บริการกับลูกค้าดีแทคได้แล้ว”